ค่าความเค็มโจมตีแม่น้ำเจ้าพระยา สูงสุด 7.5 กรัม/ลิตร กรุงเทพฯ มีฝน 40%

แม่น้ำเจ้าพระยา
PHOTO : Mladen ANTONOV / AFP

กรมอุตุนิยมวิทยา รายงานพายุโซนร้อน “โคะงุมะ” เคลื่อนตัว ส่งผลกรุงเทพมหานคร มีฝนร้อยละ 40 ของพื้นที่ ภาคเหนือ-อีสาน ฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่ง ระดับค่าความเค็มโจมตีแม่น้ำเจ้าพระยา สูงสุด 7.5 กรัม/ลิตร

วันที่ 13 มิถุนายน 2564 กรมอุตุนิยมวิทยา พยากรณ์อากาศ 24 ชั่วโมงข้างหน้า ร่องมรสุมพาดผ่านตอนบนของภาคเหนือและประเทศลาวตอนบน เข้าสู่พายุโซนร้อน “โคะงุมะ” บริเวณอ่าวตังเกี๋ย ประเทศเวียดนาม ประกอบกับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้กำลังแรงยังคงพัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทย และอ่าวไทย

ลักษณะเช่นนี้ทำให้บริเวณภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันออก และภาคใต้ฝั่งตะวันตก มีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่ง ขอให้ประชาชนบริเวณดังกล่าวระวังอันตรายจากฝนตกหนักและฝนที่ตกสะสมในระยะนี้ไว้ด้วย

สำหรับคลื่นลมบริเวณทะเลอันดามันและอ่าวไทยตอนบนมีกำลังแรง โดยทะเลอันดามันมีคลื่นสูง 2-3 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 3 เมตร ส่วนบริเวณอ่าวไทยตอนบนมีคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร ขอให้ชาวเรือบริเวณทะเลอันดามันและอ่าวไทยตอนบนควรเพิ่มความระมัดระวังในการเดินเรือ เรือเล็กบริเวณทะเลอันดามันตอนบนควรงดออกจากฝั่งในระยะนี้

อนึ่ง พายุโซนร้อน “โคะงุมะ” บริเวณอ่าวตังเกี๋ย ประเทศเวียดนาม คาดว่าจะเคลื่อนขึ้นฝั่งประเทศเวียดนามตอนบน ในเช้าวันนี้ (13 มิ.ย. 64) ลักษณะเช่นนี้ส่งผลทำให้ร่องมรสุมยังคงพาดผ่านบริเวณภาคเหนือตอนบนและประเทศลาวตอนบน ทำให้บริเวณภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่ง

กรุงเทพมหานครและปริมณฑล : มีฝนร้อยละ 40 ของพื้นที่ อุณหภูมิต่ำสุด 26-28 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 32-35 องศาเซลเซียส ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 10-25 กม./ชม.

ในรอบ 24 ชั่วโมงที่ผ่านมา (07.00 น.) : พื้นที่กรุงเทพมหานครมีฝนตกเล็กน้อยถึงปานกลาง ปริมาณฝนสูงสุดที่จุดวัดคลองบางนา -ถนนศรีนครินทร์ เขตบางนา 16.0 มม. จุดวัดสถานีสูบน้ำคลองแจงร้อน เขตราษฏร์บรูณะ 11.0 มม. จุดวัดประตูระบายน้ำคลองวัดด่าน เขตยานนาวา 8.0 มม. จุดวัดสถานีสูบน้ำคลองสี่บาท เขตจอมทอง 7.0 มม. ไม่มีรายงานจุดเร่งการระบายน้ำในถนนสายหลัก ที่สำนักการระบายน้ำรับผิดชอบ

รายงานค่าระดับน้ำแนวคันกั้นน้ำด้านตะวันออกวันนี้ (13 มิถุนายน 2564)

  • ประตูระบายน้ำคลองสอง (สายใต้) (ระดับวิกฤติ +1.80) เวลา 07.00 น. ระดับ +0.10 ระดับปกติ
  • ประตูระบายน้ำแสนแสบ (มีนบุรี) (ระดับวิกฤติ +0.90) เวลา 07.00 น. ระดับ -0.50 ปกติ
  • ประตูระบายน้ำลาดกระบัง (ระดับวิกฤติ +0.60) เวลา 07.00 น. ระดับ -0.56 ปกติ

ระดับน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาขึ้นสูงสุดวานนี้ ( 12 มิถุนายน 2564)

  • ประตูระบายน้ำปากคลองตลาด ระดับ +0.95 ม.รทก. เวลา 22:00 น.
  • สถานีสูบน้ำบางนา ระดับ +1.20 ม.รทก. เวลา 22:00 น.
  • สถานีสูบน้ำบางเขนใหม่ ระดับ +0.82 ม.รทก. เวลา 23:00 น.

ฐานน้ำขึ้นสูงสุดแม่น้ำเจ้าพระยา หน้าสถานีกองบัญชาการกองทัพเรือวันนี้ ( 13 มิถุนายน 2564)
ระดับ +1.02 ม.รทก. เวลา 23:05 น.

ปริมาณน้ำผ่านแม่น้ำเจ้าพระยาวันนี้ ( 13 มิถุนายน 2564 เวลา 06:00 น.) ได้แก่ นครสวรรค์ 166 ลบ.ม./วินาที, เขื่อนเจ้าพระยา 60 ลบ.ม./วินาที, ศูนย์ศิลปาชีพบางไทร (เฉลี่ย) 85 ลบ.ม./วินาที

รายงานความเค็มสูงสุดของแม่น้ำเจ้าพระยา วันที่ 12 มิถุนายน 2564 (ค่าความเค็มเกิน 1.2 กรัม/ ลิตร
ควรระมัดระวังในการใช้กับพืชทั่วไป)

  1. ส.แจงร้อน 7.5 กรัม/ลิตร เวลา 22:00 น.
  2. ส.ดาวคะนอง 5.7 กรัม/ลิตร เวลา 22:00 น.
  3. ส.บางกอกใหญ่ 4.4 กรัม/ลิตร เวลา 08:00 น.
  4. ส.เทเวศร์ 3.9 กรัม/ลิตร เวลา 05:00 น.
  5. ส.บางเขนใหม่ 0.2 กรัม/ลิตร เวลา 23:00 น.