เช็กเลย! โควิดระลอก 3 รัฐเยียวยาอะไรบ้าง

พ่อค้า-เยียวยาโควิด

โควิด “ระลอก 3” ปี 2564 ส่งแรงกระเพื่อมถึงรัฐบาล ออกมาตรการกระตุ้น-เยียวยา เศรษฐกิจไทยอีกครั้ง ทั้งเก่า-ใหม่ รวมกรอบวงเงินกู้สูงถึง 2.45 แสนล้าน

สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ในประเทศ “ระลอก 3” ถือเป็นรอบที่มีจำนวนผู้ติดเชื้อมากกว่าทุกรอบที่ผ่านมา อีกทั้งยังส่งผลกระทบกับประชาชน และผู้ประกอบการในหลายภาคส่วนอีกเช่นเคย

กระทั่งล่าสุด เมื่อวานนี้ (5 พ.ค.) คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจอีกครั้ง ด้วยกรอบวงเงินกู้ถึง 2.45 แสนล้านบาท เพื่อช่วยเหลือเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบ ผ่านของโครงการต่าง ๆ ซึ่งมีทั้งโครงการเก่า-ใหม่ รวมถึงมาตรการอื่น ๆ

“ประชาชาติธุรกิจ” รวบรวมโครงการ-มาตรการล่าสุดของรัฐบาลเพื่อช่วยเหลือในระยะเร่งด่วนและระยะต่อไป รวม 9 มาตรการ ดังต่อไปนี้

เราชนะ

เพิ่มวงเงินให้กับประชาชนผู้มีสิทธิ์ อีกคนละ 2,000 บาท โดยจะจ่ายให้สัปดาห์ละ 1,000 บาท และสามารถใช้จ่ายได้ถึงวันที่ 30 มิถุนายน 2564

ม.33 เรารักกัน

เพิ่มวงเงินให้ผู้ประกันตน ตามมาตรา 33 ในระบบประกันสังคม อีกคนละ 2,000 บาท โดยจะจ่ายให้สัปดาห์ละ 1,000 บาท และสามารถใช้จ่ายได้ถึง วันที่ 30 มิถุนายน 2564

คนละครึ่ง เฟส 3

เพิ่มวงเงินให้ผู้มีสิทธิ์คนละไม่เกิน 3,000 บาท ใช้จ่ายวันละไม่เกิน 150 บาทเช่นเคยกับข้อกำหนดในเฟส 1-2 โดยจะเริ่มจ่ายเงินให้ในเดือนกรกฎาคม เป็นต้นไป

บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ระยะที่ 3

เพิ่มกำลังซื้อให้กับประชาชนผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ กลุ่มเป้าหมายทั้งสิ้น 13.65 ล้านคน โดยจะสนับสนุนค่าครองชีพเดือนละ 200 บาท เป็นระยะเวลา 6 เดือน เริ่มตั้งแต่เดือนกรกฎาคม-ธันวาคม 2564

โครงการเพิ่มกำลังซื้อให้แก่ผู้ที่ต้องการความช่วยเหลือเป็นพิเศษ

โครงการนี้ มีกลุ่มเป้าหมายจำนวน 2.5 ล้านคน โดยรัฐจะสนับสนุนค่าครองชีพให้เดือนละ 200 บาท ต่อคน เป็นระยะเวลา 6 เดือน เริ่มตั้งแต่เดือนกรกฎาคม-ธันวาคม 2564

ยิ่งใช้ ยิ่งได้

รัฐจะสนับสนุน e-Voucher ให้กับประชาชนที่ใช้จ่าย ซื้อสินค้า อาหาร เครื่องดื่ม และค่าบริการกับผู้ประกอบการที่จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม ไม่เกิน 5,000 บาทต่อวัน สูงสุดไม่เกิน 7,000 บาทต่อคน โดยประชาชนจะได้รับ e-Voucher ดังกล่าว เริ่มตั้งแต่ช่วงเดือนกรกฎาคม-กันยายน 2564 และสามารถเริ่มนำไปใช้ช่วงเดือนสิงหาคม-ธันวาคม 2564

มาตรการอื่น ๆ

นอกจากนี้ ยังมี 3 มาตรการ ที่ ครม. มีมติให้ดำเนินการทันที ได้แก่

1.มาตรการบรรเทาภาระค่าใช้จ่ายด้านสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐาน

  • ลดค่าไฟฟ้า
  • ลดค่าน้ำประปา

ทั้ง 2 รายการข้างต้น จะดำเนินการเป็นระยะเวลา 2 เดือน ตั้งแต่เดือนพฤษภคม-มิถุนายน 2564 ด้วยกรอบวงเงิน 10,000 บาท

2.มาตรการสินเชื่อสู้ภัยโควิด-19

เป็นมาตรการช่วยเหลือผู้มีรายได้ประจำ เช่น พนักงาน/ลูกจ้าง หน่วยงานเอกชน ผู้ประกอบอาชีพอิสระ เกษตรกรรายย่อยหรือลูกจ้างภาคการเกษตร ที่มีความจำเป็นต้องใช้จ่ายเงินฉุกเฉิน ผ่านธนาคารออมสินและธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) วงเงินสินเชื่อ 20,000 ล้านบาท

3.มาตรการพักหนี้ของสถาบันการเงินเฉพาะกิจ (SFls)

เป็นการขยายระยะเวลาพักชำระหนี้ให้แก่ลูกค้ารายย่อยออกไปจนถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2564