กทม. สั่ง 50 เขตเฝ้าระวังโรคระบาดในสัตว์ “โรคลัมปี สกิน”

กทม.ตั้งการ์ดสูง สั่ง 50 เขตเฝ้าระวังโรคระบาดในสัตว์ “โรคลัมปี สกิน”

วันที่ 4 มิ.ย. 64 พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เป็นประธานการประชุมหัวหน้าหน่วยงานของกรุงเทพมหานคร ครั้งที่ 6/2564 โดยมี คณะผู้บริหารกรุงเทพมหานคร ร่วมประชุม ณ ห้องรัตนโกสินทร์ ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร พร้อมด้วยหัวหน้าส่วนราชการกรุงเทพมหานคร ร่วมประชุมผ่านระบบประชุมทางไกล (Teleconference)

•วัคซีน LSDV ป้องกันโรคลัมปี สกิน ลอตแรกถึงไทยแล้ว
•ประยุทธ์ จี้เกษตรสกัด “โรคลัมปี สกิน” หวั่นกระทบอุตสาหกรรม

ในที่ประชุม สำนักการแพทย์และสำนักอนามัย กทม. รายงานการบริหารจัดการสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ในประเทศไทย ประจำวันที่ 4 มิ.ย.64 พบผู้ติดเชื้อรายใหม่ 2,631 ราย เป็นผู้ป่วยรายใหม่ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร จำนวน 995 ราย

ผลการให้บริการวัคซีนCOVID-19 ในพื้นที่กรุงเทพมหานครมีผู้ที่ได้รับวัคซีนสะสม ครบ 2 เข็ม จำนวน 243,688 ราย และผู้ที่ได้รับวัคซีน 1 เข็ม จำนวน 490,005 ราย

ทั้งนี้ในที่ประชุมเห็นชอบให้รวบรวมปัญหาอุปสรรคในการให้บริการวัคซีนใน รพ.สังกัดกรุงเทพมหานคร 11 แห่ง และหน่วยบริการวัคซีนนอก รพ. 25 แห่ง โดยให้ที่ปรึกษาของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครร่วมติดตามการดำเนินงานทุกจุดบริการอย่างใกล้ชิด

จากนั้น สำนักงานปศุสัตว์พื้นที่กรุงเทพมหานคร ได้รายงานสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคลัมปี สกิน (Lumpy skin disease : LSD) ซึ่งพบครั้งแรกในจังหวัดร้อยเอ็ด และพบการแพร่ระบาดในพื้นที่ 41 จังหวัด ซึ่งข้อมูล ณ วันที่ 2 มิ.ย. 64 ยังไม่มีรายงานการพบโรคลัมปี สกิน ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร

ทั้งนี้ สำนักงานปศุสัตว์พื้นที่กรุงเทพมหานคร ได้รายงานมาตรการการเฝ้าระวังโรคลัมปี สกิน ของกรมปศุสัตว์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ดังนี้

1. ให้จังหวัดที่อยู่ในรัศมี 50 กิโลเมตร ประกาศเป็นเขตโรคระบาดสัตว์ ชนิดโรคลัมปีสกิน ในสัตว์ชนิดโค กระบือ

2. รณรงค์ (kick-off) ป้องกันและกําจัดโรคลัมปีสกิน โดยเมื่อวันที่ 31 พ.ค. 64 สํานักงานปศุสัตว์พื้นที่กรุงเทพมหานคร ได้จัดทีมเคลื่อนที่เร็วลงพื้นที่ออกประชาสัมพันธ์ ให้ความรู้เกษตรกรเรื่องโรคลัมปี สกิน พร้อมทั้งฉีดพ่นยาฆ่าเชื้อและยาฆ่าแมลงทำความสะอาดคอกเลี้ยงสัตว์ ไม่ให้เป็นแหล่งที่อยู่อาศัยของแมลงพาหะ รวมถึงกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงและแมลงดูดเลือด

3. ประชาสัมพันธ์สร้างความตระหนักรู้เพื่อเร่งค้นหาโรค

4. ควบคุมการเคลื่อนย้าย โดยอนุญาตให้เคลื่อนย้ายเฉพาะเข้าโรงฆ่าในพื้นที่เท่านั้น กรณีอื่นให้ขออนุญาตที่สำนักควบคุม ป้องกันและบำบัดโรคสัตว์

และ 5. การฉีดวัคซีนป้องกันโรค กรมปศุสัตว์ได้รับวัคซีน LSDV เมื่อวันที่ 30 พ.ค. 64 จํานวน 60,000 โดส เพื่อนำไปฉีดให้กับโค กระบือของเกษตรกรที่อยู่ในพื้นที่ที่มีการระบาดเป็นหลักก่อน และจะฉีดรอบจุดเกิดโรคเพื่อควบคุมการแพร่กระจายของโรคออกจากจุดเกิดโรคตามหลักวิชาการควบคุมป้องกันการแพร่ระบาดโดยเร็วที่สุด

ทั้งนี้ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร มีความห่วงใยต่อเกษตรกรในพื้นที่ กทม. จึงได้กำชับผู้อำนวยการเขต 50 เขต โดยเฉพาะเขตชั้นนอก ประชาสัมพันธ์ให้กับเกษตรกรในพื้นที่ได้รับทราบข้อมูลการแพร่ระบาดของโรคลัมปี สกิน และให้สังเกตอาการป่วยหรืออาการผิดปกติของโค กระบือ หากพบตุ่มบนผิวหนังของสัตว์บริเวณต่าง ๆ ตามร่างกาย ภายในโพรงจมูก และช่องปาก หากพบสัตว์มีอาการดังกล่าวสามารถแจ้งข้อมูลได้ที่ปศุสัตว์พื้นที่กรุงเทพมหานคร ทั้ง 14 แห่ง ดังนี้

ปศุสัตว์พื้นที่ 1 รับผิดชอบพื้นที่เขตหนองจอก, ปศุสัตว์พื้นที่ 2 รับผิดชอบพื้นที่เขตมีนบุรี และคลองสามวา, ปศุสัตว์พื้นที่ 3 รับผิดชอบพื้นที่เขตลาดกระบัง และสะพานสูง

ปศุสัตว์พื้นที่ 4 รับผิดชอบพื้นที่เขตหลักสี่ ดอนเมือง บางเขน และสายไหม, ปศุสัตว์พื้นที่ 5 รับผิดชอบพื้นที่เขตบางซื่อ จตุจักร ดินแดง ลาดพร้าว และห้วยขวาง, ปศุสัตว์พื้นที่ 6 รับผิดชอบพื้นที่เขตบางกะปิ บึงกุ่ม คันนายาว และวังทองหลาง

ปศุสัตว์พื้นที่ 7 รับผิดชอบพื้นที่เขตดุสิต พญาไท ราชเทวี พระนคร และป้อมปราบศัตรูพ่าย, ปศุสัตว์พื้นที่ 8 รับผิดชอบพื้นที่เขตบางคอแหลม ยานนาวา สาทร บางรัก ปทุมวัน และสัมพันธวงศ์, ปศุสัตว์พื้นที่ 9 รับผิดชอบพื้นที่เขตสวนหลวง วัฒนา และคลองเตย

ปศุสัตว์พื้นที่ 10 รับผิดชอบพื้นที่เขตประเวศ พระโขนง และบางนา, ปศุสัตว์พื้นที่ 11 รับผิดชอบพื้นที่เขตตลิ่งชัน ทวีวัฒนา บางพลัด และบางกอกน้อย, ปศุสัตว์พื้นที่ 12 รับผิดชอบพื้นที่เขตราษฎร์บูรณะ บางกอกใหญ่ ธนบุรี คลองสาน และจอมทอง

ปศุสัตว์พื้นที่ 13 รับผิดชอบพื้นที่เขตหนองแขม บางแค บางบอน และภาษีเจริญ และปศุสัตว์พื้นที่ 14 รับผิดชอบพื้นที่เขตบางขุนเทียน และทุ่งครุ

หรือติดต่อสำนักควบคุม ป้องกันและบำบัดโรคสัตว์ (สบค.) กรมปศุสัตว์ หรือสายด่วนแจ้งโรคระบาดกรมปศุสัตว์ โทร 06 3225 6888 หรือแจ้งผ่านแอปพลิเคชัน DLD 4.0 “แจ้งการเกิดโรคระบาด” ได้ตลอดเวลา