Thailand Survivor ธุรกิจไทย…ต้องรอด

ธุรกิจไทยต้องรอด
REUTERS/Athit Perawongmetha/File Photo

จากที่เคยคาดหวังกันว่าภายในสิ้นปี 2564 การดำเนินชีวิต การดำเนินธุรกิจ รวมทั้งสภาพเศรษฐกิจโดยรวมจะเริ่มหวนกลับคืน แต่เมื่อเกิดการแพร่ระบาดรอบใหม่ ตัวเลขผู้ป่วยทะยานสู่หลักพันในแต่ละวัน ทำให้ภาวะความไม่แน่นอนกลับมาอีกครั้ง

การแพร่ระบาดรอบใหม่ที่เพิ่งเกิดขึ้นทำให้ทุกคนเห็นภาพตรงกันว่า สิ่งสำคัญที่สุดของการแก้ปัญหาโดยเร่งด่วน คือการฉีดวัคซีน เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันหมู่เกิดขึ้นให้ได้

การฉีดวัคซีนอย่างรวดเร็วและทั่วถึงยังเป็นหลักประกันระดับหนึ่งว่าเราจะไม่กลับไปประสบปัญหาการแพร่ระบาดรอบใหม่ ๆ ซ้ำแล้วซ้ำเล่า

ภายใต้สถานการณ์โควิด-19 ที่สั่งสมมาตั้งแต่ต้นปี 2563 นอกจากจะสั่นสะเทือนเศรษฐกิจประเทศชีวิตความเป็นอยู่ เป็นทั้งความกดดันและความท้าทาย ทำให้ธุรกิจต้องค้นหาวิธีเพื่อ “อยู่รอด” เดินหน้าปรับตัวกำหนดเป้าหมาย ค้นหาแนวทางดำเนินธุรกิจใหม่ ๆ เลิกยึดติดกับรูปแบบการดำเนินธุรกิจแบบเดิม ๆ

ภาพที่ปรากฏ อาทิ การค้าขายที่พลิกตัวสู่ omnichannel ตอบรับพฤติกรรมผู้คน, การนำทรัพยากร data ต่าง ๆ ที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์อย่างจริงจังพัฒนาเป็นโปรดักต์ใหม่ การ collaboration ข้ามธุรกิจ, การเพิ่ม speed to market ที่รวดเร็วเพื่อช่วงชิงความได้เปรียบ ฯลฯ

ทั้งหมดอยู่บนสมมุติฐานที่ว่า … ต้องรอด

ซึ่งจะว่าไปแล้ว หากรัฐระดมฉีดวัคซีนในเดือนมิถุนายน และต่อเนื่องไปถึงปลายปี โอกาสที่เราลดการเจ็บป่วยจากโควิด-19 เป็นเรื่องที่มีความเป็นไปได้

ปัญหาตามมาคือ ถ้าต้องรอด จะรอดด้วยวิธีไหน และอย่างไร

แน่นอนว่าไม่มีคำตอบเป๊ะ ๆ ชัดเจนเพราะต้องยอมรับว่าแต่ละธุรกิจ แต่ละผู้ประกอบการมีจุดดี-จุดด้อยไม่เหมือนกัน รวมถึงสายป่านที่สั่งสมมา

เป็นธรรมดาที่ธุรกิจใหญ่ ๆ สายป่านยาว ๆ มักมีความได้เปรียบในทุก ๆ ด้าน

ด้วยบทบาทของ “ประชาชาติธุรกิจ” ซึ่งทำหน้าที่รายงานข่าวสารด้านเศรษฐกิจเคียงคู่การพัฒนาประเทศมาอย่างยาวนาน และกำลังก้าวสู่ปีที่ 45 ในวันที่ 29 พฤษภาคม 2564 นี้

สิ่งที่เราคิดคือ คงจะดีไม่น้อยถ้าเรารวบรวมนักธุรกิจในแขนงต่าง ๆ มาแชร์ประสบการณ์ มุมมอง “ทำอย่างไรถึงรอด”น่าจะเป็นประโยชน์ให้กับธุรกิจทุกระดับ

เป็นที่มาของการจัดงานสัมมนา Thailand Survivor … ต้องรอด ที่กำลังเกิดขึ้นตั้งแต่ 13.00 น. วันพฤหัสบดีที่ 27 พฤษภาคม 2564 เป็นต้นไป

เริ่มเปิดเวทีการสัมมนาด้วย คุณดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒน์ ในหัวข้อการปาฐกถาพิเศษ Thailand Survivor พร้อมชุดตัวเลข การคาดการณ์ทางเศรษฐกิจต่าง ๆ ฟังคำตอบที่ว่าถ้าเศรษฐกิจจะรอดจากผลกระทบโควิด-19 ต้องทำยังไงบ้าง

จากนั้น คุณชาตยา สุพรรณพงศ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ฟู้ดแพชชั่น จำกัด อยู่ในอุตสาหกรรมร้านอาหารมาไม่น้อยกว่า 30 ปี มีสาขาทั่วประเทศความน่าสนใจขององค์กรนี้ที่ทุกคนพูดถึง คือ เป็นผู้นำความเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ แม้แต่ในช่วงโควิด-19 ซึ่งต้องยอมรับว่าร้านอาหารเป็นธุรกิจที่ได้รับผลกระทบมากกว่าธุรกิจอื่น ๆ ทว่า “ฟู้ดแพชชั่น” สู้ไม่ถอยจริง ๆ

ในหัวข้อการเสวนาพิเศษ Survivor … ต้องรอด (ช่วงที่ 1)

ตามมาด้วย คุณยุทธชัย จรณะจิตต์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มบริษัท อิตัลไทย ซึ่งมีพอร์ตโรงแรมที่เรารู้จักกันดีในมือมากมาย จากธุรกิจที่สร้างรายได้เข้าประเทศมหาศาล กลายเป็นธุรกิจที่ต้องยืนหยัดต่อสู้ ในหัวข้อ Survivor … ต้องรอด ช่วงที่ 2

พร้อมกับคำอธิบายที่ว่า เพราะอะไรเจ้าตัวถึงต้องโดดลงมากำกับธุรกิจนี้ด้วยตัวเอง แทนที่จะพึ่งพามืออาชีพเช่นในอดีต

ในงานยังมี คุณอดิศักดิ์ สุขุมวิทยา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เจ มาร์ท จำกัด (มหาชน) ในการเสวนาหัวข้อ Business Mutation ฉายภาพถึงการต่อจิ๊กซอว์ธุรกิจที่เริ่มต้นจากเจมาร์ท-ซิงเกอร์-บริหารหนี้-ธุรกิจรีเทล-โลจิสติกส์-เจฟินคอยน์

คุณสุรศักดิ์ สุทองวัน รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด ในหัวข้อ Speed economy คลายข้อสงสัยว่าองค์กรใหญ่ ๆ อย่างโตโยต้ามีวิธีการขับเคลื่อนตัวเองอย่างไร ด้วยสปีดขนาดไหนให้ทันกับการแข่งขัน

คุณแสนผิน สุขี ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร เฟรเซอร์ส พร็อพเพอร์ตี้ โฮม (ประเทศไทย) กับหัวข้อ Reinvention ว่าด้วยการพลิกตัว-จัดระเบียบโครงสร้างธุรกิจ นำมาสู่ความแข็งแกร่งเหนือคู่แข่ง

รวมถึงมุมมองผู้ประกอบการเรียลเอสเตต ที่ว่ากันว่า โควิด-19 ทำให้ business landscape เปลี่ยนไปชั่วข้ามคืน

ปิดท้ายงานสัมมนา ก้าวสู่ปีที่ 45 ประชาชาติธุรกิจ กับ คุณฐากร ปิยะพันธ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เครือไทย โฮลดิ้งส์ ในหัวข้อ Data-Driven

เนื้อหาว่าด้วยประโยชน์ของดาต้าในทุก ๆ มิติ สามารถแปรให้เป็นประโยชน์ในทางธุรกิจได้สารพัด ออกโปรดักต์ใหม่ แคมเปญการตลาดที่ตรงกับความต้องการ และอีกสารพัด

ทั้งหมดนี้คืออาหารสมองดี ๆ ในช่วง work from home ตลอดบ่ายวันพฤหัสบดี ที่ 27 พฤษภาคม ทาง facebook live prachachat และสื่อออนไลน์ในเครือมติชน