ผู้ประกันตนจี้ สปส.คลอดเงินช่วยเหลือทางการแพทย์เหมือนบัตรทอง หลังค้างนานกว่า 2 ปี

เมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายน ที่สำนักงานประกันสังคม (สปส.) ชมรมพิทักษ์สิทธิผู้ประกันตน ร่วมกับคณะอนุกรรมการด้านบริการสุขภาพ องค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคภาคประชาชน มูลนิธิศูนย์คุ้มครองสิทธิด้านเอดส์ และมูลนิธิเข้าถึงเอดส์ พร้อมตัวแทนผู้ประกันตนประมาณ 20 คน เข้าพบและยื่นหนังสือต่อ นพ.สุรเดช วลีอิทธิกุล เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม (สปส.) เพื่อทวงถามความคืบหน้าการดำเนินการของ สปส.ตามมาตรา 63 (7) พ.ร.บ.ประกันสังคม (ฉบับที่ 4) พ.ศ.2558 การช่วยเหลือเบื้องต้นในกรณีที่ได้รับความเสียหายจากการรับบริการทางการแพทย์ โดยมีนางกรรณิการ์ พฤกษาชาติ ผู้อำนวยการสำนักจัดระบบบริการทางการแพทย์ สำนักงานประกันสังคม เป็นผู้รับหนังสือแทน

น.ส.สุภัทรา นาคะผิว ประธานอนุกรรมการด้านบริการสุขภาพ องค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคภาคประชาชน กล่าวว่า เดิมนั้นการช่วยเหลือเบื้องต้นในกรณีที่ได้รับความเสียหายจากการรับบริการทางการแพทย์มีเฉพาะสิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติหรือบัตรทองตามมาตรา 41 พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2545 เท่านั้น ต่อมาเมื่อมีการแก้ไข พ.ร.บ.ประกันสังคม ก็ได้มีการเพิ่มส่วนนี้ให้สิทธิประกันสังคมด้วย โดยเป็นเพิ่มในมาตรา 63 (7) พ.ร.บ.ประกันสังคม (ฉบับที่ 4) พ.ศ.2558 ซึ่งถือเป็นความก้าวหน้าของระบบประกันสังคม ปัญหาคือ เวลาล่วงเลยมากว่า 2 ปี กลับยังไม่มีการประกาศหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการจ่ายเงินช่วยเหลือเบื้องต้น และการประชาสัมพันธ์เรื่องนี้ให้ผู้ประกันตนรู้สิทธิมากเท่าที่ควร ทำให้ผู้ประกันตนที่ได้รับความเสียหายจากการรับบริการทางแพทย์เสียสิทธิที่จะการได้รับการช่วยเหลือเยียวยาความเดือดร้อน ซึ่งอาจเข้าข่ายเป็นการละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมาย ผู้ประกันตนเสียสิทธิที่ควรจะได้รับตามกฎหมาย

“ขอเรียกร้องให้สำนักงานประกันสังคมเร่งดำเนินการเรื่องนี้โดยเร็ว เพื่อประโยชน์ของผู้ประกันตน นอกจากนี้ยังมีประเด็นที่เราห่วงใย คือ กรณีที่สำนักงานประกันสังคมมีแนวคิดจะเก็บเงินสมทบผู้ประกันตนเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะที่จะมีผลกระทบมากจากแนวคิดนี้คือกลุ่มผู้ประกันตนตามมาตรา 39 ซึ่งจ่ายเพิ่มเพียงฝ่ายเดียว เพราะออกจากประกันสังคมในระบบ แต่ต้องการรักษาสิทธิอื่นๆ จึงมีการจ่ายสมทบเพิ่ม รวมทั้งประเด็นขยายอายุการรับบำนาญชราภาพจากอายุ 55 ปี เป็น 60 ปี อีกด้วย เนื่องจากทางเรามองว่าไม่จำเป็น เพราะปกติคนทำงานอายุ 55 ปีก็ทำงานต่อจนถึงอายุ 60 ปีอยู่แล้วเป็นอัตโนมัติ ก็ไม่เห็นจำเป็นต้องไปเปลี่ยนแปลง เพราะเงินบำนาญที่ได้รับก็ไม่ได้มากมาย” นางสาวสุภัทรากล่าว

นางกรรณิการ์กล่าวว่า สปส. ไม่ได้นิ่งนอนใจเกี่ยวกับประเด็นมาตรา 63 (7) เพราะได้ส่งเรื่องไปยังคณะกรรมการกฤษฎีกาเพื่อตรวจสอบเรื่องตัวบทกฎหมาย ซึ่งล่าสุดมีความคืบหน้าและจะนำเสนอเข้าสู่คณะกรรมการประกันสังคม(บอร์ด สปส.) ในวันที่ 14 พฤศจิกายนนี้ โดยหลักเกณฑ์การช่วยเหลือเบื้องต้นจะยึดตามหลักเกณฑ์ของสิทธิบัตรทอง ซึ่งหากบอร์ด สปส.เห็นชอบ ก็สามารถออกร่างประกาศหลักเกณฑ์ได้เลย คาดว่าใช้เวลาในการดำเนินการไม่นาน เนื่องจากมีการร่างประกาศไว้อยู่แล้ว เพียงแต่อาจต้องมีการตรวจสอบร่างประกาศและเสนอให้ นพ.ชาตรี บานชื่น ประธานคณะกรรมการการแพทย์ สปส. ตรวจสอบและลงนามในประกาศ ก็จะสามารถบังคับใช้ได้ทันที โดยมีผลย้อนหลังตั้งแต่วันที่ 20 ตุลาคม 2558 ดังนั้น ผู้ประกันตนที่ได้รับความเสียหายจากการรับบริการทางการแพทย์ตั้งแต่วันที่ 20ตุลาคม 2558 เป็นต้นมาก็จะได้รับการเยียวยาย้อนหลังด้วย สำหรับอัตราการจ่ายเงินเยียวยาก็ยึดตามหลักเกณฑ์เดียวกับ สปสช.

นางกรรณิการ์กล่าวว่า ส่วนกลไกการเยียวยาที่เสนอให้ดำเนินการเหมือนกับ สปสช.คือใช้กลไกระดับจังหวัดในการรับเรื่องร้องเรียนและจ่ายเงินเยียวยานั้น สปส.ก็มีอนุกรรมการประกันสังคมระดับจังหวัด ก็สามารถดำเนินการได้ เพียงแต่อาจจะต้องรอให้มีความพร้อม โดยระหว่างนี้ก็จะให้คณะกรรมการการแพทย์เป็นหน่วยงานดำเนินการไปก่อนเบื้องต้น ซึ่งอาจมีการตั้งคณะอนุกรรมการขึ้นมาดำเนินการ ซึ่งข้อเสนอว่าให้มีตัวแทนผู้ประกันตน หรือผู้รับบริการ และผู้ทรงคุณวุฒิ นักวิชาการเข้ามามีส่วนร่วมด้วยนั้น ก็จะรับไว้พิจารณา

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับการช่วยเหลือเบื้องต้นตามมาตรา 41 พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2545 ระบุว่า 1.กรณีเสียชีวิตหรือทุพพลภาพอย่างถาวรหรือเจ็บป่วยเรื้อรังที่ต้องได้รับการ รักษาตลอดชีวิตและมีผลกระทบรุนแรงต่อการดำรงชีวิต 240,000-400,000 บาท 2.สูญเสียอวัยวะหรือพิการที่มีผลกระทบต่อการดำเนินชีวิต 100,000-240,000 บาท และ 3.บาดเจ็บหรือเจ็บป่วยต่อเนื่องไม่เกิน 100,000 บาท

 

ที่มา : มติชนออนไลน์