ทีม ศบค.ตอบ วัคซีนที่ไทยใช้ ป้องกันโควิดสายพันธุ์อินเดียไม่ได้ จริงหรือไม่ ?

วัคซีนไทยกันพันธุ์อินเดียได้หรือไม่

ที่ปรึกษา ศบค. รวบรวมข้อมูล หาคำตอบว่า วัคซีนที่ไทยใช้ ป้องกันโควิดสายพันธุ์อินเดียได้หรือไม่ ?

วันที่ 21 มิถุนายน 2564 ผศ.ดร.วรัชญ์ ครุจิต รองคณบดีฝ่ายวางแผนและพัฒนา คณะนิเทศศาสตร์และนวัตกรรมการจัดการ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) และที่ปรึกษา ศบค. โพสต์เฟซบุ๊กกรณี วัคซีนที่ไทยใช้ ป้องกันโควิดสายพันธุ์ Delta ไม่ได้ จริงหรือไม่ ? ดังนี้

มีคนส่งข้อมูลมาให้ผมหลายคน เกี่ยวกับประสิทธิภาพของวัคซีนที่เราใช้ คือ AstraZeneca และ Sinovac ต่อสายพันธุ์ Delta (อินเดีย) ซึ่งบอกว่า วัคซีนทั้งสองยี่ห้อนี้ ช่วยป้องกันสายพันธุ์อินเดียไม่ได้ ผมจึงลองรวบรวมข้อมูลดูครับ

ข้อมูลที่ผมรวบรวมมา มีดังนี้ครับ

1.ข้อมูลจากงานวิจัยหลายชิ้น ชี้ตรงกันกว่า วัคซีนที่มีประสิทธิภาพมากที่สุดในการป้องกันโควิดสายพันธุ์เดลต้า คือวัคซีน mRNA (ไฟเซอร์ / โมเดอร์นา) ซึ่งแม้จะลดประสิทธิภาพลงไปบ้าง แต่ก็ยังป้องกันได้ดีหลังจากฉีดสองเข็ม แต่ถ้าฉีดเข็มเดียว ก็น่าจะป้องกันไม่ได้มากเช่นกัน (33%)

2.แต่ผมจะไม่ใช้เวลากับการอธิบายรายละเอียดของ mRNA มาก เพราะในขณะนี้ไทยเรายังไม่มีใช้ ผมจึงจะลองให้ข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับวัคซีนสองชนิดที่เราใช้ ต่อสายพันธุ์ Delta (ซึ่งมีผู้ป่วยด้วยสายพันธุ์นี้ในไทยจริง ข้อมูลที่มีคือมีประมาณ 10% แต่ทั้งหมดอยู่ในสถานพยาบาล และยังไม่มีข้อมูลว่ามีการแพร่ระบาดที่ควบคุมไม่ได้

3.เริ่มกันที่ AstraZeneca การวิจัยชี้ว่าหากฉีดเข็มเดียว ภูมิคุ้มกันอาจจะยังขึ้นไม่พอต่อการป้องกันการติดเชื้อ แต่ถ้าฉีดสองเข็มแล้ว สามารถป้องกันการติดเชื้อแบบมีอาการได้ 60% และป้องกันการป่วยหนักได้ 92% ซึ่งก็ถือว่าเป็นอัตราที่สูงทีเดียว

4.ส่วน Sinovac นั้น ยังไม่มีรายงานการวิจัย แต่มีข่าวของรอยเตอร์สที่ว่า บุคลากรทางการแพทย์ของเมือง Kudus ที่มีการระบาดของสายพันธุ์ Delta นี้ ติดเชื้อไป 350 คน จากทั้งหมด 5,000 คน ทำให้มีความกังวลกันว่า Sinovac นั้นป้องกันสายพันธุ์ Delta ไม่ได้

เคสนี้ผมขอให้ข้อมูลเพิ่มดังนี้ครับ

– จากการให้สัมภาษณ์ของหัวหน้าหน่วยงานสาธารณสุขของเมือง Kudus ลงเว็บไซต์ท้องถิ่นคือ Jakarta Globe ตัวเลขคือมีบุคลากรการแพทย์ของเมืองติดเชื้อโควิดทั้งหมด 308 คน จากทั้งหมด 6,085 คน (ส่วนใหญ่ได้ฉีด Sinovac 2 เข็มแล้ว) ดังนั้นก็คิดเป็น 5% ของบุคลากรที่ติดเชื้อ

– 90% เป็นการติดเชื้อแบบไม่มีอาการ หรือไม่รุนแรง จึงให้กักตัวที่บ้าน ซึ่งหายแล้วและพร้อมกลับมาทำงานต่อ

– ดังนั้น หัวหน้าหน่วยงานท่านนี้จึงสรุปว่า วัคซีน Sinovac นั้น “มีประสิทธิภาพในการป้องกันไม่ให้เกิดอาการร้ายแรง”

5.เพราะฉะนั้น จึงสรุปได้ว่า ในการป้องกันการติดเชื้อโควิดสายพันธุ์ Delta นั้น วัคซีน mRNA (ไฟเซอร์/โมเดอร์น่า) สามารถสร้างภูมิได้สูงกว่าชนิดอื่น ๆ แต่ก็ต้องฉีดให้ครบ 2 เข็มเช่นกัน ส่วน AstraZeneca (และน่าจะ Johnson & Johnson ด้วย) หากฉีดครบ 2 เข็มแล้ว ก็ป้องกันการติดเชื้อได้ระดับหนึ่ง แต่ป้องกันการป่วยหนักได้ดีใกล้เคียงกับไฟเซอร์ ส่วน Sinovac ยังไม่มีผลการวิจัย แต่ผลจากกรณีเมือง Kudus ก็แสดงให้เห็นว่า หลังฉีดสองเข็มแล้ว ก็มีประสิทธิภาพในการป้องกันการติดเชื้อได้ (จากจำนวนผู้ป่วย 5%) และสามารถจะป้องกันอาการป่วยหนักได้ดีเช่นกัน (จากจำนวนผู้ป่วยเล็กน้อยหรือไม่มีอาการ 90%)

และถ้าถามผม ไม่ว่าจะฉีดวัคซีนชนิดไหน ยังไงเราก็ยังประมาทไม่ได้ และควรต้องเข้มงวดกับตัวเอง คือใส่แมสก์ ล้างมือ ไม่แออัด ให้มากที่สุดอยู่ดี จนกว่าประเทศและโลกเราจะเกิดภูมิคุ้มกันหมู่ได้ครับ