สภา กทม. เร่งพิจารณางบฯรายจ่ายเพิ่มเติมปี 64 แก้ไขปัญหาโควิด-19

สภา กทม.เร่งพิจารณางบฯรายจ่ายเพิ่มเติมปี 64 แก้ไขปัญหาโควิด-19 พร้อมตรวจ แนะนำและควบคุมอย่างเข้มงวดประกอบการตลาด

วันที่ 9 มิ.ย. 64 นายคำรณ โกมลศุภกิจ ประธานสภากรุงเทพมหานคร เป็นประธานการประชุมสภากรุงเทพมหานคร สมัยประชุมวิสามัญ สมัยที่สอง (ครั้งที่ 2) ประจำปีพุทธศักราช 2564 โดยมี สมาชิกสภากรุงเทพมหานคร พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร คณะผู้บริหารกรุงเทพมหานคร และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมประชุม ณ ห้องประชุมสภากรุงเทพมหานคร อาคารไอราวัตพัฒนา ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร ดินแดง


พล.ต.ท.โสภณ พิสุทธิวงษ์ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เสนอร่างข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เรื่อง งบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 (ฉบับที่ ..) พ.ศ. … โดยจ่ายขาดจากเงินสะสมของกรุงเทพมหานคร 

ทั้งนี้ เนื่องจากกรุงเทพมหานครมีความจำเป็นในการดำเนินการป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ที่ปรากฏสถานการณ์การแพร่ระบาดขึ้นใหม่ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร และพบผู้ติดเชื้อเป็นจำนวนมาก กรุงเทพมหานครจึงจำเป็นต้องใช้จ่ายงบประมาณกว่า 399 ล้านบาท เพื่อแก้ไขปัญหา ป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาด รวมทั้งรักษาพยาบาลผู้ติดเชื้อดังกล่าว  

ทั้งนี้ สภากรุงเทพมหานครได้มีมติตั้งคณะกรรมการวิสามัญพิจารณาร่างข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เรื่อง งบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 (ฉบับที่ ..) พ.ศ. … จำนวน 21 คน และกำหนดให้พิจารณาให้แล้วเสร็จภายใน 30 วัน เนื่องจากร่างข้อบัญญัติฯฉบับนี้จำเป็นต้องใช้ในการแก้ปัญหาเร่งด่วนในกรุงเทพมหานคร 

จากนั้น นายพรเทพ ศิริวนารังสรรค์ เสนอญัตติขอให้กรุงเทพมหานครปรับปรุงสุขาภิบาลตลาดและสถานที่ต่างๆ ในการป้องกันและควบคุมโรค เนื่องจากสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโรคโควิด-19 ในปัจจุบันมีการแพร่ระบาดที่เชื่อมโยงจากตลาดต่างๆ อาทิ ตลาดบางแคและตลาดในเขตสะพานสูง รวมทั้งตลาดสดและตลาดอื่นๆ ในกรุงเทพฯ 

โดยเฉพาะตลาดประเภทที่ 2 (ไม่มีโครงสร้างอาคารถาวร) ซึ่งส่วนหนึ่งเกิดจากการไม่ปฏิบัติตามกฎหมายโดยเฉพาะไม่มีระบบระบายอากาศภายในตลาดที่เพียงพอ ทำให้ง่ายต่อการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 และยากต่อการควบคุมการระบาดของโรค รวมถึงแผงค้าที่ไม่ถูกสุขลักษณะเป็นแหล่งเพาะเชื้อโรคต่างๆ มีสัตว์ที่เป็นพาหะนำโรค เช่น แมลงสาบ หนู จำนวนมาก ส่งผลให้ตลาดเป็นแหล่งแพร่เชื้อโรคติดต่ออันตราย เช่น วัณโรค เป็นต้น  

ประกอบกับตลาดบางแห่งไม่ปฏิบัติตามมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 และไม่ปฏิบัติตามมาตรการป้องกันสุขอนามัยส่วนบุคคลอย่างเคร่งครัด ดังนั้นเพื่อเป็นการป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาดของเชื้อโรคโควิด-19 และโรคติดต่อต่างๆ จึงควรให้มีการปรับปรุงตลาดในกรุงเทพฯ ให้ได้มาตรฐานตามพระราชบัญญัติการสาธารณสุข พ.2535 ทั้งตลาดของกรุงเทพมหานครและตลาดเอกชน เช่น ปรับปรุงระบบระบายอากาศ และสุขาภิบาลตลาด 

รวมทั้งให้ตรวจแนะนำและควบคุมอย่างเข้มงวดเพื่อให้ผู้ประกอบการตลาดปฏิบัติตามมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 อย่างเคร่งครัด โดยให้มีจุดบริการล้างมือและแอลกอฮอล์เจลติดตั้งไว้ภายในตลาดอย่างเหมาะสม รวมทั้งควบคุมกำกับให้ผู้ค้า และผู้บริโภคปฏิบัติตามมาตรการรักษาสุขอนามัยส่วนบุคคลอย่างเคร่งครัด 

โดยเฉพาะการสวมหน้ากากอนามัยอย่างถูกต้องของผู้ค้า ลูกจ้างแผงค้า และผู้บริโภค ตลอดเวลาที่อยู่ในตลาด มีการเว้นระยะห่างระหว่างบุคคลที่เหมาะสม

โดยสภากรุงเทพมหานคร เห็นชอบตั้งคณะกรรมการวิสามัญศึกษาการสุขาภิบาลตลาดและสถานที่ต่างๆ ในการป้องกันและควบคุมโรค จำนวน 15 คน กำหนดระยะเวลาการพิจารณา 80 วัน