ปลัด กทม. ตรวจระบบระบายน้ำ เตรียมพร้อมรับสถานการณ์ฝน

ปลัดกรุงเทพมหานคร ลงพื้นที่ตรวจระบบระบายน้ำในพื้นที่กรุงเทพมหานคร เพื่อเตรียมความพร้อมรองรับสถานการณ์ฝน

วันที่ 3 มิถุนายน 2564 นางศิลปสวย ระวีแสงสูรย์ ปลัดกรุงเทพมหานคร ลงพื้นที่ตรวจระบบระบายน้ำในพื้นที่กรุงเทพมหานคร เพื่อเตรียมความพร้อมรองรับสถานการณ์ฝน ประกอบด้วย อุโมงค์ระบายน้ำคลองแสนแสบและคลองลาดพร้าว เขตห้วยขวาง สถานีสูบน้ำพระโขนง เขตคลองเตย และสถานีสูบน้ำบึงหนองบอน เขตประเวศ โดยมี นายณรงค์ เรืองศรี ผู้อำนวยการสำนักการระบายน้ำ พร้อมด้วยคณะผู้บริหาร ข้าราชการ และเจ้าหน้าที่สำนักการระบายน้ำ สำนักงานเขตในพื้นที่ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมลงพื้นที่และให้ข้อมูล

ทั้งนี้ อุโมงค์ระบายน้ำคลองแสนแสบและคลองลาดพร้าว รับน้ำด้านตะวันออกและตอนบนของกรุงเทพมหานครลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยา

โดยพื้นที่กรุงเทพมหานครฝั่งพระนคร มีคลองแสนแสบและคลองลาดพร้าวเป็นคลองสำคัญสายหลัก โดยคลองแสนแสบรับน้ำจากด้านตะวันออกมาบรรจบคลองพระโขนง เพื่อระบายน้ำลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยา ส่วนคลองลาดพร้าวรับน้ำจากพื้นที่ตอนบนลงมาบรรจบคลองแสนแสบบริเวณบึงพระราม 9 คลองทั้งสองแห่งจึงมีความสำคัญในการระบายน้ำจากพื้นที่ตอนบนด้านตะวันออกลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยา

ในอดีตระบบระบายน้ำในพื้นที่ดังกล่าวประสบปัญหาน้ำท่วมบ่อยครั้ง เนื่องจากคลองแสนแสบและคลองลาดพร้าวเป็นคลองที่รับน้ำจากคลองย่อยหลายแห่ง อีกทั้งมีระยะทางไกลจากแม่น้ำเจ้าพระยา เมื่อเกิดฝนตกในพื้นที่ด้านตะวันออกและตอนบนของกรุงเทพมหานคร จึงต้องใช้ระยะเวลานานในการลดระดับน้ำในคลองแสนแสบ โดยการสูบน้ำที่สถานีสูบน้ำพระโขนงเป็นเวลาหลายวัน แต่ยังลดระดับน้ำในคลองแสนแสบและคลองลาดพร้าวได้เพียงเล็กน้อยเท่านั้น ทำให้น้ำในคลองล้นตลิ่งท่วมพื้นที่ลุ่มต่ำบริเวณดังกล่าว

สำนักการระบายน้ำ จึงได้ดำเนินการก่อสร้างอุโมงค์ระบายน้ำคลองแสนแสบและคลองลาดพร้าว ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 5 ม. ความยาว 5 กม. ความลึกจากพื้นดิน 25 ม. เริ่มต้นที่อาคารรับน้ำคลองแสนแสบและคลองลาดพร้าว บริเวณบึงพระรามเก้า ไปตามแนวคลองแสนแสบ คลองตัน ถนนสุขุมวิท 71 ถนนสุขุมวิท คลองตัน คลองพระโขนง สิ้นสุดที่สถานีสูบน้ำพระโขนง อัตรากำลังสูบรวม 60 ลบ.ม./วินาที

โดยรับน้ำจากคลองแสนแสบและคลองลาดพร้าว ลงใต้ดินผ่านอุโมงค์ดังกล่าว ระบายน้ำลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยา ช่วยแก้ไขปัญหาน้ำท่วมพื้นที่ในความรับผิดชอบประมาณ 50 ตร.กม. พื้นที่เขตลาดพร้าว วังทองหลาง บางกะปิ ห้วยขวาง บึงกุ่ม สะพานสูง และพื้นที่ใกล้เคียง

*สถานีสูบน้ำพระโขนง สถานีที่มีประสิทธิภาพในการระบายน้ำมากที่สุด ด้วยอัตรากำลังสูบรวม 155 ลบ.ม./วินาที

สำหรับสถานีสูบน้ำพระโขนง เดิมเป็นประตูระบายน้ำในความดูแลของกรมชลประทาน ปัจจุบันได้โอนให้อยู่ในความดูแลของสำนักการระบายน้ำ สถานีสูบน้ำพระโขนง ตั้งอยู่ในซอยสุขุมวิท 50 เขตคลองเตย ห่างจากปากซอยสุขุมวิท 50 ประมาณ 500 ม.

พื้นที่สถานีสูบน้ำสร้างคร่อมคลองพระโขนงและอยู่ห่างจากปากคลองพระโขนงประมาณ 1 กม. รวมพื้นที่สถานีสูบน้ำ 16 ไร่ 67 ตารางวา เป็นสถานีสูบน้ำที่มีประสิทธิภาพในการระบายน้ำมากที่สุดในกรุงเทพมหานคร อัตรากำลังสูบรวม 155 ลบ.ม./วินาที ทำหน้าที่สูบระบายน้ำและควบคุมระดับน้ำในคลองพระโขนง ซึ่งเชื่อมต่อกับคลองประเวศ คลองแสนแสบและคลองลาดพร้าว พื้นที่ในความรับผิดชอบประมาณ 360 ตร.กม.

รวมถึงรับและระบายน้ำฝน น้ำทิ้งจากชุมชน ในพื้นที่เขตพระโขนง บึงกุ่ม วัฒนา คลองเตย มีนบุรี หนองจอก ประเวศ ลาดกระบัง ห้วยขวาง และลาดพร้าว โดยมีอุโมงค์ระบายน้ำคลองแสนแสบและคลองลาดพร้าว ที่ลำเลียงน้ำมายังสถานีสูบน้ำพระโขนงซึ่งอยู่บริเวณเดียวกันนี้ โดยมีกำลังสูบน้ำออกไปลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยาขนาด 60 ลบ.ม./วินาที อีกด้วย

นอกจากนี้ มีแก้มลิงบึงรับน้ำหนองบอนช่วยกักเก็บน้ำในช่วงฤดูฝน พร้อมเชื่อมต่อโครงการก่อสร้างอุโมงค์ระบายน้ำบึงหนองบอน

จากปัญหาการระบายน้ำจากด้านทุ่งตะวันออกของกรุงเทพมหานคร ลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยาและอ่าวไทยทำได้ยาก เนื่องจากพื้นที่ด้านตะวันออกเป็นที่ลุ่มและแอ่งกระทะ แต่เดิมเมื่อฝนตกปานกลางถึงหนัก จะเกิดปัญหาน้ำท่วมขังในพื้นที่เป็นเวลานาน ทำให้ประชาชนได้รับความเดือดร้อน การแก้ไขปัญหาดังกล่าวจำเป็นต้องหาพื้นที่ชะลอน้ำหรือแก้มลิง เพื่อกักเก็บน้ำฝนไว้ก่อนในช่วงฝนตก และเมื่อน้ำในพื้นที่ลดลงจึงปล่อยน้ำออกจากบึงลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยา เพื่อพร่องไว้รับน้ำฝนในพื้นที่อีกครั้งหนึ่ง

สำนักการระบายน้ำ จึงได้ดำเนินการก่อสร้างสถานีสูบน้ำบึงหนองบอน ตั้งอยู่บริเวณบึงรับน้ำหนองบอน เขตประเวศ กำลังสูบรวม 20 ลบ.ม./วินาที ทำหน้าที่ควบคุมระดับน้ำในบึงรับน้ำหนองบอน ซึ่งมีปริมาตรกักเก็บน้ำ 5,000,000 ลบ.ม. โดยรับน้ำจากคลองมะขามเทศและคลองหนองบอนในช่วงฤดูฝนเดือน พ.ค.-พ.ย. มากักเก็บไว้ และในช่วงฤดูแล้งเดือน ธ.ค.-เม.ย. จะระบายน้ำออกเพื่อการอุปโภคและถ่ายเทน้ำเสีย

พื้นที่ในความรับผิดชอบประมาณ 150 ตร.กม. ในเขตประเวศ สวนหลวง พระโขนง และพื้นที่ใกล้เคียง อีกทั้งในอนาคตจะเชื่อมต่อกับโครงการก่อสร้างอุโมงค์ระบายน้ำจากบึงหนองบอนลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยา ซึ่งอุโมงค์ดังกล่าวมีเส้นผ่านศูนย์กลาง 5 ม. ความยาว 9.4 กม. ความลึก 30 ม.

โดยแนวอุโมงค์เริ่มจากอาคารรับน้ำบริเวณบึงหนองบอน ลอดใต้แนวคลองหนองบอน แนวคลองตาช้าง ถนนศรีนครินทร์ ถนนอุดมสุข ซอยอุดมสุข 29 ถนนสุขุมวิท 101/1 ลอดใต้แนวคลองบางอ้อ ผ่านสถานีสูบน้ำบางอ้อและออกสู่แม่น้ำเจ้าพระยาบริเวณปากคลองบางอ้อ คาดว่าการก่อสร้างอุโมงค์ดังกล่าวจะแล้วเสร็จประมาณปลายปี 64

ปลัดกรุงเทพมหานครกล่าวว่า  วันนี้ได้ลงพื้นที่ตรวจระบบระบายน้ำในพื้นที่กรุงเทพมหานคร เพื่อเตรียมความพร้อมรองรับสถานการณ์ฝน ประกอบด้วย อุโมงค์ระบายน้ำคลองแสนแสบและคลองลาดพร้าว สถานีสูบน้ำพระโขนง และสถานีสูบน้ำบึงหนองบอน

อย่างไรก็ตาม การป้องกันน้ำท่วมในพื้นที่กรุงเทพมหานคร มีระบบที่ช่วยให้การระบายน้ำลงสู่แม่น้ำคูคลองได้อย่างรวดเร็วอยู่หลายระบบ ซึ่งอุโมงค์ระบายน้ำนับว่าเป็นหนึ่งในระบบที่ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการระบายน้ำ โดยจะรับน้ำจากผิวจราจรและคลองในพื้นที่ เข้าสู่ระบบอุโมงค์ระบายน้ำ ออกสู่แม่น้ำเจ้าพระยา

ทั้งนี้ สำนักการระบายน้ำได้ดำเนินการก่อสร้างอุโมงค์ระบายน้ำแล้วเสร็จ สามารถเปิดใช้งานแล้ว 3 แห่ง ได้แก่ อุโมงค์ระบายน้ำคลองแสนแสบและคลองลาดพร้าว อุโมงค์ระบายน้ำบึงมักกะสัน และอุโมงค์ระบายน้ำใต้คลองบางซื่อ นอกจากนี้ยังมีอุโมงค์ระบายน้ำบึงหนองบอน ซึ่งอยู่ระหว่างดำเนินการก่อสร้างใกล้จะแล้วเสร็จ โดยจะรับน้ำจากพื้นที่กรุงเทพมหานครฝั่งตะวันออก ในพื้นที่เขตประเวศ สวนหลวง บางนา เริ่มจากบึงหนองบอนออกสู่แม่น้ำเจ้าพระยาบริเวณปากคลองบางอ้อ

และในปี 2565 กรุงเทพมหานครได้งบฯอุดหนุนจากรัฐบาลดำเนินการก่อสร้างอุโมงค์ระบายน้ำเพิ่มเติม เพื่อช่วยเร่งระบายน้ำออกสู่แม่น้ำเจ้าพระยา โดยไม่ต้องผ่านระบบคลองตามปกติ อีกทั้งสามารถช่วยลดระดับน้ำในคลองให้มีระดับต่ำในระยะเวลาที่รวดเร็ว

ในส่วนของการจัดเก็บขยะในคลองที่ลอยมาติดตะแกรงรับน้ำก่อนเข้าสู่ระบบอุโมงค์ระบายน้ำนั้น สำนักการระบายน้ำได้ติดตั้งอุปกรณ์เครื่องจักรเพิ่มเติม เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการจัดเก็บขยะ ทดแทนการใช้แรงงานคน จากเดิม 20 คน เหลือเพียง 6 คน ซึ่งในช่วงเวลาปกติจะมีขยะลอยมา 2-3 ตัน แต่ในช่วงเวลาฝนตกจะมีขยะลอยมาเป็นจำนวนมาก บางครั้ง 10-15 ตัน การจัดเก็บขยะต้องเป็นไปอย่างรวดเร็ว เพื่อป้องกันไม่ให้ขยะลอยมาติดตะแกรงรับน้ำ ซึ่งส่งผลทำให้ประสิทธิภาพในการรับน้ำเข้าสู่ระบบอุโมงค์ระบายน้ำลดลง