มีผลบังคับใช้วันนี้ (1 มิ.ย.) ลดเงินสมทบผู้ประกันตนนาน 3 เดือน

ราชกิจจา

ราชกิจจานุเบกษาเผยกฎกระทรวงแรงงาน กำหนดอัตราเงินสมทบกองทุนประกันสังคม พ.ศ. 2564 เพื่อช่วยลดผลกระทบจากสถานการณ์โควิด มีผลบังคับใช้วันนี้ (1 มิ.ย.) ระยะเวลา 3 เดือน ตั้งแต่ 1 มิ.ย.-31 ส.ค. 64

วันที่ 31 พฤษภาคม 2564 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อเร็ว ๆ นี้ เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา ได้เผยแพร่ กฎกระทรวง กำหนดอัตราเงินสมทบกองทุนประกันสังคม พ.ศ. 2564 ลงนามโดย นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน โดยมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน 2564 เป็นต้นไป

สำหรับเหตุผลในการประกาศใช้กฎกระทรวงฉบับนี้ โดยที่เป็นการสมควรปรับปรุงอัตราเงินสมทบเพื่อการจ่ายประโยชน์ทดแทนในกรณีประสบอันตรายหรือเจ็บป่วย กรณีทุพพลภาพ กรณีตายกรณีคลอดบุตร กรณีสงเคราะห์บุตร กรณีชราภาพ และกรณีว่างงาน โดยกำหนดให้รัฐบาล นายจ้างและผู้ประกันตนตามมาตรา 33 ออกเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคมในอัตราที่เหมาะสม เพื่อเป็นการบรรเทาภาระของนายจ้างและผู้ประกันตน จึงจำเป็นต้องออกกฎกระทรวงนี้

สำหรับกฎกระทรวงฉบับนี้ กำหนดให้รัฐบาล นายจ้าง และผู้ประกันตนตามมาตรา 33 ออกเงินสมทบเข้ากองทุนเพื่อการจ่ายประโยชน์ประโยชน์ทดแทนในกรณีประสบอันตรายหรือเจ็บป่วย กรณีทุพพลภาพ กรณีตาย กรณีคลอดบุตร กรณีสงเคราะห์บุตร กรณีชราภาพ และกรณีว่างงาน ตามบัญชีอัตราเงินสมทบท้ายประกาศ ดังต่อไปนี้

1. ตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน 2564 ถึงวันที่ 31 สิงหาคม 2564 ให้เป็นไปตามอัตราในบัญชี ก.

2.ตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2564 เป็นต้นไป ให้เป็นไปตามอัตราในบัญชี ข. (ตารางท้ายกฎกระทรวง)

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับประกาศตามกฎกระทรวงฉบับดังกล่าว เป็นไปตามมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) ที่เห็นชอบเมื่อวันที่ 18 พฤษภาคม 2564 เพื่อช่วยเหลือและบรรเทาความเดือดร้อนแก่นายจ้าง และผู้ประกันตน ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19

โดยประกาศในกฎกระทรวง กำหนดอัตราเงินสมทบกองทุนประกันสังคม ให้ปรับลดอัตราเงินสมทบ โดยให้จัดเก็บเงินสมทบฝ่ายนายจ้าง และผู้ประกันตนมาตรา 33 เดิมร้อยละ 5 ลดลงเหลือร้อยละ 2.5 ของค่าจ้างผู้ประกันตน (ค่าจ้างสูงสุดไม่เกินเดือนละ 15,000 บาท ถูกหักเงินสมทบ 375 บาท) และผู้ประกันตนมาตรา 39 เดิมร้อยละ 9 ลดลงเหลือร้อยละ 4.5 (จากเดิมที่จ่ายเดือนละ 432 บาท เหลือ 216 บาท) สำหรับรัฐบาลยังคงส่งเงินสมทบในอัตราเดิม คือร้อยละ 2.75 ของค่าจ้างผู้ประกันตน