วัคซีนไฟเซอร์-ซิโนแวก ประชาชนให้ความเชื่อมั่น ต่างกันแค่ไหน?

สวนดุสิตโพลเผยประชาชนมั่นใจในไฟเซอร์มากสุด
REUTERS/Edgar Su/File Photo

ดุสิตโพล เผยผลสำรวจความเห็นเรื่องวัคซีน พบ ประชาชนพร้อมฉีดวัคซีนที่รัฐบาลจัดหา แต่ยังกังวลเรื่องผลข้างเคียง นอกจากนี้ยังมีผลสำรวจเรื่องความเชื่อมั่นต่อวัคซีน ที่มีการระบุถึง “ไฟเซอร์” อย่างไรก็ตาม “ซิโนแวก” ไม่ได้อยู่ในโผ

วันที่ 23 พฤษภาคม 2564 สวนดุสิตโพล มหาวิทยาลัยสวนดุสิต สำรวจความคิดเห็นของประชาชนทั่วประเทศ จำนวนทั้งสิ้น 2,644 คน (สำรวจทางออนไลน์) ระหว่างวันที่ 17-20 พฤษภาคม 2564 หลังจากที่รัฐบาลประกาศให้การฉีดวัคซีนโควิด-19 เป็นวาระแห่งชาติ สรุปผลได้ ดังนี้

1) ประชาชนมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับวัคซีนโควิด-19 มากน้อยเพียงใด

  • พอจะรู้บ้าง 57.41%
  • รู้และเข้าใจเป็นอย่างดี 29.32%
  • ไม่ค่อยรู้ 9.54%
  • ไม่รู้เลย 3.73%

2) ประชาชนได้ลงทะเบียนรับการฉีดวัคซีนโควิด-19 ให้ตนเองหรือให้คนในครอบครัวหรือไม่

  • ลงทะเบียนแล้ว 56.49%
  • ยังไม่ได้ลงทะเบียน 32.39%
  • ยังไม่แน่ใจว่าจะลงทะเบียนหรือไม่ 11.12%

3) ประชาชนเชื่อถือข้อมูลต่าง ๆ เกี่ยวกับวัคซีนโควิด-19 จากแหล่งใดมากที่สุด

  • อันดับ 1 กระทรวงสาธารณสุข/อสม./หน่วยงานราชการ 31.02%
  • อันดับ 2 การวิเคราะห์ข่าว/บทความ จากสื่อโทรทัศน์ วิทยุ และออนไลน์ต่าง ๆ 17.36%
  • อันดับ 3 องค์การอนามัยโลก (WHO) /วารสารทางการแพทย์ระดับโลก 16.63%

4) ประชาชนเชื่อมั่นวัคซีนโควิด-19 ของบริษัทใดมากที่สุด

  • อันดับ 1 ไฟเซอร์ (Pfizer) 75.11%
  • อันดับ 2 โมเดอร์นา (Moderna)72.14%
  • อันดับ 3 จอนห์สัน แอนด์ จอนห์สัน (Johnson & Johnson) 68.52%
  • อันดับ 4 แอสตร้าเซนเนก้า (AstraZeneca) 65.89%
  • อันดับ 5 สปุตนิก วี (Sputnik V) 61.89%

5) ประชาชนคิดอย่างไรเกี่ยวกับการฉีดวัคซีนโควิด-19 ของประเทศไทย

  • อันดับ 1 ยังกังวลเรื่องผลข้างเคียงของวัคซีนที่จะใช้ฉีดในประเทศไทย 59.64%
  • อันดับ 2 การฉีดวัคซีนจะช่วยสร้างภูมิต้านทาน/ลดความรุนแรงของโรคได้ 57.24%
  • อันดับ 3 อยากให้เร่งกระบวนการฉีดวัคซีนให้เร็วขึ้น 48.46%

6) สิ่งใดที่จะสร้างความเชื่อมั่นต่อการฉีดวัคซีนโควิด-19

  • อันดับ 1 กลุ่มแพทย์ บุคลากรทางการแพทย์ออกมาชี้แจงเกี่ยวกับวัคซีน 67.74%
  • อันดับ 2 นำเสนอข้อมูลเกี่ยวกับผลดี ผลข้างเคียงและข้อควรระวังในการฉีดวัคซีน 52.13%
  • อันดับ 3 วัคซีนที่จะฉีดมีประสิทธิภาพสูง น่าเชื่อถือ มีรายงานรับรอง 51.86%

7) โดยสรุปแล้วประชาชนจะฉีดวัคซีนโควิด-19 ที่ภาครัฐจัดหาให้หรือไม่

  • ฉีด 64.39%
  • ไม่แน่ใจ 22.30%
  • ไม่ฉีด 13.31%

นางสาวพรพรรณ บัวทอง นักวิจัย สวนดุสิตโพล มหาวิทยาลัยสวนดุสิต ระบุว่าประชาชนให้ความสนใจเกี่ยวกับวัคซีนโควิด-19 มากขึ้น เพราะยอดตัวเลขผู้ติดเชื้อที่พุ่งสูง รวมถึงผู้เสียชีวิตก็มากกว่าการระบาดในรอบก่อน ๆ จะเห็นได้ว่าประชาชนติดตามข่าวและเชื่อถือข้อมูลจากบุคลากรทางการแพทย์ เจ้าหน้าที่ อสม. และภาครัฐด้วย

ดังนั้นรัฐบาลจึงควรเร่งสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับผลข้างเคียงซึ่งเป็นประเด็นที่ประชาชนยังกังวลมากเป็นอันดับหนึ่ง และเร่งกระบวนการฉีดวัคซีนให้ได้จำนวนต่อวันมากขึ้น เพื่อให้สถานการณ์โควิด-19 ในประเทศนั้นผ่อนคลายโดยเร็ว

อาจารย์ธีระชล สาตสิน อาจารย์ประจำสาขาการพยาบาลผู้ใหญ่และผู้สูงอายุ คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยสวนดุสิต ระบุว่าการฉีดวัคซีนโควิด-19 ที่เป็นประเด็นสำคัญในขณะนี้ สะท้อนได้จากผลสำรวจความคิดเห็นของประชาชนที่พอจะมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับวัคซีนโควิด-19 อาจเป็นเพราะการเข้าถึงสื่อข้อมูลออนไลน์ ผ่านทางโทรทัศน์ หรือในต่างจังหวัดเป็นเสียงตามสาย อสม. ฯลฯ รวมถึงการเข้าถึงงานวิจัย บทความวิชาการ จากผู้เชี่ยวชาญทางด้านการแพทย์

โดยจากข้อมูลล่าสุด ณ วันที่ 19 พ.ค. 2564 ประชาชนทั่วโลกได้รับการวัคซีนโควิด-19 แล้ว จำนวน 1,515 ล้านโดส ใน 197 ประเทศ/การปกครอง และยังพบว่าวัคซีนโควิด-19 มีประสิทธิภาพในการป้องกันโรคได้ร้อยละ 90 และลดความรุนแรงของการเกิดโรค

ทั้งนี้ผู้ที่รับการฉีดวัคซีนในกลุ่มผู้ใหญ่และผู้สูงอายุควรปฏิบัติตัวก่อน ขณะ และหลังการฉีดวัคซีนอย่างเคร่งครัด ตามคำแนะนำของบุคลากรทางการแพทย์และเฝ้าระวังอาการข้างเคียงที่สามารถเกิดขึ้นได้