คมนาคมประกาศ 5 สายด่วน หน่วยกู้ภัยเฉพาะกิจช่วงหน้าฝน

เปิด 5 สายด่วนรับฝนตก
ภาพโดย Mylene2401 จาก Pixabay

กระทรวงคมนาคม ประกาศ 5 สายด่วน หน่วยกู้ภัยเฉพาะกิจช่วงหน้าฝน เตรียมความพร้อมและใช้การปฏิบัติตามแผนบรรเทาสาธารณภัยอย่างเคร่งครัด และมีประสิทธิภาพ 

13 มิถุนายน 2564 การเตรียมพร้อมมาตรการรับมือสถานการณ์ช่วงฤดูฝนของกระทรวงคมนาคม นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ได้สั่งการให้หน่วยงานในสังกัดกระทรวงคมนาคม ติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด โดยเตรียมความพร้อมและใช้การปฏิบัติตามแผนบรรเทาสาธารณภัยอย่างเคร่งครัด และมีประสิทธิภาพ รวมถึงให้รายงานการดำเนินการมายังกระทรวงฯ ทันที เมื่อเกิดสถานการณ์

นอกจากนี้ ยังได้มอบหมายให้ผู้ตรวจราชการกระทรวงคมนาคมจัดแบ่งพื้นที่เพื่อกำกับดูแล ประสานกับหน่วยงานในพื้นที่ เพื่อให้สามารถแก้ไขปัญหาได้ทันท่วงที และส่งผลกระทบกับการเดินทางของประชาชนน้อยที่สุด พร้อมทั้งได้สั่งการให้หน่วยงานไปศึกษาและเก็บข้อมูลสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในอดีต มาถอดบทเรียนและประยุกต์ใช้ในการเตรียมความพร้อมป้องกันสถานการณ์ที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคต

และเพื่อใช้ประกอบการพิจารณาเสนอขอรับการจัดสรรงบกลาง นำมาดำเนินการฟื้นฟูถนนที่ได้รับความเสียหายจากสถานการณ์ต่างๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวดเร็ว และปลอดภัย

ทั้งนี้ สายด่วนติดต่อขอความช่วยเหลือ (โทรฟรีทุกเครือข่ายตลอด 24 ชม.) มีดังนี้

  1. สายด่วน 1356 กระทรวงคมนาคม
  2. สายด่วน 1586 กรมทางหลวง
  3. สายด่วน 1146 กรมทางหลวงชนบท
  4. สายด่วน 1690 การรถไฟแห่งประเทศไทย
  5. สายด่วนกรมเจ้าท่า 1199

สำนักแผนความปลอดภัย สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) รายงานว่า โครงสร้างการประสานสั่งการพิจารณาจากการจัดระดับความรุนแรงในแผนการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๕๘ อุทกภัยน้ำท่วมจะเป็นสาธารณภัยขนาดกลาง ซึ่งมีศูนย์บัญชาการเหตุการณ์จังหวัด โดยหน่วยงานในสังกัดกระทรวงคมนาคมในพื้นที่จังหวัดจะรายงานสภาพเหตุการณ์ให้กระทรวงคมนาคม

ในขณะเดียวกันกระทรวงคมนาคมได้ดำเนินการโดยจัดตั้งศูนย์ Command Center ภัยพิบัติกระทรวงคมนาคมเป็นศูนย์บัญชาการ ประสานสั่งการ รับแจ้งเหตุ ประสานข้อมูล/การสนับสนุนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภายในและภายนอก และรายงานเสนอผู้บริหารกระทรวงคมนาคม เพื่อเป็นการรองรับผลกระทบจากสถานการณ์น้ำท่วมอุทกภัยที่อาจจะเกิดขึ้นและส่งผลกระทบต่อการเดินทาง

มาตรการมีตั้งแต่ ขั้นเตรียมพร้อม (ป้องกันก่อนเกิดภัย) การดำเนินการ (รับมือขณะเกิดภัย) และการฟื้นฟูซ่อมแซม (หลังเกิดภัย) และจัดทำแผนปฏิบัติการเพื่อเป็นแนวทางการดำเนินการเตรียมการดังกล่าว อาทิ “กรมทางหลวง” เตรียมพร้อมเครื่องมือ เครื่องจักร สะพานเบลีย์ (สะพานเหล็ก) และจัดเจ้าหน้าที่คอยช่วยเหลือประชาชนที่อาจได้รับผลกระทบ ตลอด 24 ชั่วโมง

“กรมทางหลวงชนบท” เตรียมพร้อมเครื่องมือ เครื่องจักร สะพานเบลีย์ (สะพานเหล็ก) เตรียมความพร้อมเข้า
ดำเนินการถมวัสดุเชื่อมเส้นทางเพื่อให้ประชาชนสามารถใช้เส้นทางในการสัญจรได้โดยเร็ว กรณีประชาชนเข้าที่พักอาศัยไม่ได้จัดรถบรรทุกไว้ให้บริการรับส่งประชาชนในพื้นที่ประสบภัย รวมทั้งตั้งเต็นท์บริการประชาชนที่ประสบอุทกภัย แจกจ่ายอาหาร เครื่องดื่ม เครื่องอุปโภค บริโภค ที่จำเป็นให้กับผู้ประสบภัย

“การรถไฟแห่งประเทศไทย” จัดเตรียมอุปกรณ์ เครื่องมือต่าง ๆ ระดมบุคลากรและแรงงานที่ประจำอยู่ในพื้นที่ เพื่อให้ความช่วยเหลือหรือแก้ไข ปัญหา อุปสรรค ให้สถานการณ์กลับสู่สภาวะปกติโดยเร็วที่สุด จัดตั้งศูนย์ประสานงานประจำส่วนกลาง และในพื้นที่ประสบภัย ประสานงานกับฝ่ายที่เกี่ยวข้อง

“กรมเจ้าท่า” สนับสนุนยานพาหนะรถยนต์และเรือเข้าพื้นที่พร้อมให้การช่วยเหลือ หรือตามที่จังหวัดร้องขอช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยและขนย้ายสิ่งของที่จำเป็น รวมทั้งสนับสนุนถุงยังชีพ อาหาร เครื่องดื่ม

และ “กรมท่าอากาศยาน” เตรียมแผนรองรับสถานการณ์เพื่อให้ท่าอากาศยานยังสามารถปิดให้บริการได้ โดยเร่งสร้างคันกั้นน้ำรอบพื้นที่ทำอากาศยานและสูบระบายน้ำออกจากพื้นที่สู่ลำน้ำสาธารณะ สำหรับกรณีที่สถานการณ์อยู่ในภาวะวิกฤติจะเร่งขนย้าย อพยพ ผู้ประสบอุทกภัยในทำอากาศยาน เพื่อเคลื่อนย้ายออกอากาศยานสู่พื้นที่ปลอดภัยหรือศูนย์พักพิงชั่วคราวต่อไป