ศบค.เจอ 10 คลัสเตอร์ใหม่ อีก 8 จังหวัด Cluster กทม. ยอดพุ่ง 84 แห่ง

นายแพทย์ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน
นายแพทย์ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษก ศบค.

ศบค.เผยพบคลัสเตอร์ใหม่อีก 8 จังหวัด รวม 10 คลัสเตอร์ ทั้งโรงหมู ชุมชน บริษัทให้เช่าห้องเย็น โรงงานอาหารทะเล ปลาแช่แข็ง  โรงงานผลิตคอมเพรสเซอร์ แคมป์ก่อสร้าง ขณะที่ กทม.ยอดคลัสเตอร์ที่ต้องเฝ้าระวังเพิ่มขึ้นเป็น 84 คลัสเตอร์แล้ว โฆษก ศคบ. กราบขออภัยแผนกระจายวัคซีนขรุขระ

วันที่ 14 มิถุนายน 2564 นายแพทย์ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) รายงานสถานการณ์การติดเชื้อ COVID-19 ในประเทศวันนี้ว่า พบผู้ป่วยรายใหม่ 3,355 ราย ผู้ป่วยยืนยันสะสม 170,401 ราย หายป่วยแล้ว 130,518 ราย วันนี้เสียชีวิตเพิ่ม 17 ราย รวมเสียชีวิตสะสม 1,372 ราย

ส่วนข้อมูลสะสมตั้งแต่ปี 2563 มีผู้ป่วยยืนยันสะสม 199,264 ราย หายป่วยแล้ว 157,944 ราย เสียชีวิตสะสม 1,466 ราย

วันนี้มีผู้ป่วยยังรักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาลจำนวน  39,854 ราย มีผู้ป่วยอาการหนัก 1,261 ราย ในจำนวนนี้ต้องใส่เครื่องช่วยหายใจ 360 ราย

ระหว่างวันที่ 28 กุมภาพันธ์ – 13 มิถุนายน 2564 มีผู้รับวัคซีนสะสมทั้งหมดจำนวน 6,188,124 โดส

พบ 10 คลัสเตอร์ใหม่ อีก 8 จังหวัด

นายแพทย์ทวีศิลป์กล่าวว่า สำหรับคลัสเตอร์ที่พบใหม่วันนี้มีดังนี้

  • 1. จ.นครปฐม อยู่ที่ อ.สามพราน เป็นโรงงานไก่ วันที่พบ 10 มิ.ย. พบผู้ป่วย 216 ราย ล่าสุดยอดผู้ป่วยยืนยันสะสมเพิ่มขึ้นเป็น 279 รายแล้ว และที่ อ.เมืองนครปฐม เป็นโรงหมู พบเมื่อ 13 มิ.ย. พบผู้ป่วย 8 ราย
  • 2. จ.สมุทรปราการ ที่ อ.เมืองสมุทรปราการ มี 2 ที่ คือหมู่บ้านเอื้ออาทร พบเมื่อ 13 มิ.ย. มีผู้ติดเชื้อ 34 ราย และที่ชุมชนเทศบาล ต.บางเมือง พบผู้ติดเชื้อ 6 ราย
  • 3. จ.สมุทรสาคร ที่ อ.เมืองสมุทรสาคร มี 2 แห่ง คือ โรงงานอาหารทะเล พบเมื่อ 13 มิ.ย. มีผู้ป่วยรวม 12 ราย และที่โรงงานปลาแช่แข็ง พบเมื่อ 13 มิ.ย. เช่นกัน พบผู้ป่วย 6 ราย
  • 4. จ.ฉะเชิงเทรา ที่ อ.บางน้ำเปรี้ยว เป็นโรงงานผลิตคอมเพรสเซอร์ พบเมื่อ 13 มิ.ย. มีผู้ป่วยรวม 18 ราย
  • 5.จ.สงขลา ที่ อ.สะเดา เป็นโรงงานถุงมือยาง วันที่พบคือ 10 มิ.ย. มีผู้ป่วยรายใหม่ 22 ราย ล่าสุดพบเพิ่มเป็น 60 รายแล้ว และที่ อ.เมืองสงขลา เป็นบริษัทให้เช่าห้องเย็น พบเมื่อ 13 มิ.ย. พบผู้ป่วยรายใหม่ 21 ราย
  • 6.จ.นครศรีธรรมราช ที่ อ.เมือง ท่าศาลา และพรหมคีรี เป็นการสัมผัสกันในชุมชน พบเมื่อ 13 มิ.ย. รวมผู้ป่วยสะสม 83 ราย
  • 7.ปทุมธานี อ.ธัญบุรี เป็นแคมป์ก่อสร้างชาวไทย เมียนมา พบเมื่อ 13 มิ.ย. มีผู้ป่วย 5 ราย
  • 8.ชลบุรี อ.ศรีราชา เป็นแคมป์ก่อสร้าง พบเมื่อ 13 มิ.ย. พบผู้ติดเชื้อ 6 ราย

คลัสเตอร์เดิมใน ตจว. ยอดติดโควิดเพิ่มต่อเนื่อง

นอกจากนี้ยังมีที่ จ.ปัตตานี อ.เมืองปัตตานี เป็นโรงงานอาหารทะเลกระป๋อง พบเมื่อ 12 มิ.ย. ล่าสุดจำนวนผู้ติดเชื้อจากที่พบครั้งแรก 33 ราย เพิ่มเป็น 63 รายแล้ว

จ.ระนอง คลัสเตอร์แพปลา จากผู้ป่วย 15 ราย ตอนนี้เพิ่มเป็น 835 ราย

จ.ตรัง กระจายใน 2 จังหวัด เป็นโรงงานถุงมือยางและระบาดในชุมชน จากผู้ป่วย 18 ราย ล่าสุดเพิ่มเป็น 711 ราย

เช่นเดียวกับ จ.สระบุรี คลัสเตอร์โรงงานแปรรูปไก่ กระจายไป 5 จังหวัดแล้ว ล่าสุดจำนวนผู้ป่วยเพิ่มขึ้นเป็น 667 ราย

หรือที่ จ.กำแพงเพชร อ.เมือง กับ อ.พรานกระต่าย เป็นการสัมผัสกันในชุมชน ยอดผู้ติดเชื้อเพิ่มจาก 24 ราย เพิ่มเป็น 60 ราย

“ขอให้ประชาชนได้รับทราบและติดตามข้อมูลจากคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดที่จะลงรายละเอียดและเป็นการสร้างความรับรู้ภายในจังหวัดของแต่ละจังหวัด และฝากพี่น้องประชาชนได้ให้ความร่วมมือด้วย” นายแพทย์ทวีศิลป์กล่าว

กทม.ยอดเฝ้าระวังคลัสเตอร์เพิ่มเป็น 84 แห่ง

นายแพทย์ทวีศิลป์กล่าวต่อว่า สำหรับพื้นที่ กทม. สำนักอนามัย กทม.รายงานต่อที่ประชุมวันนี้ว่า มีคลัสเตอร์ที่ต้องเฝ้าระวังทั้งสิ้น 84 แห่งแล้ว ซึ่งก็เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ แต่ข่าวดีคือใน กทม.วันนี้ไม่มีคลัสเตอร์ใหม่เกิดขึ้น

กราบขออภัย ปัญหาแผนกระจายวัคซีน

ทั้งนี้ในช่วงเริ่มต้นของการแถลงข่าว นพ.ทวีศิลป์กล่าวชี้แจงถึงปัญหาการจัดสรรวัคซีนป้องกันโควิด-19 ว่า ที่ผ่านมาดีมานด์หรือความต้องการวัคซีนมีมาก มีการร้องขอให้ประชาชนเข้ามารับการฉีดวัคซีนกันจำนวนมาก แต่ปริมาณวัคซีนมีน้อย จึงเกิดปัญหาขึ้น

“ผมในฐานะที่เป็นโฆษก ศบค. ต้องรับผิดชอบแทนหน่วยงานต่าง ๆ ทั้งหมดที่ดูแลทางด้านนี้ ขอกราบขออภัยเป็นอย่างสูงต่อประชาชน พวกเราทำงานกันอย่างหนัก ทุกฝ่ายยืนยันว่า ต้องการหาวัคซีนมาโดยเร็วอย่างที่ตั้งใจ แต่ไม่ได้อย่างที่คิด ก็เลยเกิดขรุขระตรงนี้บ้าง” นายแพทย์ทวีศิลป์กล่าว และว่า

อย่างไรก็ตาม วันนี้ภาพบรรยากาศข่าวที่ออกมาแสดงถึงความสนใจของประชาชน ขอให้ทุกท่านติดตามตรงนี้ ทุกภาคส่วนทั้งกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ในฐานะผู้จัดหาวัคซีนก็ยังให้คำมั่นว่าจะทำหน้าที่อย่างเต็มที่ และอย่างดี รวมถึงเราก็ยังมีบริษัทที่ทำวัคซีนทางด้านนี้อยู่ในประเทศไทย เชื่อมั่นได้ว่าในความตั้งใจของทุก ๆ คน จะทำให้สิ่งเหล่านี้เดินต่อไปได้ดี และก้าวผ่านวิกฤตไปด้วยกัน

วันเดียวกัน (14 มิ.ย.) พล.อ.ณัฐพล นาคพาณิชย์ เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการ ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศปก.ศบค.) พร้อมด้วย พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าฯ กทม. และ นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค ร่วมกันแถลงข่าวชี้แจงกรณีความขัดแย้งเรื่องการบริหารจัดการวัคซีนระหว่าง กทม.และกระทรวงสาธารณสุข (สธ.)

นายแพทย์ทวีศิลป์กล่าวว่า สำหรับตัวลขการฉีดวัคซีนเพิ่มขึ้น 106,882 โดส แบ่งเป็นเข็มที่ 1 จำนวน 75,128 โดส เข็มที่ 2 อีก 31,754 โดส ตั้งแต่วันที่ 28 ก.พ.-13 มิ.ย. ฉีดสะสมแล้ว 6,188,124 โดส แบ่งเป็นวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า 1,621,574 โดส วัคซีนซิโนแวค 3,010,550 โดส มีการจำแนกตามพื้นที่ เช่น กทม.ที่มีการระบาดมาก ยอดการฉีดเข็มที่ 1 จำนวน 1,346,993 โดส คิดเป็น 17.5% เข็มที่ 2 อีก 369,401 โดส คิดเป็น 4.8%

ขณะที่ จ.ภูเก็ต ที่จะเป็นภูเก็ตโมเดลในการทำแซนด์บอกซ์ (Sand- Box) ฉีดเข็มที่ 1 ไปแล้ว 333,570 โดส คิดเป็น 60.9 และเข็มที่ 2 อีก 137,625 โดส คิดเป็น 4.8% (ตามตาราง)

“เมื่อมาแยกดูกรุงเทพมหานคร เนื่องจากเป็นจังหวัดที่มีการแพร่ระบาดของโรคนี้จำนวนมาก หลายคนบอกว่าน่าจะเริ่มมาฉีด ตรงนี้แหล่ะที่ทำให้แผนการฉีดวัคซีนไม่เป็นไปตามแผน เพราะว่าเราต้องมีการใช้วัคซีนจำนวนหนึ่งมาลงที่กรุงเทพมหานครด้วย จะเห็นยอดของ กทม. เข็มที่ 1 อยู่ที่ 17.5 % เข็มที่สอง 4.8%

ส่วนภูเก็ตเราวางไว้ว่าจะเป็นภูเก็ตโมเดล เป็นแซนด์บอกซ์ ซึ่งจะเป็นพื้นที่ที่มีการทดลองให้ได้รับการฉีดวัคซีนให้ได้มากที่สุด เพื่อจะเปิดจังหวัดภูเก็ตรองรับการท่องเที่ยวจากต่างชาติ ตอนนี้เข็มที่ 1 ฉีดไปได้แล้ว 60.9% และเข็มที่ 2 อยู่ที่ 25.1%” นายแพทย์ทวีศิลป์กล่าว