ศบค. เจออีก 7 คลัสเตอร์โรงงาน-ตลาด “กทม.” ห่วง 3 คลัสเตอร์ใหม่

แพทย์หญิงอภิสมัย ศรีรังสรรค์
แพทย์หญิงอภิสมัย ศรีรังสรรค์

ศบค. รายงานพบ 7 คลัสเตอร์จากโรงงาน-ตลาด ใน 10 อันดับจังหวัดมีผู้ติดเชื้อมากสุด ด้าน กทม. เจออีก 3 คลัสเตอร์ “หลักสี่-บางรัก-ภาษีเจริญ” ยังพบจากแคมป์ก่อสร้าง-ตลาด-โรงงาน รุกตรวจตลาดทั่วกรุงให้ครบ 100% วันที่ 14 มิ.ย. 64

วันที่ 11 มิถุนายน 2564 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า แพทย์หญิงอภิสมัย ศรีรังสรรค์ ผู้ช่วยโฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) เปิดเผยถึงตัวเลขผู้ติดเชื้อโควิด-19 ประจำวันว่า พบผู้ติดเชื้อรายใหม่เพิ่มขึ้น 2,290 ราย จำแนกเป็น ติดเชื้อใหม่ 1,996 ราย ติดเชื้อภายในเรือนจำ/ที่ต้องขัง 294 ราย หายป่วยกลับบ้าน 5,711 ราย ผู้ป่วยสะสม 160,965 ราย (ตั้งแต่ 1 เมษายน)

ขณะที่ตัวเลขผู้เสียชีวิตวันนี้ (11 มิ.ย.) เพิ่มขึ้น 27 ราย อยู่ในกรุงเทพมหานคร 17 ราย ปทุมธานี 2 ราย สมุทรสาคร 2 ราย สมุทรปราการ 1 ราย กาญจนบุรี 1 ราย กำแพงเพชร 1 ราย ชัยนาท 1 ราย ราชบุรี 1 ราย สระบุรี 1 ราย รวมเสียชีวิตสะสม (สะสมตั้งแต่ปี 2563) อยู่ที่ 1,402 ราย

ต่างจังหวัดเจออีก 7 คลัสเตอร์ใหม่

แพทย์หญิงอภิสมัยรายงาน 10 จังหวัดที่ยังมีการติดเชื้อ พบกรุงเทพมหานคร 942 ราย สมุทรปราการ 173 ราย นนทบุรี 102 ราย สมุทรสาคร 98 ราย นครปฐม 83 ราย สงขลา 70 ราย เพชรบุรี 56 ราย ปทุมธานี 50 ราย ชลบุรี 47 ราย และจันทบุรี 37 ราย ส่วนรายละเอียดในแต่ละจังหวัดมีดังนี้

  • จ.สมุทรปราการ มีรายงานพบคลัสเตอร์ใหม่ ที่ อ.บางเสาธง เป็นบริษัทส่งออกเสื้อถักไหมพรม โดยจากการรายงานเมื่อวานนี้ (10 มิ.ย.) พบผู้ป่วยรายใหม่ 61 ราย
  • จ.นนทบุรี ยังอยู่ที่แคมป์ก่อสร้าง ซึ่งมีแรงงานชาวไทย ชาวเมียนมา และกัมพูชา กระจายใน 3 อำเภอ และที่ อ.บางใหญ่ มีรายงานผู้ติดเชื้อจากตลาดบางใหญ่ทั้งสิ้น 12 ราย
  • จ.นครปฐม มีรายงานพบคลัสเตอร์ใหม่ ที่โรงงานไก่ อ.สามพราน โดยเมื่อวานนี้ (10 มิ.ย.) พบเป็นกลุ่มก้อนเดียวจำนวน 63 ราย และคงจะต้องมีรายงานต่อเนื่อง เพราะเราจะเห็นการรายงานจากโรงชำแหละไก่ ต่อเนื่องในหลายพื้นที่ กรมควบคุมโรคพยายามติดตามและจะนำรายละเอียดมารายงาน
  • จ.สงขลา พบ 2 คลัสเตอร์ใหม่ อ.เมือง ตลาดวชิรา มีผู้ติดเชื้อ 7 ราย อ.สะเดา เป็นโรงงานถุงมือยาง มีผู้ติดเชื้อ 19 ราย
  • จ.เพชรบุรี เป็นการรายงานต่อเนื่องของโรงงานผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งมีทั้งแรงงานเมียนมา กัมพูชา อินเดีย และจีน พบผู้ติดเชื้อเพิ่ม 4 ราย ทำให้ยอดป่วยสะสมแล้ว 5,096 ราย อีกทั้งยังพบคลัสเตอร์ใหม่ จากโรงงานเฟอร์นิเจอร์ ที่ อ.เขาย้อย พบผู้ติดเชื้อ 24 ราย
  • จ.ปทุมธานี ยังคงตรวจต่อเนื่องในส่วนของตลาดสี่มุมเมือง ซึ่งมีทั้งชาวไทย เมียนมา กัมพูชา และลาว โดยพบผู้ติดเชื้อเพิ่ม 13 ราย ทำให้ยอดป่วยสะสมแล้ว 1,704 ราย และมีรายงานพบคลัสเตอร์ใหม่ จากบริษัท ไทสัน โพลทรี่ (ไทยแลนด์) จํากัด เป็นโรงงานแปรรูปชำแหละไก่ ที่ส่งขายทั้งในและนอกประเทศ มีพนักงาน 2,056 ราย ผลตรวจเป็นบวกแล้ว 1,114 ราย หรือคิดเป็น 54.18%
  • จ.จันทบุรี มีรายงานคลัสเตอร์ใหม่ อ.โป่งน้ำร้อน ในตลาดไทย-กัมพูชา และเขตชุมชน มีผู้ติดเชื้อจากการรายงานเมื่อวานนี้ (10 มิ.ย.) 13 ราย

“ชี้ให้เห็นว่า ส่วนหนึ่งเป็นการค้นพบผู้ติดเชื้อจากระบบเฝ้าระวังที่มีประชาชนมีอาการผิดปกติ ได้เข้ามารับการรักษาในโรงพยาบาล และมีการติดตามเชิงรุกกับผู้สัมผัสเสี่ยงสูงและเสี่ยงต่ำ และอีกอย่างคือ การคัดกรองเชิงรุกในตลาด ชุมชน แคมป์คนงานก่อสร้าง ทำให้ยังเจอผู้ติดเชื้ออยู่อย่างต่อเนื่อง”

กทม.ห่วง 3 คลัสเตอร์ใหม่

สำหรับในกรุงเทพมหานคร มีรายงานและเฝ้าระวัง 3 คลัสเตอร์ใหม่ ดังนี้

  • เขตหลักสี่ : แคมป์ก่อสร้าง วรสิทธิ์ มีคนงาน 211 ราย พบผลติดเชื้อโควิด 59 ราย
  • เขตบางรัก : ตลาดซอยละลายทรัพย์ มีผลตรวจป่วยยืนยันแล้ว 20 ราย ในจำนวนดังกล่าวเป็นพ่อค้าแม่ค้าอยู่ในตลาด 13 ราย และติดตามสอบสวนโรคจนพบการติดเชื้อในครอบครัว 7 ราย
  • เขตภาษีเจริญ : โรงงานเย็บผ้า ซีจีพี การ์เม้นท์ ตรวจตั้งแต่วันที่ 8 มิถุนายน จำนวน 330 ราย พบผู้ติดเชื้อ 37 ราย

ในส่วนของตลาดที่ได้นำเสนอไปเมื่อวานนี้ (10 มิ.ย.) กทม.ยังรายงานซ้ำอีกครั้ง เนื่องจากในวันที่ 14 มิถุนายน จะมีการตรวจเชิงรุกให้ครบ 100% ของจำนวนตลาดทั้งหมด 50 เขตใน กทม. มีทั้งสิ้น 486 ตลาด โดยตั้งแต่วันที่ 24 พฤษภาคม-10 มิถุนายน มีการตรวจค้นหาไปแล้ว 406 แห่ง โดยเฉพาะเมื่อวาน (10 มิ.ย.) วันเดียว ระดมตรวจไป 42 ตลาด แบ่งเป็น ตลาดใหม่ 27 แห่ง และตลาดที่ตรวจซ้ำ 15 แห่ง

ทั้งนี้ พบว่า มีตลาด 20 แห่ง ที่ผ่านมาตรฐานของทาง กทม. และอีก 7 แห่ง ยังไม่ผ่าน จากที่เคยรายงานไปพบว่า สาเหตุที่ไม่ผ่านมาตรฐานส่วนหนึ่งเป็นเรื่องของการเว้นระยะห่างระหว่างบุคคล ตลาดแออัด แผงค้าหนาแน่น ไม่มีการควบคุมการเข้าออก ไม่มีการสแกนไทยชนะ

“ในส่วนของความสะอาด คงต้องเน้นย้ำประชาชนในพื้นที่ พอมีการรายงานว่า มีตลาดไม่ผ่านมาตรฐาน 7 แห่ง ต้องเกิดข้อสงสัยได้แล้วว่าใน 7 แห่งดังกล่าว ใช่ตลาดที่อยู่แถวบ้านเรา ชุมชนเรา ที่คุณพ่อคุณแม่ไปจับจ่ายใช้สอยหรือเปล่า ทางกรมควบคุมโรคขอความร่วมมือ ให้ตรวจสอบตลาดและก็สถานที่ชุมชนของเรา”