รพ.ธรรมศาสตร์ ปั๊มเตียง ‘ไอซียู’ สู้หมดหน้าตัก ช่วยชีวิตผู้ป่วยโควิด

มธ.ปั๊มเตียงสู้หมดหน้าตัก

รพ.ธรรมศาสตร์ ปั๊มเตียง ‘ไอซียู’ ช่วยผู้ป่วยโควิดเพิ่ม ลั่นจะสู้หมดหน้าตัก “อนุทิน” เยี่ยมศูนย์บริการวัคซีนโควิด-19 มธ. ยกย่องมาตรฐานระดับท็อปของประเทศ

วันที่ 3 ก.ค. 2564 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า โรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ เปิดแผนขยายจำนวนไอซียูเพิ่ม รวมมีเตียงดูแลผู้ป่วยโควิด-19 ทุกกลุ่ม 100 เตียง และโรงพยาบาลสนามอีก 470 เตียง

ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 2 ก.ค. 2564 นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.สาธารณสุข (สธ.) เดินทางเยี่ยมชมการดำเนินงานของศูนย์รับวัคซีนโควิด-19 ธรรมศาสตร์รังสิต ณ อาคารยิมเนเซียม 4 มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต พร้อมให้กำลังใจบุคลากรและจิตอาสาที่เสียสละปฏิบัติงานอย่างเข้มแข็ง โดยมี ศ.ดร.สุรพล นิติไกรพจน์ ประธานกรรมการบริหารโรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ และ รศ.เกศินี วิฑูรชาติ อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เป็นตัวแทนต้อนรับ

นายอนุทิน กล่าวว่า ศูนย์รับวัคซีนโควิด-19 ธรรมศาสตร์ รังสิต ได้ช่วยแบ่งเบาภาระของ สธ. และ จ.ปทุมธานีเป็นอย่างมาก โดยได้ให้บริการฉีดวัคซีนโควิด-19 แก่ประชาชนที่ลงทะเบียนผ่านแอปพลิเคชัน “หมอพร้อม” ซึ่งจากการเยี่ยมชมในวันนี้ พบว่าธรรมศาสตร์มีความพร้อมและมีมาตรฐานเป็นอย่างสูง

รศ.นพ.พฤหัส ต่ออุดม ผู้อำนวยการโรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ กล่าวว่า ขณะนี้โรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติอยู่ระหว่างการขยายศักยภาพในการให้บริการเพื่อรับมือกับสถานการณ์และความต้องการเตียงที่เพิ่มมากขึ้น โดยในระยะแรกจะเพิ่มห้องไอซียูความดันลบ 8 เตียง และในระยะที่ 2 จะเพิ่มขึ้นอีก 8 เตียง รวมทั้งสิ้น 16 เตียง และในอนาคตจะพิจารณาเพื่อขยายเพิ่มเติมอีกจนกว่าจะเต็มศักยภาพเท่าที่จะทำได้

“นอกจากการเพิ่มเตียงแล้ว ในส่วนของบุคลากรที่จะเข้ามาดูแลรักษาผู้ป่วย ก็ได้รับความร่วมมือจาก สธ. ที่นำแพทย์อายุรศาสตร์เชี่ยวชาญที่จบใหม่ และพยาบาลมาช่วยในการเพิ่มอัตรากำลัง นั่นทำให้ขณะนี้ โรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติสามารถให้บริการไอซียูความดันลบได้ทั้งสิ้น 40 เตียง และเตียงสำหรับผู้ป่วยโควิด-19 อีก 60 เตียง รวมทั้งสิ้น 100 เตียง ในจำนวนนี้ยังไม่รวมเตียงของโรงพยาบาลสนามธรรมศาสตร์ อีก 470 เตียง”

อนุทิน เยี่ยมรพ.ธรรมศาสตร์

สำหรับการให้บริการฉีดวัคซีนโควิด-19 ณ ยิมเนเซียม 4 ขณะนี้สามารถฉีดได้ประมาณวันละ 2,000 คน และยังสามารถขยายไปถึง 3,000 คนได้ โดยวัคซีนที่นำมาฉีดคือ AstraZeneca นอกจากนี้ มธ. ยังได้ประสานกับกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) และได้รับการจัดสรรวัคซีนมาฉีดให้กับบุคลากรในเครืออุดมศึกษา ทั้งใน มธ. และมหาวิทยาลัยโดยรอบใน จ.ปทุมธานี เช่น มหาวิทยาลัยกรุงเทพ มหาวิทยาลัยราชภัฏวไลยอลงกรณ์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ ด้วย

รศ.เกศินี วิฑูรชาติ อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า ภารกิจสำคัญที่สุดของ มธ. และโรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ ในขณะนี้คือการสนับสนุนการทำงานของทุกฝ่ายเพื่อสู้กับโควิด-19 โดยธรรมศาสตร์ได้ระดมสรรพกำลังและทรัพยากรของตัวเองที่มีทั้งหมดมาใช้เพื่อดูแลประชาชน โดยเฉพาะในพื้นที่ตั้งของมหาวิทยาลัย และ จ.ปทุมธานี

“ขอยืนยันว่าธรรมศาสตร์จะทำงานเคียงบ่าเคียงไหล่กับบุคลากรทางการแพทย์และทุกภาคส่วน จนกว่าประเทศไทยจะควบคุมการแพร่ระบาดโควิด-19 ได้สำเร็จ”