ศบค.สั่ง โรงพยาบาลทั่วประเทศ ปูพรมฉีดวัคซีน 8.6 แสนคนต่อวัน

Jack TAYLOR / AFP

ศบค.สั่งทั่วประเทศ ดีเดย์ 7 มิถุนายน ปูพรมวาระแห่งชาติฉีดวัคซีน ต่างจังหวัด 779,868 คนต่อวัน กรุงเทพฯ 80,000 คนต่อวัน รวมทั่วประเทศฉีดได้ 859,868 คนต่อวัน

วันที่ 21 พฤษภาคม 2564 ที่ประชุมคณะกรรมการบริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. ครั้งที่ 7/2564 ผ่านระบบทางไกล (Video Conference) ที่มีพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม ในฐานะผู้อำนวยการ ศบค. มีมติเห็นชอบขยายระยะเวลาประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในทุกเขตท้องที่ทั่วราชอาณาจักร ออกไป 2 เดือน หรือ ตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน – 31 กรกฎาคม 2564

นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศบค.แถลงตอนหนึ่ง ว่า ที่ประชุมเห็นชอบการขยายระยะเวลาประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในทุกเขตท้องที่ทั่วราชอาณาจักรอีก 2 เดือน เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด -19 ทั้งสถานการณ์ทั่วโลก ในประเทศเพื่อนบ้านและสถานการณ์ภายในประเทศยังมีความน่ากังวล

ซึ่งมาจากแนวโน้มของจำนวนผู้ป่วยหนักที่ต้องใช้ท่อหายใจเพิ่มมากขึ้น การปล่อยข่าวบิดเบือนเพื่อสร้างความกลัวต่อการฉีดวัคซีน และในห้วงวันที่ 24 – 28 กรกฎาคม 2564 เป็นช่วงวันหยุดยาวที่จะเดินทางข้ามจังหวัดของประชาชนจำนวนมากเพื่อกลับภูมิลำเนาหรือท่องเที่ยว

นพ.ทวีศิลป์กล่าวว่า นอกจากนี้ ที่ประชุม ศบค.ยังเห็นชอบ แผนการบริหารวัคซีนโควิด ตามที่ นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุขได้รายงานแผนการให้บริการวัคซีนจากการที่รัฐบาลประกาศเป็นวาระแห่งชาติ ดีเดย์ในวันที่ 7 มิ.ย.64 ผ่าน 3 ช่องทาง ได้แก่ 1.ระบบหมอพร้อม (อายุต่ำกว่า 60 ปี เปิดลงทะเบียน 31 พ.ค.64) 2.ลงทะเบียน ณ จุดบริการ (On-site Registration) และ 3.การกระจายวัคซีนให้กลุ่มเฉพาะ เช่น แพทย์ พยาบาล อสม. เจ้าหน้าที่ด่านหน้า ครู นักธุรกิจ นักศึกษา

สำหรับการเตรียมความพร้อมเรื่องการลงทะเบียนฉีดวัคซีน ระยะที่ 1 หรือ ระยะปัจจุบัน ถึงวันที่ 6 มิ.ย.64 ทยอยฉีดให้กับกลุ่มเป้าหมายที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนด ตามโควตาวัคซีนที่แต่ละหน่วยงาน/องค์กรได้รับ ระยะที่ 2 วันที่ 7 มิ.ย.64 เป็นต้นไป เริ่มการฉีดวัคซีนทั้งระบบเป็นวาระแห่งชาติ ได้แก่ บุคลาการทางการแพทย์และสาธารณสุขด่านหน้า ที่ยังไมได้รับวัคซีน เจ้าหน้าที่อื่นด่านหน้า และกลุ่มอาชีพเสี่ยงติดเชื้อ

รวมทั้งผู้มีอาชีพ/กิจการที่มีความจำเป็นต่อการดำรงชีพของประชาชน เช่น สาธารณูปโภค อาหาร ยา ผู้สูงอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไป และผู้มีโรคประจำตัวเรื้อรัง ตัวแทนนักกีฬาไปแข่งขันต่างประเทศ นักเรียน/นักศึกษาไปศึกษาต่างประเทศ วัยทำงานผู้มีสิทธิประกันสังคม และประชาชนทั่วไป

ขณะที่ระบบบริหารจัดการวัคซีนโควิด 19 กลุ่มเป้าหมาย ได้แก่ บุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขด่านหน้าที่ยังรับวัคซีนไม่ครบ เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับการควบคุมโรคโควิดที่มีโอกาสัมผัสผู้ป่วย ผู้มีอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไป หรือมีโรคประจำตัว ประชาชนที่มีความเสี่ยงต่อการสัมผัสโรค ชาวไทยที่จะไปศึกษา/ทำงานที่ต่างประเทศ คณะทูตานุทูต/องค์กรระหว่างประเทศ ผู้ประกันตนในระบบประกันสังคม ชาวต่างชาติและแรงงานต่างด้าว และประชาชนทั่วไป

สำหรับจุดบริการวัคซีน ในต่างจังหวัด จำนวน 779,868 คนต่อวัน จุดฉีดวัคซีนในโรงพยาบาล 993 แห่ง โรงพยาบาลสนาม 261 แห่ง ลงทะเบียนที่จุดฉีดวัคซีน แบบ On-site Registration 221 แห่ง ส่วนกรุงเทพมหานคร 80,000 คนต่อวัน รวมทั่วประเทศคาดว่าจะฉีดได้ 859,868 คนต่อวัน โดยความร่วมมือกับหอการค้าฉีดวัคซีนใน 25 จุด โรงพยาบาล 126 แห่ง หน่วยบริหารเชิงรุก หน่วยบริการของ อว.และ ปกส. และโรงพยาบาลในสังกัดกระทรวงสาธารณสุขทั่วประเทศ