กทม. รับลูก ศบค. ปูพรม 50 เขตผุดศูนย์คุมโควิด จี้สแกนผู้ป่วยตกค้างส่งรักษาตัว

กทม.รับลูก ศบค. ผุดศูนย์ควบคุมการแพร่ระบาดโรคโควิด-19 ลงลึก 50 เขต ทำงาน 5 ด้าน “อำนวยการ-ตรวจเชิงรุก-จัดการผู้ติดเขื้อ/กลุ่มเสี่ยง-บริหารพื้นที่-วัคซีน” ก่อนจี้สแกนผู้ป่วยตกค้าง เร่งส่งตัวรักษาต่อ

วันที่ 6 พ.ค. 2564 นางศิลปสวย ระวีแสงสูรย์ ปลัดกทม. เปิดเผยว่า การประชุมจัดตั้งศูนย์ควบคุมการแพร่ระบาดโรคโควิด-19 ในพื้นที่กทม.หารือกันถึงกรณีที่ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ( ศบค.) สั่งให้กทม. เป็นศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 ระดับเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล

ตั้งศูนย์คุมโควิด 50 เขตคู่ขนาน

เพื่อแก้ไขสถานการณ์อย่างเหมาะสม มีประสิทธิภาพ สอดคล้องกับสภาพการที่เปลี่ยนแปลง และคลี่คลายโดยเร็ว จึงได้มอบหมายสำนักงานเขต 50 เขต เร่งจัดตั้งศูนย์ควบคุมการแพร่ระบาดโรคโควิด-19 โดยแบ่งการดำเนินการเป็น 5 ฝ่าย ประกอบด้วย

1.ฝ่ายอำนวยการ มอบหมายผู้อำนวยการเขตเป็นผู้รับผิดชอบ ดำเนินการติดตามสถานการณ์ กำหนดแนวทางการดำเนินงาน จัดทำมาตรการป้องกันและควบคุมโรค สื่อสารประชาสัมพันธ์ กำกับติดตามการดำเนินงาน และมาตรการฯ ประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

2.ฝ่ายปฏิบัติการตรวจเชิงรุก มอบหมายผู้อำนวยการศูนย์บริการสาธารณสุขในพื้นที่เป็นผู้รับผิดชอบ ดำเนินการวิเคราะห์สถานการณ์ จัดทำมาตรการการเฝ้าระวัง ค้นหาเชิงรุกสอบสวนโรค และจัดทำมาตรการควบคุมโรคทั้งในกลุ่มเสี่ยง และผู้สัมผัส

3.ฝ่ายบริหารจัดการผู้ติดเชื้อและกลุ่มเสี่ยง มอบหมายผู้ช่วยผู้อำนวยการเขตเป็นผู้รับผิดชอบ ดำเนินการจัดทำแผนการรักษาพยาบาลรองรับผู้ป่วยทุกระดับ ทั้งเตียง บุคลากร ทรัพยากรในการรักษา จัดระบบการส่งต่อจากหน่วยบริการทุกระดับไปยังสถานพยาบาล และรพ.สนามให้มีเอกภาพ

4.ฝ่ายบริหารจัดการพื้นที่ มอบหมายผู้ช่วยผู้อำนวยการเขตเป็นผู้รับผิดชอบ ดำเนินการจัดทำแนวทางการจัดการในชุมชนให้เป็นไปตามมาตรการควบคุมป้องกันโรค ควบคุมกำกับการเคลื่อนย้าย และการกักกันที่บ้าน(Home Quarantine) จัดสิ่งสนับสนุน เช่น อาหาร ของใช้จำเป็น เฝ้าระวังการเจ็บป่วยในชุมชน ประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนเข้าใจในมาตรการต่าง ๆ ของรัฐ โดยทำงานประสานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

5.ฝ่ายบริหารจัดการการฉีดวัคซีน มอบหมายผู้อำนวยการศูนย์บริการสาธารณสุขในพื้นที่เป็นผู้รับผิดชอบ ดำเนินการจัดทำแผน และจัดหาวัสดุทางการแพทย์ และวัคซีนให้เพียงพอ จัดระบบการสนับสนุนวัสดุทางการแพทย์ บริหารจัดการ เตรียมการฉีดวัคซีน ให้ทันเวลา

สำรวจผู้ป่วยตกค้าง ส่งต่อรักษา

นอกจากนี้ มอบหมายทุกสำนักงานเขตเร่งสำรวจผู้ป่วยตกค้างในพื้นที่ ทั้งในส่วนที่ทำการตรวจคัดกรองหาเชื้อ (SWAB) จากที่อื่น หรือไม่อยู่ในรายชื่อผู้ป่วยของทีมแพทย์กทม. ให้เพื่อให้การข่วยเหลือเข้ารับระบบการรักษาไม่ให้มีผู้ป่วยตกค้างในพื้นที่กรุงเทพมหานคร