คิกออฟวาระแห่งชาติ วัคซีน 5 ยี่ห้อพร้อมฉีดคนไทย 7 มิ.ย.

ท่ามกลางกระแสความสับสนในเรื่องของวัคซีนโควิด-19 ที่มีมาอย่างต่อเนื่องตลอดเวลากว่า 1 เดือนที่ผ่านมา นอกจากจะสร้างความกังวลให้กับประชาชนจำนวนมากแล้ว อีกด้านหนึ่งหลาย ๆ ฝ่ายยังเกรงว่าจะเป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลกระทบกับการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของประเทศในระยะยาวตามมา

การสร้างความเชื่อมั่น ด้วยวาระการคิกออฟการฉีดวัคซีนวาระแห่งชาติ ที่ถูกกำหนดขึ้นในวันที่ 7 มิถุนายนนี้ นับเป็นความเคลื่อนไหวครั้งสำคัญที่ถูกจับตามองอย่างยิ่ง

ทั้งนี้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม จะกดปุ่มเปิด “วาระแห่งชาติ” ฉีดวัคซีนโควิด-19 ทั่วประเทศ ที่จุดฉีดวัคซีนสถานีกลางบางซื่อ ที่บริหารจัดการร่วมกันระหว่างกระทรวงคมนาคม และกรุงเทพมหานคร (กทม.) โดยมี นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) รวมทั้ง พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าฯ กทม. ร่วมด้วย

ในวันคิกออฟ วาระแห่งชาติฉีดวัคซีน 7 มิถุนายนนี้ นายกรัฐมนตรีจะสร้างความมั่นใจเรื่องแผนการจัดการวัคซีน โดยศูนย์บริหารสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) ซึ่งมีการปรับการจัดสรรใหม่ ยึดเป้าหมายจังหวัด พื้นที่ระบาด และพื้นที่ทางเศรษฐกิจ โรงงานอุตสาหกรรมที่ผลิตสินค้าส่งออก ที่เป็นเครื่องยนต์ทางเศรษฐกิจที่สำคัญ โดยจะปรับแผนแบบสัปดาห์ต่อสัปดาห์

นอกจากนี้ ศบค.ยืนยันว่า มีวัคซีนเตรียมให้บริการประชาชน 3 ยี่ห้อ คือ 1.ซิโนแวค 2.แอสตร้าเซนเนก้า เดิมตามแผน 6 ล้านโดส จะเริ่มฉีดในเดือนมิถุนายน 2564 3.ซิโนฟาร์ม ที่นำเข้าโดยราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ รวมทั้งวัคซีนทางเลือก จอห์นสัน แอนด์ จอห์นสัน นำเข้าโดยบริษัท แจนเซ่น-ซีแลก จำกัด และ วัคซีนโมเดอร์นา นำเข้าโดยบริษัท ซิลลิค ฟาร์มา จำกัด ที่ผ่านการอนุมัติจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) แล้ว

สถานีกลางบางซื่อพร้อม 100%

จากการสำรวจของผู้สื่อข่าวพบว่า ขณะนี้ศูนย์ฉีดวัคซีนสถานีกลางบางซื่อ มีความพร้อมที่จะรองรับการคิกออฟวาระแห่งชาติครั้งนี้แล้ว ซึ่งที่ผ่านมาก่อนหน้านี้ ทั้ง นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้ลงพื้นที่ตรวจความพร้อมมาก่อนแล้ว

ศูนย์ฉีดวัคซีนดังกล่าวได้จัดการบริการเป็น 4 จุด โดยจุดที่ 1 เป็นที่พักคอย รองรับได้ 1,400 ที่นั่ง จุดที่ 2 เป็นพื้นที่ลงทะเบียนข้อมูลเซ็นใบยินยอม รองรับได้ 179 โต๊ะ จุดที่ 3 จุดฉีดวัคซีน รองรับได้ 100 โต๊ะ จุดที่ 4 จุดพักรอสังเกตอาการ มีประมาณ 800 ที่นั่ง สามารถรองรับการฉีดวัคซีน 900 คน/ชั่วโมง หรือเป้าหมายสูงสุด 1 หมื่นคน/วัน

นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า ความคืบหน้าในการให้บริการฉีดวัคซีนที่จุดฉีดสถานีกลางบางซื่อ ซึ่งใช้พื้นที่ 14,200 ตารางเมตร ตั้งแต่วันที่ 24 พฤษภาคม-3 มิถุนายน 2564 มีสถิติฉีดวัคซีนให้กับข้าราชการ องค์กรของรัฐ และบุคลากรที่ให้บริการด้านขนส่งสาธารณะ ซึ่งอยู่ในข่ายเสี่ยงสูงจากการพบปะและดูแลประชาชนจำนวนมาก รวมทั้งสิ้น 115,074 ราย เป็นบุคลากรหน่วยงานรัฐ 98,654 ราย หรือประมาณ 85.73% ผู้ให้บริการขนส่งสาธารณะ 16,420 ราย หรือ 14.27%

โดยสถิติการฉีดวัคซีน ณ วันที่ 3 มิถุนายน 2564 เพียงวันเดียว มีผู้เข้ามาใช้บริการเป็นจำนวนมาก เฉลี่ยเกือบ 1,800 คนต่อชั่วโมง สูงกว่าที่ได้ประมาณการไว้เดิมที่ 900 คนต่อชั่วโมง จึงคาดว่าก่อนสิ้นปี 2564 นี้ จะสามารถฉีดวัคซีนได้มากกว่า 2 ล้านคน

และในวันที่ 7 มิถุนายนนี้เป็นต้นไป มั่นใจว่ามีความพร้อม 100% ในการเปิดให้ประชาชนที่ลงทะเบียนผ่านระบบเครือข่ายโทรศัพท์มือถือเข้ารับการฉีดวัคซีน

ทั้งนี้ สิ่งที่ต้องการเน้นย้ำ คือ ศูนย์ฉีดวัคซีนสถานีกลางบางซื่อ ยังไม่เปิดรับผู้ต้องการฉีดแบบ walk in แต่อย่างใด

ขณะเดียวกัน องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) ได้จัดเตรียมรถปรับอากาศ ขสมก. และรถ shuttle bus อำนวยความสะดวกการเดินทางระหว่างสถานีกลางบางซื่อ และจุดสำคัญ จำนวน 3 เส้นทาง ได้แก่ เส้นทางที่ 1 ท่าน้ำบางโพ-สถานีเตาปูน (รถไฟฟ้าสายสีม่วง), เส้นทางที่ 2 อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ

และเส้นทางที่ 3 หน้าห้างเซ็นทรัลลาดพร้าว-BTS หมอชิต/MRT จตุจักร-สถานีขนส่งผู้โดยสารกรุงเทพ (จตุจักร) (หมอชิต 2) เป็นวงรอบ

“พร้อมฉีด” วันละ 2 หมื่นคน

แพทย์หญิงมิ่งขวัญ วิชัยดิษฐ ผู้อำนวยการสถาบันโรคผิวหนัง ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์ฉีดวัคซีนกลางบางซื่อ กล่าวว่า เบื้องต้นมีการเตรียมงานต่าง ๆ พร้อมเกือบทั้งหมดแล้ว เนื่องจากก่อนหน้านี้ตั้งแต่วันที่ 26 พฤษภาคม-6 มิถุนายนที่ผ่านมา ได้ทดลองระบบร่วมกับกระทรวงคมนาคม เพื่อบริการฉีดผู้ประกอบอาชีพขนส่งสาธารณะ

ขณะนี้ขาดแต่ทีมบุคลากรทางการแพทย์ อาทิ แพทย์ พยาบาล ทันตแพทย์ ที่จะมาช่วยฉีดอีกราว 40 คน เพื่อช่วยฉีดวัคซีนใน 80 จุด โดยจะมีการแบ่งทีมฉีดและทีมเตรียมวัคซีน เพื่อความรวดเร็วในการบริการ

โดยตั้งแต่วันที่ 7 มิ.ย.เป็นต้นไป จะเริ่มให้บริการแก่ 1.กลุ่มองค์กรที่ประสานมายังสาธารณสุข 5,000 คนต่อวัน 2.ประชาชนทั่วไปที่ลงทะเบียนผ่านผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถือ และบริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน) 5,000 คนต่อวัน

ทั้งนี้ ศักยภาพในการฉีดของศูนย์ฉีดวัคซีนสถานีกลางบางซื่อสามารถรองรับได้ถึงวันละ 20,000 คน หรือเฉลี่ย 1 เดือน จะฉีดประชาชนได้ราว 3-4 แสนคน และคาดว่าหลังจากระดมฉีดวัคซีนป้องกันโควิด 3 เดือน เฉพาะศูนย์ฉีดวัคซีนสถานีกลางบางซื่อปลายเดือน ส.ค. จะครอบคลุมประชาชนในเขตกรุงเทพฯและจังหวัดข้างเคียงได้ราว 1.25 ล้านคน

วัคซีนมาน้อย-ความต้องการฉีดมาก

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นอกจากความพร้อมของศูนย์ฉีดวัคซีนสถานีกลางบางซื่อดังกล่าว กระทรวงสาธารณสุข โดยกรมควบคุมโรค ได้แจ้งการส่งและส่งวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า รอบประเดิม 2.4 แสนโดส ไปยัง 58 จังหวัด จังหวัดละ 3,600 โดสด้วยวัคซีนที่กระจายออกไปมีไม่มากนัก เมื่อเทียบกับความต้องการ ทำให้เกิดการวิพากษ์วิจารณ์ รวมกับการที่โรงพยาบาลรัฐและเอกชนหลาย ๆ แห่งประกาศเลื่อนฉีดวัคซีนออกไป

อย่างไรก็ตาม เมื่อวันที่ 4 มิถุนายนท่ีผ่านมา บริษัท แอสตร้าเซนเนก้า ประเทศไทย ได้ส่งมอบวัคซีนที่ผลิตในประเทศไทย 1.8 ล้านโดส โดยที่ นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ยืนยันว่าวัคซีนจำนวนดังกล่าวจะถูกส่งให้กับโรงพยาบาลทั่วประเทศภายในสัปดาห์นี้

ขณะที่นายอนุทิน ชาญวีรกูล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ยืนยันว่า ไม่เคยคิดจะเลื่อนการฉีดวัคซีน จากนี้จะกระจายวัคซีนจากแอสตร้าเซนเนก้าไปทุกจังหวัดตามแผนที่วางไว้

ส่วนเป้าหมายการฉีดปูพรมเข็มที่ 1 ครอบคลุมร้อยละ 70 ของประชากร หรือ 50 ล้านคน ภายในเดือนกันยายนจะเป็นไปได้หรือไม่ ต้องลุ้นกันต่อไป