ญนน์ โภคทรัพย์ เปิดใจ โควิดสะเทือน 4 แสนล้าน วัคซีนหัวใจฟื้นธุรกิจ

ญนนท์
สัมภาษณ์พิเศษ

ปัจจัยชี้ขาดในการเดินหน้าเศรษฐกิจไทยให้กลับไปสู่แดนบวกหลังโควิดระบาดระลอก 3 คือ การเคลื่อนธุรกิจ-การค้าให้คืนสู่ภาวะปกติอย่างเร็วที่สุด

หอการค้าไทยภายใต้นโยบาย Connect the dots ฟื้นเศรษฐกิจไทยใน 99 วัน ขับเคลื่อนทุกองคาพยพร่วมกับสมาชิกสภาหอการค้าฯ สมาคมธนาคารไทย และสภาอุตสาหกรรมฯ ผนึกกับรัฐบาล เปลี่ยนผ่านพลิกวิกฤตสู่โอกาสใหม่

“ประชาชาติธุรกิจ” สัมภาษณ์พิเศษ “ญนน์ โภคทรัพย์” ในฐานะประธานกลุ่มการค้าและบริการ หอการค้าไทย ภายหลังเข้ารับตำแหน่งเมื่อต้นปีที่ผ่านมา ถึงวิสัยทัศน์บทบาทใหม่ในสถานการณ์โรคระบาด และอีกบทบาทหนึ่งคือ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เซ็นทรัล รีเทล คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ CRC ค้าปลีกรายใหญ่ในเครือเซ็นทรัล ที่กำลังสร้างการเติบโตได้เป็นอย่างดีทั้งในไทยและต่างประเทศ

“ญนน์” ฉายภาพผลกระทบจากการระบาดของโควิด ระลอก 3 ในประเทศครั้งนี้ว่า “ทำให้เศรษฐกิจถอยหลังไปอีกหลายก้าว หากสามารถควบคุมการแพร่ระบาดได้ภายใน 3 เดือน GDP ของไทยจะเติบโตลดลงจากเดิมคาดไว้ที่ 4% เหลือ 2-2.5% ส่งผลให้เม็ดเงินในระบบเศรษฐกิจหายไป 3-4 แสนล้านบาท และจะมีคนว่างงานเพิ่มขึ้นประมาณ 5 แสนคน ซึ่งอาจต้องใช้เวลา 2-3 ปีที่เศรษฐกิจไทยจะกลับมาเป็นปกติ และจะฟื้นตัวแบบ K-Shaped Recovery”

แต่ในทางกลับกันหากการระบาดระลอกนี้ไม่สามารถควบคุมได้ใน 3 เดือนนับจากนี้ มูลค่าเม็ดเงินในระบบเศรษฐกิจจะเสียหายมากไปกว่านี้ และฉุด GDP ประเทศให้ทรุดตามลงไปด้วย ซึ่งหากคิดเพียงแค่กลุ่มส่วนของการค้า และส่วนของบริการ ที่ประกอบไปด้วยธุรกิจหลัก 4 ส่วน คือ ธุรกิจค้าปลีก ค้าส่ง, ธุรกิจอีคอมเมิร์ซ, ธุรกิจศูนย์การค้า ห้างสรรพสินค้า และธุรกิจร้านอาหาร โรงแรม

ส่วนของการบริการมี 3 ส่วน คือ โลจิสติกส์, เพย์เมนต์, และการบริการต่าง ๆ โดยมีจำนวน SMEs อยู่ถึง 2.4 ล้านราย คิดเป็น 80% ของ SMEs ทั้งประเทศ (ภาคการค้า 43% ภาคบริการ 37%) มีการจ้างงานมากที่สุดกว่า 12 ล้านคน คิดเป็น 70% ของแรงงานทั้งประเทศ ก็มีมูลค่ามากถึง 5.6 ล้านล้านบาท หรือคิดเป็น 34% ของ GDP การบริโภคทั้งประเทศแล้ว

รัฐ-เอกชน รวมพลังฟื้น ศก.

ทั้งนี้ เพื่อเป็นการฟื้นเศรษฐกิจร่วมกันทั้งภาครัฐและเอกชน ภาครัฐจึงจำเป็นต้องมีมาตรการใน 4 ส่วนหลัก ได้แก่ ต้องควบคุมสถานการณ์การแพร่ระบาดให้ลดลงและเร็วที่สุด โดยเป็นการทำงานร่วมกันกับทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ เอกชน และประชาชน เมื่อการระบาดลดลงต้องทำให้ประเทศไทยเป็นพื้นที่ปลอดภัย ปลอดโควิด เพราะฉะนั้น การจัดหาวัคซีนโดยภาครัฐกับเอกชนควรทำงานร่วมกันในการนำเข้าวัคซีนให้เพียงพอ และการกระจายวัคซีนให้เร็วที่สุดจึงเป็นคำตอบ ต้องควบคุมไม่ให้เกิดการระบาดขึ้นอีก เศรษฐกิจไทยบอบช้ำมามากแล้วไม่สามารถรองรับการระบาดครั้งที่ 4 ได้อีกต่อไป

นอกจากนี้ ควรจะใช้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเฉพาะกลุ่ม ส่วนภาคเอกชนและคนที่มีกำลังซื้อต้องร่วมกันกระตุ้นการจับจ่ายเพื่อสร้างรายได้ให้กับ SMEs ไทยพร้อมสร้างงานเพื่อให้คนที่ต้องการทำงานมีงานทำ และลดอัตราการว่างงาน พร้อมสนับสนุนให้มีการลงทุนด้านเทคโนโลยี และการพัฒนานวัตกรรม เพื่อสร้างธุรกิจที่สามารถแข่งขันกับต่างประเทศได้

โดยธุรกิจที่เป็นดาวรุ่งที่ยังมีโอกาสทางการเติบโตนับจากนี้ คือ ธุรกิจด้านสุขภาพ, ธุรกิจด้านเทคโนโลยี, กลุ่มธุรกิจค้าปลีกที่เป็นแบบออมนิแชนเนล, ธุรกิจออนไลน์แพลตฟอร์ม และธุรกิจดีลิเวอรี่

ขณะที่ฟากของกลุ่มธุรกิจที่เน้นการพึ่งพาภาคการท่องเที่ยวเป็นหลัก อย่างธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับภาคบริการและการท่องเที่ยว เช่น ธุรกิจสายการบิน และโรงแรม มองว่าเป็นกลุ่มธุรกิจที่ฟื้นตัวได้ช้า เนื่องจากต้องพึ่งพารายได้จากการเดินทางของผู้คน ขณะที่นักท่องเที่ยวต่างชาติยังไม่สามารถกลับมาเที่ยวประเทศไทยได้เหมือนเดิม ซึ่งสัดส่วนรายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติคิดเป็น 10% ของ GDP โดยเฉพาะภูเก็ตจังหวัดเดียว คิดเป็น 9% ของ GDP

ดังนั้น ถ้าหากการฉีดวัคซีนล่าช้า นักท่องเที่ยวจะไม่กลับมา เศรษฐกิจจะฟื้นตัวได้ช้า คาดการณ์จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่จะเดินทางเข้าไทยในปีนี้ เหลือเพียง 1 ล้านคน และอาจต้องใช้เวลา 4-5 ปีกว่านักท่องเที่ยวต่างชาติจะกลับมาที่ระดับก่อนโควิด

โควิด ดิสรัปต์ธุรกิจ

ในฐานะประธานกลุ่มการค้าและบริการ หอการค้าไทย “ญนน์” สะท้อนภาพรวมธุรกิจประเทศไทยภายหลังการระบาดของโควิดผ่านพ้นไปว่า ธุรกิจอาจจะยังไม่กลับมาเหมือนก่อนการแพร่ระบาดของโควิด-19 และพฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยนไป โดยมีเทคโนโลยีเป็นตัวเร่ง (customer disruption) รวมทั้งยังมีคู่แข่งที่นำเสนอสินค้าและบริการที่ดีกว่า และน่าตื่นเต้นกว่า ทำให้องค์กรต้องเร่งปรับตัวเพื่อให้อยู่รอดในทุก ๆ ด้าน ไม่ว่าจะเป็นการปรับตัว มีความยืดหยุ่น และความคล่องตัว เพื่อที่จะรับมือกับความไม่แน่นอนและการเปลี่ยนแปลงได้อย่างรวดเร็ว

ควบคู่กับการนำเทคโนโลยีมาใช้ให้เกิดประโยชน์และมีประสิทธิภาพสูงสุด เพื่อช่วยบริหารต้นทุนให้ต่ำลง และเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน พร้อมทั้งรักษากระแสเงินสดเพื่อให้มีเงินทุนหมุนเวียนในการดำเนินธุรกิจ (cash rules everything) สร้างพันธมิตรและความร่วมมือจะเป็นสิ่งที่ช่วยให้สามารถก้าวผ่านวิกฤตนี้ไปด้วยกันได้ไกลกว่า

“ท้ายที่สุด ไม่ว่ามาตรการจากกลุ่มผู้ประกอบการแต่ละธุรกิจจะออกมาพลิกฟื้นเศรษฐกิจมากน้อยเพียงใด แต่การฟื้นภาพรวมประเทศนับจากนี้คงต้องฝากความหวังไว้ที่การฉีควัคซีนให้แก่ประชาชน ซึ่งสถานการณ์ ณ ปัจจุบันนี้ไม่สามารถบอกได้ว่าการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิดรอบนี้ตัวเลขผู้ติดเชื้อจะพุ่งขึ้นสูงสุดต่อวันเมื่อไร และคลี่คลายได้ช่วงใด หรือจะอยู่กับเราไปอีกนานแค่ไหน”

การระบาดรอบ 3 นี้สร้างปัญหาซ้ำเติมให้กับเศรษฐกิจไทยที่บอบช้ำอยู่แล้ว และต้องใช้เวลายาวนานกว่าที่จะพลิกฟื้น อีกทั้งภาคธุรกิจต่าง ๆ จะฟื้นตัวสะดุดและไม่เท่ากัน “หัวใจสำคัญที่จะเยียวยาวิกฤตครั้งนี้ได้ คือ การจัดหาวัคซีนให้เพียงพอ และการเร่งฉีดวัคซีนให้เร็วที่สุด ให้กับบุคลากรทางการแพทย์ รวมทั้งกลุ่มพนักงานในภาคธุรกิจที่ต้องติดต่อกับคนจำนวนมาก เช่น ธุรกิจท่องเที่ยว สายการบิน ธุรกิจค้าขาย และคนขับรถขนส่งสาธารณะ”

“เราจำเป็นจะต้องหยุดยั้งการแพร่ระบาดระลอก 3 ในครั้งนี้ให้สำเร็จและรวดเร็ว โดยต้องเร่งการฉีดวัคซีนให้กับประชาชนเพื่อสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ให้กับประเทศ พร้อมทั้งสร้างความแข็งแกร่งให้กับ SMEs และกระตุ้นการบริโภคภายในประเทศ”

ถือเป็นช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อที่สำคัญในการชี้ชะตาสุขภาพอนามัยของประชาชน คน และเศรษฐกิจไทยโดยรวมว่าจะกลับฟื้นมาได้อีกครั้งหรือไม่ และจะรวดเร็วเพียงใด