ปิยะสกล เผยเงินบริจาคมีกองทุนแยกจากงบปกติ ห่วงสุขภาพ “ตูน บอดี้สแลม” ส่งทีมแพทย์เพิ่ม

ปิยะสกล ลั่นงบสุขภาพไม่มีทางพอทั่วโลก เผยเงินบริจาคแยกส่วนจากงบประจำผ่านกองทุนที่ประชาชนมีส่วนร่วม พร้อมเสนอ ครม.เร็วๆ นี้ขอลดหย่อนภาษี 2 เท่าให้ผู้บริจาค คาดเป็นของขวัญปีใหม่ ย้ำเป็นห่วงสุขภาพ ตูน บอดี้สแลม จ่อประสานทีมแพทย์ส่วนตัวเข้าดูแลอาการเหตุพักวิ่งน้อยเกินไป

เมื่อวันที่ 6 พฤศจิกายน ที่โรงแรมเซ็นทราศูนย์ราชการและคอนเวนชั่นเซ็นเตอร์ นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ให้สัมภาษณ์เรื่องสภาพคล่องทางการเงินของโรงพยาบาลในสังกัด สธ.ว่า โรงพยาบาลสังกัด สธ.มีประมาณ 10,000 แห่ง เป็นโรงพยาบาลศูนย์โรงพยาบาลทั่วไป (รพศ. รพท.) 100 กว่าแห่ง โรงพยาบาลชุมชน (รพช.) 800 กว่าแห่ง และโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) 9,000 กว่าแห่ง รวมแล้วกว่าหมื่นแห่งที่ดูแลสุขภาพประชาชนทั้งประเทศประมาณ 70% ของทั้งหมด ซึ่งในจำนวนนี้ย่อมจะมีบ้างที่ประสบปัญหาสภาพคล่องทางการเงิน โดยในส่วนที่ประสบปัญหาวิกฤตการเงินระดับ 7 ซึ่งเป็นระดับสูงสุดในปีงบประมาณ 2559 มีจำนวน 119 แห่ง สิ้นปีงบประมาณ 2560 เหลือ 87 แห่ง ลดลง 32 แห่ง คิดเป็นร้อยละ 4 ถือว่าการบริหารจัดการเป็นที่น่าพอใจ เป็นผลจากการที่รัฐบาลได้จัดสรรงบกลางให้เฉพาะ 5,000 ล้านบาท รวมถึงสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) มีการปรับเปลี่ยนการจัดสรรงบเหมาจ่ายรายหัว และการให้ความรู้ในการเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการแก่ผู้บริหาร รพ.

นพ.ปิยะสกลกล่าวว่า แนวทางในการแก้ปัญหาวิกฤตทางการเงินของ รพ.ที่ผ่านมาได้มีการปรับระบบการจัดสรรงบเหมาจ่ายรายหัวของบัตรทองให้เกิดความสมดุล ตามแต่ละพื้นที่ของ รพ. ซึ่งที่ผ่านมา รพ.ที่รับผิดชอบประชากรน้อย เงินเหมาจ่ายที่ได้รับก็น้อยตั้งแต่เริ่มต้น ส่วน รพ.ที่มีประชากรหนาแน่น เงินก็ได้รับเป็นจำนวนมากตั้งแต่ต้น จึงมีการปรับให้มีการจัดสรรตามต้นทุนจริง รวมถึงการปรับบริหารจัดการภายใน รพ. โดยผู้บริหารและทีมงาน ด้วยการลดรายจ่าย เพิ่มรายได้ เช่น การรับบริจาคเข้า รพ. และการเปิดคลินิกพิเศษนอกเวลาใน รพ.ขนาดใหญ่ที่มีความแออัด อาทิ รพ.วชิระภูเก็ต รพ.ป่าตอง ภูเก็ต รพ.ชลบุรี รพ.ระยอง รพ.หนองคาย รพ.ขอนแก่น รพ.หาดใหญ่ รพ.นครพิงค์ จ.เชียงใหม่ และ รพ.ศรีสะเกษ และในปี 2561 คือ รพ.มหาราชนครราชสีมา

ผู้สื่อข่าวถามว่า รพ.มีการแยกส่วนระหว่างเงินได้จากงบประมาณของรัฐและเงินบริจาคอย่างไร นพ.ปิยะสกลกล่าวว่า งบประมาณของรัฐไม่พอในการบริหารจัดการดูแลสุขภาพประชาชนทุกคน แม้รัฐบาลชุดนี้จะเพิ่มงบมากขึ้นก็ตาม อย่างไรก็ตาม การบริจาคเข้า รพ.มีการดำเนินการมานานแล้ว ดังนั้น งบบริจาคจึงแยกส่วนจากงบสุขภาพที่ได้รับเป็นประจำ โดยแยกส่วนระหว่างเงินงบจากรัฐ ซึ่งไม่ค่อยเพียงพอ ขณะที่ รพ.จะมีเงินที่เรียกว่าเงินบำรุง รพ. ซึ่งเป็นรายได้ของ รพ.เอง เงินบริจาคก็จัดเป็นส่วนหนึ่งของเงินในส่วนนี้ที่ รพ.จะสามารถนำมาบริหารจัดการของตนเองได้ ทั้งนี้ สธ.มีการหารือกับกรมบัญชีกลาง กระทรวงการคลัง ในหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการจัดตั้งกองทุนเงินบริจาค ซึ่งจะมีคณะกรรมการดูแลรับผิดชอบ มี ผอ.รพ.เป็นประธาน และมีภาคประชาสังคมเข้ามาร่วมดูแล เพื่อให้เกิดความโปร่งใสตรวจสอบได้ อีกทั้งยังเตรียมเสนอต่อกระทรวงการคลังขอให้ผู้บริจาคเงินเข้า รพ.สามารถลดหย่อนภาษีได้ 2 เท่า โดยขณะนี้กำลังเตรียมเรื่องเข้าคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีความตั้งใจว่าจะดำเนินการพร้อมใช้ได้ก่อนปีใหม่ เพื่อเป็นของขวัญปีใหม่ให้กับผู้บริจาคทุกคน

เมื่อถามว่ากังวลหรือไม่ที่มีคนเชื่อมโยงงบประมาณสาธารณสุขไม่เพียงพอ จนทำให้คุณตูน บอดี้สแลม ต้องออกมาวิ่งเชิญชวนประชาชนร่วมบริจาคช่วยเหลือ รพ. นพ.ปิยะสกลกล่าวว่า ต้องยอมรับว่างบสุขภาพของไทยไม่เพียงพอ ซึ่งคนที่ออกมาตั้งคำถามว่าทำไมคุณตูน บอดี้สแลม ต้องออกมาวิ่ง อยากให้คนเหล่านี้มาช่วยกัน เพราะรัฐบาลมีงบสนับสนุนไม่เพียงพอจริงๆ และการบริจาคให้ รพ.ก็มีการดำเนินการมานานแล้ว ซึ่งคุณตูนเป็นคนหนึ่งที่รู้และเห็นปัญหาที่สำคัญมาช่วยเหลือในการแก้ปัญหาด้วย เพราะเข้าใจดีว่าเป็นการช่วยเหลือประชาชนคนไทยด้วยกัน ก็อยากให้คนไทยเห็นคุณตูนเป็นแบบอย่างที่จะช่วยแก้ปัญหา และทางกระทรวงก็ตระหนักและเข้าใจ พร้อมทั้งขอบคุณคุณตูน อย่างไรก็ตาม ขอย้ำว่าเงินส่วนบริจาคจะเข้าสู่เงินบำรุง ซึ่งเป็นรายได้ รพ.และเข้ากองทุนที่มีคณะกรรมการจากภาคประชาชนเข้าร่วม

ผู้สื่อข่าวถามว่าขณะนี้สุขภาพคุณตูน บอดี้สแลม ไม่สู้ดี เนื่องจากการวิ่งจะมีการส่งทีมร่วมกับทีมแพทย์คุณตูนหรือไม่ นพ.ปิยะสกลกล่าวว่า สธ.ได้ส่งทีมแพทย์เข้าไปร่วมกับทีมแพทย์ของคุณตูนอยู่แล้ว อย่างไรก็ตาม ตนมีความเป็นห่วงคุณตูน เนื่องจากมีการวิ่งมาราธอนจาก อ.เบตง จ.ยะลา ถึง อ.แม่สาย จ.เชียงราย เพื่อรับบริจาคเงินให้กับ รพ. 11 แห่ง ซึ่งระยะทางไกลกว่าพันกิโลเมตร จึงได้มอบหมายให้ นพ.เจษฎา โชคดำรงสุข ปลัด สธ. ประสานงานเพื่อขอข้อมูลทางวิชาการเกี่ยวกับการวิ่งมาราธอนทุกวัน วันละ 40-50 กิโลเมตร จะส่งผลอย่างไร เพื่อให้ทราบข้อมูลและนำมาช่วยเหลือในการดูแลสุขภาพของคุณตูน เพราะไม่อยากให้สิ่งไม่ดีเกิดขึ้นกับคนที่ดีๆ จำเป็นต้องหาข้อมูลวิชาการมาสนับสนุนเพื่อให้ทำอย่างพอดี

นพ.เจษฎากล่าวว่า จากการหารือกับสำนักออกกำลังกาย กรมอนามัย ระบุว่า โดยหลักการการออกกำลังกายขนาดหนักจะมีการบาดเจ็บของกล้ามเนื้อ พังพืด และเส้นเอ็น ต้องมีการประเมินเป็นระยะ หากประเมินแล้วพบว่าต้องมีการหยุดพัก ซึ่งการออกกำลังกายหนักควรออก 1 วัน พัก 2 วัน แต่กรณีคุณตูนวิ่ง 5 วัน พัก 1 วัน ดังนั้น สธ.จะประสานขอข้อมูลทางวิชาการไปยังผู้เชี่ยวชาญด้านเวชศาสตร์การกีฬา ราชวิทยาลัยที่เกี่ยวข้อง เพื่อนำมาใช้ประกอบในการประเมินสุขภาพของคุณตูนทุกวัน ทั้งนี้ต้องขออนุญาตในการประเมินสุขภาพจากคุณตูนก่อน รวมถึงหารือกับแพทย์ประจำตัวคุณตูนด้วย เพราะจริงๆ แล้วการตรวจร่างกายจะต้องมีการเจาะเลือด เพื่อประเมินสมรรถภาพกล้ามเนื้อ ความพร้อมต่างๆ แต่ทั้งหมดจะต้องขอหารือกับทางคุณตูนก่อน

 


ที่มา มติชนออนไลน์