คลัสเตอร์โรงงาน รับมืออย่างไร? เมื่อเป็นจุดแพร่เชื้อโควิด

คลัสเตอร์โรงงาน

สถานประกอบการ กับการรับมือช่วงวิกฤตโควิด เมื่อต้องกลายเป็นแหล่งเพาะเชื้อจนเกิด “คลัสเตอร์โรงงาน” 

สถานประกอบการ หรือ โรงงาน เป็นแหล่งรวมผู้คนจำนวนมากที่ทำให้เป็นอีกหนึ่งปัจจัยเสี่ยงในการเกิดการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ได้ง่ายมากยิ่งขึ้น เนื่องจากเป็นพื้นที่ปิด และค่อนข้างแออัด ดังจะเห็นได้จากข่าว “คลัสเตอร์โรงงาน” ในจังหวัดต่าง ๆ เช่น คลัสเตอร์โรงงานตัดเย็บเสื้อผ้าทุ่งครุ กทม. คลัสเตอร์โรงงานแคลคอมพ์ จ.เพชรบุรี คลัสเตอร์โรงงานอาหารทะเล จ.สมุทรปราการ เป็นต้น

“ประชาชาติธุรกิจ” สรุปข้อควรปฎิบัติและเรื่องที่โรงงานและสถานประกอบการในเขตพื้นที่ที่มีการระบาดโรคโควิด-19 จะต้องรู้ จากการเสนอแง่คิดของ นพ.วีระศักดิ์ จงสู่วิวัฒน์วงศ์ ศาสตราจารย์ สาขาวิชาระบาดวิทยา ม.สงขลานครินทร์ ที่ได้เผยแพร่ข้อมูลผ่านเฟซบุ๊ก Prof.Virasakdi Chongsuvivatwong (วันที่ 13 ม.ค.64) ดังนี้

ความเสี่ยงในการรับเชื้อจากภายนอก

ถึงแม้สถานประกอบการจะดำเนินการได้มาตรฐานด้านความปลอดภัย และมีความรู้และดำเนินการพื้นฐานเกี่ยวกับโรคโควิด ซึ่งรวมทั้งแนวทางการป้องกันด้านอนามัยส่วนบุคคล เช่น การสวมหน้ากาก การล้างมือ การเว้นระยะห่าง สุขอนามัยด้านการรับประทานอาหาร ที่ทางกระทรวงสาธารณสุขให้คำแนะนำต่อประชาชน โดยได้ปฏิบัติตามอย่างเข้มงวด แต่ความเสี่ยงต่อการติดเชื้อจากภายนอกก็ยังมีอยู่

ความเสี่ยงนี้ขึ้นอยู่กับปัจจัยสองประการ คือ ในขณะนั้นมีเชื้ออยู่ภายนอกหรือไม่ และสมาชิกของสถานประกอบการมีพฤติกรรมที่อาจจะนำเชื้อเข้ามาในสถานที่นั้นมากน้อยเพียงไร ในยามที่ไม่มีเชื้อโควิดระบาด การเข้าออกสถานประกอบการของสมาชิกจะมีโอกาสนำเชื้อเข้ามาได้น้อย แต่ในยามที่เกิดโรคระบาดในชุมชนใกล้เคียง หรือ ชุมชนต้นทางของพนักงาน ตัวพนักงานและญาติหรือเพื่อนอาจจะนำเชื้อเข้ามาสถานประกอบการเมื่อไรก็ได้

เชื้อโควิดเป็นเชื้อโรคติดต่ออันตราย เมื่อเข้ามาแล้วมาตรการปกติจะป้องกันไม่ให้เชื้อแพร่กระจายได้ยาก ในสภาพการทำงานที่บุคลากรต้องใกล้ชิดกันมาก อาจจะเป็นเวลานานหรือ การควบคุมสุขอนามัยด้านทางเดินหายใจย่อหย่อน เชื้อก็จะระบาดไปทั่วสถานประกอบการ
.

การแพร่เชื้อระหว่างการทำงาน

คนที่แพร่เชื้อจำนวนมากไม่มีอาการและทำงานได้ตามปกติ การทำงานจะแพร่เชื้อได้มากน้อยเพียงไรขึ้นอยู่กับชนิดของงาน งานที่มีความเสี่ยงที่จะแพร่เชื้อนั้น ได้แก่

  • การทำงานใกล้ชิดกับคนอื่น ทั้งพนักงานด้วยกันเองและลูกค้าหรือผู้ได้รับบริการโดยเฉพาะอย่างยิ่งในห้องแคบอากาศถ่ายเทไม่สะดวก
  • การทำงานที่เกี่ยวกับการปรุงหรือบริการอาหาร เช่น งานครัว งานเสริฟอาหาร ล้างถ้วยชาม
  • งานที่ต้องออกเสียงดัง ทำให้ละอองจากลมหายใจออกได้แรงและไกล เช่น พากษ์หรือบรรยาย นักร้อง การสอนหน้าชั้น กองเชียร์

งานที่ทำคนเดียว ไม่มีการสัมผัสกับใคร เช่น งานประเภท work from home ถือได้ว่ามีความปลอดภัย

มาตรการคุมโควิดสถานประกอบการ-โรงงาน

  • การจัดการคนเข้า-ออกโรงงาน

เมื่อมีการระบาด สถานประกอบการต้องป้องกันไม่ให้มีการเข้า-ออกโดยไม่จำเป็น ถ้าจะให้ปลอดภัยยิ่งขึ้นไปกว่าธรรมดา สถานประกอบการน่าจะต้องจัดบริเวณกักตัวคนทำงานและบุคคลภายนอกที่เดินทางมาจากภายนอก แยกออกจากที่ทำงานและที่พักของคนส่วนใหญ่เป็นเวลา 14 วัน ถ้ามีอาการเช่น ไข้ หรือ เป็นหวัด ก็ให้พบแพทย์ ถ้าไม่มีอาการครบกำหนด 14 วันจึงให้ทำงาน

สำหรับสถานประกอบการที่ต้องมีบุคคลภายนอกมาใช้บริการ เช่น ศูนย์การค้า ร้านสะดวกซื้อ ต้องเข้มงวดต่อพฤติกรรมอนามัยของลูกค้าอย่างสุภาพ คนทำงานจึงจะปลอดภัย ความเข้มงวดเท่านั้นที่จะทำให้สถานประกอบการและสมาชิกทั้งหมดปลอดภัยจากโควิด

  • การวัดอุณหภูมิ 

การวัดอุณหภูมิในปัจจุบันทำได้ไม่ยาก ต้นทุนไม่สูงมาก เป็นวิธีคัดกรองเบื้องต้นให้คนเข้าสู่สถานประกอบการหรือสถานที่ซึ่งอาจจะมีการถ่ายทอดเชื้อโควิดได้ง่าย ถ้าผู้ถูกตรวจมีอุณหภูมิสูงกว่ามาตรฐานที่ทางราชการกำหนด ก็ไม่ควรได้รับอนุญาตให้เข้าไปในพื้นที่ ถ้าเป็นพนักงานก็สมควรจัดให้ไปพบผู้มีความรู้ทางการแพทย์เพื่อซักประวัติ ตรวจร่างกาย และตรวจแล็บต่อไป ถ้าเป็นลูกค้าหรือผู้มารับบริการ ต้องไม่ให้เข้ามาในตัวอาคารที่มีเครื่องปรับอากาศ เพื่อป้องกันการแพร่เชื้อในอาคาร

  • การติดตามพนักงานหรือสมาขิกที่ขาดงานหรือเจ็บป่วย

ในช่วงโควิดระบาด ถ้ามีพนักงานขาดงานหรือลา ควรตรวจสอบว่าเกิดการเจ็บป่วยที่อาจจะเกี่ยวข้องกับโควิดหรือไม่ ถ้าสงสัย ควรแนะนำให้ไปพบแพทย์เพื่อตรวจหาเชื้อถ้าจำเป็น

  • การสอบสวนโรค

เมื่อมีพนักงานคนใดคนหนึ่งป่วยด้วยโรคโควิด จะมีเจ้าหน้าที่สาธารณสุขมาสอบสวนโรค เพื่อหาว่ามีผู้ใดในที่ทำงานเจ็บป่วยจากโควิด หรือ แพร่เชื้อโควิดหรือไม่ ถ้าตรวจพบจะได้จัดการแยกตัวผู้ป่วยหรือผู้แพร่เชื้อเหล่านั้นอย่างเหมาะสม สถานประกอบการต้องออกคำสั่งให้พนักงานและผู้เกี่ยวข้องทุกคนร่วมมือกับพนักงานสอบสวนโรคอย่างเต็มที่ เพื่อป้องกันไม่ให้โรคแพร่กระจายต่อไปในสถานประกอบการและในชุมชน

  • การทำความสะอาดฆ่าเชื้อ

ในห้องซึ่งเป็นที่อยู่หรือที่ทำงานของผู้ติดเชื้อโควิดอาจจะมีเชื้อหลงเหลืออยู่ เชื้ออาจจะอยู่ได้นานถึง 7 วัน แต่น้ำยาฆ่าเชื้อชนิดต่าง ๆ ในท้องตลาด รวมทั้งสบู่ และแสงแดด ฆ่าเชื้อโควิดได้ผลดีมาก ควรเปิดหน้าต่าง ประตูห้องให้อากาศถ่ายเทได้สะดวก ถ้าเป็นไปได้ควรให้แสงแดดเข้าถึง ถ้าเป็นห้องปิดมิดชิดควรเปิดหลอดยูวี ฆ่าเชื้อทิ้งค้างคืนไว้ก่อนเข้าทำความสะอาด (แต่ต้องระวังว่าแสงยูวีเป็นอันตรายต่อสายตาและผิวหนัง) ถ้าห้องไม่จำเป็นต้องใช้งานทันที อาจจะรอสองสัปดาห์เพื่อให้ไวรัสที่อยู่ในห้องหมดฤทธิ์

เตรียมวัสดุและอุปกรณ์ในการฆ่าเชื้อ เช่น ถุงมือยางสำหรับทำความสะอาด หน้ากากอนามัย รองเท้าบู๊ต แว่นตากันน้ำกระเด็น น้ำผสมผงซักฟอกหรือน้ำสบู่ แอลกอฮอล์ 70% (ชนิดน้ำ ไม่ใช่เจล) น้ำยาฆ่าเชื้อ เช่น ไฮเตอร์ คลอรอกซ์ ซึ่งผสมน้ำตามคำแนะนำของโรงงาน เชื้อโควิดตายง่าย ไม่จำเป็นต้องใช้ยาฆ่าเชื้อราคาแพง เช่น เดทตอล

ทำความสะอาด พื้นห้องด้วยน้ำสบู่ พื้นผิวเฟอร์นิเจอร์ เช่น โต๊ะ เตียง เก้าอี้ ตู้ ควรเช็ดด้วยแอลกอฮอล์ ล้างห้องน้ำด้วยน้ำยาล้างห้องน้ำ ส่วนที่เป็นผ้าจัดการซักทำความสะอาด
ห้ามรับประทานอาหารหรือดื่มเครื่องดื่มระหว่างทำความสะอาด

ทั้งนี้ หากมีข้อความใดขัดแย้งกับประกาศหรือคำแนะนำของ กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข ขอให้ใช้คำแนะนำของ กรมอนามัย เป็นเกณฑ์หลัก หากถ้ามีข้อสงสัยหรือไม่แน่ใจอาจจะสอบถามได้จากสำนักงานสาธารณสุขในพื้นที่