พนักงาน ขสมก. ติดเชื้อโควิดอีก 2 ราย เปิดไทม์ไลน์ติดจากคนใกล้ชิด

ขสมก.เปิดไทม์ไลน์ 2 พนักงานติดเชื้อโควิดรอบใหม่ พบติดจากผู้ใกล้ชิด-ญาติ เผยเคสกระเป๋ารถเมล์สาย 4 สั่งงดวิ่งรถและทำความสะอาด 7 คัน ส่วนคนขับรถส่งตรวจคัดกรองโรคแล้ว

เมื่อวันที่ 5 พ.ค. 2564 องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) ประกาศแจ้งว่า ได้พบพนักงานติดเชื้อไวรัสโควิด-19 อีก 2 ราย ประกอบด้วย เจ้าหน้าที่การเงินและบัญชี งานบัญชีและงบประมาณ กลุ่มงานบัญชีและการเงิน
เขตการเดินรถที่ 6 เพศหญิง อายุ 47 ปี และพนักงานเก็บค่าโดยสารรถปรับอากาศ สาย 4 เพศหญิง อายุ 43 ปี (ปฏิบัติหน้าที่เก็บค่าโดยสารช่วงกะบ่าย) โดยทั้ง 2 รายมีรายละเอียด ดังนี้

รายแรกพนักงานบัญชีอู่บรมราชชนนี

รายแรก เจ้าหน้าที่การเงินและบัญชี งานบัญชีและงบประมาณ กลุ่มงานบัญชีและการเงิน เขตการเดินรถที่ 6 เพศหญิง อายุ 47 ปี เข้ารับการตรวจคัดกรองเมื่อวันที่ 4 พ.ค. 2564 ที่ศูนย์การแพทย์กาญจนาภิเษก คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล และภายหลังพบว่าติดเชื้อไวรัสโควิด-19 จึงเข้ารับการรักษาตัว โดยมีไทม์ไลน์ของพนักงานสรุปได้ ดังนี้

ชี้ติดจากเพื่อนร่วมงาน

วันที่ 21 – 22 เม.ย. 2564

เวลา 07.30 น. เดินทางไปทำงาน ณ อู่บรมราชชนนี

16.30 น. เดินทางกลับที่พัก

โดยพนักงานทำงานอยู่ในห้องทำงานเดียวกับ หัวหน้ากลุ่มงานบัญชีและการเงิน เขตการเดินรถที่ 6 เพศหญิง อายุ 60 ปี ซึ่งเป็นผู้ติดเชื้อ ตามที่องค์การได้ออกประกาศ เมื่อวันที่ 29 เม.ย. 2564

วันที่ 23 เม.ย. 2564 พนักงานทำงานอยู่ที่บ้าน (Work From Home)

วันที่ 24 – 25 เม.ย. 2564 วันหยุดประจำสัปดาห์ พนักงานพักอาศัยอยู่ที่บ้าน

วันที่ 26 เม.ย. 2564 เวลา 07.30 น. เดินทางไปทำงาน ณ อู่บรมราชชนนี และเดินทางกลับบ้าน ในเวลา 16.30 น.

วันที่ 27 เม.ย. 2564 พนักงานทำงานอยู่ที่บ้าน (Work From Home)

วันที่ 28 เม.ย. 2564

07.30 น. เดินทางไปทำงาน ณ อู่บรมราชชนนี

12.30 น. เดินทางไปที่ศูนย์กีฬาเวชศาสตร์สนามกีฬาไทย – ญี่ปุ่น ดินแดง เพื่อเข้ารับการตรวจหาเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID – 19)

16.30 น. กลับที่พัก

17.00 น. ถึงที่พัก

วันที่ 29 เม.ย. 2564

07.30 น. เดินทางไปทำงาน ณ อู่บรมราชชนนี

12.30 น. เจ้าหน้าที่โรงพยาบาลวิชัยเวช อินเตอร์เนชั่นแนล แจ้งผลการตรวจให้ทราบว่า พนักงานไม่พบเชื้อ

13.30 น. พนักงานได้นำรถยนต์ส่วนกลาง (รถกระบะ) ไปส่งหัวหน้ากลุ่มงานบัญชีและการเงิน เขตการเดินรถที่ 6 เพศหญิง อายุ 60 ปี ซึ่งเป็นผู้ติดเชื้อโดยให้หัวหน้างานผู้ติดเชื้อนั่งอยู่ท้ายกระบะ

15.00 น. กลับถึงอู่บรมราชชนนี

16.30 น. กลับที่พัก

วันที่ 30 เม.ย. 2564

07.30 น. เดินทางไปทำงาน ณ อู่บรมราชชนนี

16.30 น. กลับที่พัก

วันที่ 1 – 2 พ.ค. 2564 วันหยุดประจำสัปดาห์ พนักงานพักอาศัยอยู่ที่บ้าน
โดยพนักงานเริ่มมีอาการไอเล็กน้อย

วันที่ 3 พ.ค. 2564 วันหยุดชดเชยวันแรงงาน พนักงานพักอาศัยอยู่ที่บ้าน

วันที่ 4 พ.ค. 2564

06.30 น. พนักงานเดินทางไปตรวจหาเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID – 19) รอบที่ 2 ณ ศูนย์การแพทย์กาญจนาภิเษก คณะแพทยศาสตร์มหาวิทยาลัยมหิดล

09.30 น.กลับที่พัก

19.00 น. เจ้าหน้าที่ศูนย์ได้แจ้งให้ทราบว่า พนักงานเป็นผู้ติดเชื้อ จึงให้อยู่ที่บ้านเพื่อรอรถพยาบาลมารับไปรักษา

วันที่ 5 พ.ค. 2564

11.00 น. เจ้าหน้าที่นำรถพยาบาลมารับพนักงานไปรักษาตัวที่ศูนย์การแพทย์กาญจนาภิเษก คณะแพทยศาสตร์มหาวิทยาลัยมหิดล

กระเป๋ารถเมล์สาย 4 ติดด้วย

และรายที่ 2 พนักงานเก็บค่าโดยสารรถปรับอากาศ สาย 4 ช่วงท่าเรือคลองเตย – ท่าเรือภาษีเจริญ เพศหญิง อายุ 43 ปี (ปฏิบัติหน้าที่เก็บค่าโดยสารช่วงกะบ่าย) รักษาตัวที่ โรงพยาบาลสนาม โรงแรมบางกอกเซ็นเตอร์ กรุงเทพ มีไทม์ไลน์ดังนี้

วันที่ 22 เม.ย. 2564 ปฏิบัติหน้าที่บนรถโดยสารปรับอากาศ สาย 4 หมายเลข 4 – 4018 ตั้งแต่เวลา 15.10 – 23.35 น. หลังเลิกงานได้กลับที่พักอาศัยทันที

วันที่ 23 เม.ย. 2564 ปฏิบัติหน้าที่บนรถโดยสารปรับอากาศ สาย 4 หมายเลข 4 – 4028 ตั้งแต่เวลา 12.45 – 20.45 น. หลังเลิกงานได้กลับที่พักอาศัยทันที

ติดเชื้อจากพี่สาว

วันที่ 24 เม.ย. 2564

08.00 น. พนักงานและพี่สาวของพนักงาน (พนักงานเก็บค่าโดยสารรถปรับอากาศ สาย 4 เพศหญิง อายุ 45 ปี ซึ่งเป็นผู้ติดเชื้อ) ได้เดินทางไปที่จ.อยุธยา เพื่อทำความสะอาดบ้านที่ได้ปลูกสร้างไว้ และเดินทางกลับบ้าน ในเวลา 21.00 น.

วันที่ 25 เม.ย. 2564 ปฏิบัติหน้าที่บนรถโดยสารปรับอากาศ สาย 4 หมายเลข 4 – 4038 ตั้งแต่เวลา 15.15 – 23.15 น. หลังเลิกงานได้กลับที่พักอาศัยทันที

วันที่ 26 เม.ย. 2564 ปฏิบัติหน้าที่บนรถโดยสารปรับอากาศ สาย 4 หมายเลข 4 – 4073 ตั้งแต่เวลา 14.00 – 19.30 น. หลังเลิกงานได้กลับที่พักอาศัยทันที

วันที่ 27 เม.ย 2564 ปฏิบัติหน้าที่บนรถโดยสารปรับอากาศ สาย 4 หมายเลข 4 – 4046 ตั้งแต่เวลา 13.15 – 21.15 น. หลังเลิกงานได้กลับที่พักอาศัยทันที

วันที่ 28 เม.ย. 2564 ปฏิบัติหน้าที่บนรถโดยสารปรับอากาศ สาย 4 หมายเลข 4 – 4069 ตั้งแต่เวลา 14.30 – 22.30 น. หลังเลิกงานได้กลับที่พักอาศัยทันที

วันที่ 29 เม.ย. 2564 ปฏิบัติหน้าที่บนรถโดยสารปรับอากาศ สาย 4 หมายเลข 4 – 4008 ตั้งแต่เวลา 15.20 – 22.35 น. หลังเลิกงานได้กลับที่พักอาศัยทันที

รอตรวจข้ามคืน

วันที่ 30 เม.ย. 2564 ปฏิบัติหน้าที่บนรถโดยสารปรับอากาศ สาย 4 หมายเลข 4 – 4046 ตั้งแต่เวลา 13.00 – 20.00 น. ต่อมาเวลา 22.00 น. พนักงานและพี่สาวของพนักงานได้เดินทางไปที่โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ เพื่อตรวจหาเชื้อ

วันที่ 1 พ.ค. 2564 เวลา 11.30 น. พนักงานและพี่สาวของพนักงาน เข้ารับการตรวจหาเชื้อ (นั่งรอตรวจตั้งแต่วันที่ 30 เม.ย.2564 เวลา 22.00 น.) และเดินทางกลับบ้าน ในเวลา 12.00 น.

วันที่ 2 พ.ค. 2564 เวลา 09.10 น. เจ้าหน้าที่จากโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ได้แจ้งให้พนักงานเดินทางไปที่โรงพยาบาล เนื่องจากตรวจพบว่าพนักงานมีภาวะหัวใจโตผิดปกติ ต่อมาเวลา 09.40 น. พนักงานได้เดินทางมาถึงโรงพยาบาล โดยแพทย์ได้ให้พนักงานพักอยู่ที่โรงพยาบาล เพื่อรอดูอาการ

วันที่ 3 – 4 พ.ค. 2564 พนักงานพักอยู่ที่โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ เพื่อรอดูอาการ

วันที่ 5 พ.ค. 2564 เวลา 09.50 น. แพทย์ได้แจ้งให้ทราบว่า พนักงานเป็นผู้ติดเชื้อจึงได้ส่งไปรักษาตัวที่ โรงพยาบาลสนาม โรงแรมบางกอกเซ็นเตอร์ กรุงเทพ

เนื่องจากพนักงานผู้ติดเชื้อได้ปฏิบัติหน้าที่ในช่วงกะบ่าย ซึ่งเป็นกะสุดท้ายของแต่ละวัน จึงไม่มีพนักงานขับรถคนใดนำรถไปขับต่อ อีกทั้ง เมื่อพนักงานขับรถโดยสารนำรถกลับเข้าอู่ในแต่ละรอบ จะมีการฉีดพ่นทำความสะอาดภายในรถโดยสารทันทีด้วยผลิตภัณฑ์ฆ่าเชื้อโรคที่มีส่วนผสมของแอลกอฮอล์ 70 %

สั่งพักใช้งานรถ-คนขับ 3 รายสั่งตรวจหาเชื้อแล้ว

นอกจากนี้ ได้สั่งพักการใช้งานรถโดยสารปรับอากาศ สาย 4 จำนวน 7 คัน ที่พนักงานผู้ติดเชื้อได้ปฏิบัติหน้าที่ คือ รถโดยสารปรับอากาศ หมายเลข 4 – 4018, 4 – 4028, 4 – 4038, 4 – 4073, 4 – 4046, 4 – 4069 และ 4 – 4008 เป็นระยะเวลา 3 วัน เพื่อทำการฉีดพ่น ทำความสะอาดฆ่าเชื้อโรคภายในรถ รวมถึง อู่จอดรถและท่าปล่อยรถโดยสาร

ทั้งนี้ มีพนักงานขับรถโดยสาร จำนวน 3 คน ปฏิบัติหน้าที่บนรถโดยสารคันเดียวกับพนักงานผู้ติดเชื้อ หากได้ผลเป็นประการใดจะแจ้งให้ทราบต่อไป