สปสช.จ่อจ่ายเงินเยียวยา หญิงวัย 46 ปี เสียชีวิตหลังฉีดแอสตร้าเซนเนก้า

หญิง 46 ปี ดับหลังฉีดวัคซีน

สปสช. เตรียมจ่ายเงินเยียวยาคอรบครัว หญิงวัย 46 ปี เสียชีวิตหลังฉีดวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า เผยยื่นเรื่องรับเยียวยาแล้ว 386 ราย 

วันที่ 9 มิถุนายน 2564 จากกรณี น.ส.ปัญพัสตร์ อิทธิธนาวงษ์ อายุ 46 ปี เสียชีวิต เมื่อช่วงค่ำวันที่ 8 มิถุนายน หลังเข้ารับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 “แอสตร้าเซนเนก้า” เข็มแรก ที่ศูนย์ฉีดวิทยาลัยเทคโนโลยีไทยบริหารธุรกิจ โดยผลชันสูตรเบื้องต้นพบว่า มีความผิดปกติของระบบไหลเวียนเลือด และมีภาวะเลือดคั่งในหัวใจ ตามที่เสนอข่าวไปแล้วนั้น

ล่าสุด มติชนรายงานว่า นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการ สปสช. กล่าวว่า ทันทีเมื่อทราบข่าวการเสียชีวิต ได้ส่งเจ้าหน้าที่จากสำนักงาน สปสช. เขต 13 ลงไปในพื้นที่เพื่อติดตามประสานงานในเรื่องการจ่ายเงินช่วยเหลือเบื้องต้น

ตามหลักเกณฑ์ของ สปสช. เมื่อมีผู้ได้รับความเสียหายหลังจากฉีดวัคซีน ไม่ว่าจะเป็นอาการเล็กน้อยไปจนกระทั่งกรณีเสียชีวิต สปสช.จะพิจารณาจ่ายเงินช่วยเหลือเบื้องต้นให้ก่อน ซึ่งคำว่าเบื้องต้นนี้ ไม่ได้หมายถึงการพิสูจน์ถูกผิดว่าเกิดจากวัคซีนหรือไม่ แต่เป็นการบรรเทาความเสียหายที่เกิดขึ้นแก่ประชาชน โดยเมื่อใดที่ฉีดวัคซีนแล้วเกิดผลกระทบก็จะพิจารณาจ่ายให้โดยเร็วที่สุด แม้ว่าต่อมาในภายหลังจะมีการพิสูจน์ว่าสาเหตุของผลกระทบไม่ได้เกิดจากวัคซีน ก็จะไม่มีการเรียกเงินคืนแต่อย่างใด

“ในกรณีของผู้เสียชีวิตรายนี้ ปกติใช้สิทธิ์รักษาพยาบาลของสวัสดิการข้าราชการ อย่างไรก็ตาม ในกรณีของการเยียวยาผลกระทบหลังฉีดวัคซีน สปสช.ซึ่งดูแลผู้ใช้สิทธิ์บัตรทอง จะดำเนินการช่วยเหลือเยียวยาให้แก่ประชาชนทุกสิทธิ ทั้งสวัสดิการข้าราชการ ประกันสังคม ไม่จำกัดว่าจะดูแลแต่สิทธิบัตรทองเพียงอย่างเดียว” นพ.จเด็จ กล่าว

สำหรับหลักเกณฑ์การจ่ายเงินช่วยเหลือเบื้องต้นจะแบ่งเป็น 3 ระดับ คือ มีอาการป่วยต้องรักษาต่อเนื่อง จ่ายไม่เกิน 1 แสนบาท เกิดความเสียหายถึงขั้นสูญเสียอวัยวะหรือพิการจนมีผลต่อการดำรงชีวิต จ่ายไม่เกิน 2.4 แสนบาท และกรณีเสียชีวิตหรือทุพพลภาพถาวร จ่ายไม่เกิน 4 แสนบาท

ผู้ได้รับผลกระทบหลังฉีดวัคซีนสามารถยื่นเรื่องได้ 3 จุด คือ ที่โรงพยาบาลที่ไปรับการฉีด สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) และ สปสช. เขตต่างๆ 13 เขตทั่วประเทศ โดยแต่ละเขตจะมีคณะอนุกรรมการพิจารณาวินิจฉัยคำร้องขอรับเงินช่วยเหลือเบื้องต้น ทำการพิจารณาคำร้องให้แล้วเสร็จภายใน 5 วัน

ขณะที่ ข้อมูลล่าสุด วันที่ 7 มิถุนายน 2564 มีผู้ได้รับผลกระทบจากการฉีดวัคซีนป้องกันโควิดยื่นเรื่องรับการเยียวยาแล้ว 386 ราย มีการจ่ายเยียวยาแล้ว 262 ราย โดยกรณีเสียชีวิตจ่ายเยียวยาไปแล้ว 5 ราย ยังไม่รวมกรณีของหญิงวัย 46 ปีที่เพิ่งเสียชีวิต