เตียงโควิดวิกฤตหนัก กทม. ปริมณฑล ขยายเพิ่มกว่า 300%

เตียงวิกฤต ไม่พอแล้ว
ภาพจากเฟซบุ๊ก กรุงเทพมหานคร โดยสำนักงานประชาสัมพันธ์

สถานการณ์เตียงโควิดวิกฤตหนัก อธิบดีกรมการแพทย์ เผย กทม.ปริมณฑลขยายเพิ่มกว่า 300% ย้ำระบบสาธารณสุขไทยยังไม่ล่ม หลายโรงพยาบาลเริ่มปรับระบบรักษาหันมาใช้ Home isolation และ Community Isolation

วันที่ 3 กรกฎาคม 2564 ที่ทำเนียบรัฐบาล นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวถึงสถานการณ์เตียงรองรับผู้ป่วยโควิด-19 ว่า ตอนนี้ในภาพรวมทั้งประเทศยังพอมีเตียงเหลือ ซึ่งในภาครัฐมีจำนวนเตียงเฉลี่ย 70,000 กว่าเตียงทั่วประเทศ และกำลังเสริมเตียงเฉพาะพื้นที่ เช่น กรุงเทพฯ และปริมณฑล ขณะนี้มีการขยายเตียงโอเวอร์ไปประมาณ 200-300% รวมถึงจังหวัดภาคใต้ที่มีการระบาดรวมกับสงขลาก็พยายามเตรียมเตียงเพิ่ม

อย่างล่าสุดหลายโรงพยาบาล ขยายไอซียูเพิ่มอีกเช่นกัน ทั้งนี้ เรื่องการขยายเตียงอาจตอบคำถามได้ไม่ชัด เนื่องจากต้องขึ้นอยู่กับสถานการณ์ แต่คาดการณ์ว่าหากผู้ป่วยในประเทศยังอยู่ที่ 5,000-6,000 คน ยังพอไปได้ หากไม่ขึ้นมากกว่านี้ ก็ได้ร่วมมือกับภาคีเครือข่ายหลายภาคส่วนช่วยกันเตรียมแผนสำหรับขยายเตียงต่อเนื่อง

จากการรายงานพบว่า ยังมีผู้ป่วยค้างรอเตียงถึงหลักพันคน จึงมีการคิดมาตรการการดูแลที่บ้านในกลุ่มผู้ป่วยสีเขียว ที่เรียกว่า Home isolation ซึ่งจะมีแนวทางทั้งการติดตาม วัดไข้ วัดออกซิเจนในกระแสเลือดซึ่งหากค่าออกซิเจนเกิน 3% ก็จะให้มาที่โรงพยาบาล ส่งอาหารให้ทาน 3 มื้อเพื่อที่จะได้ลดการแพร่เชื้อรวมถึงมีการวิดิโอคอลวันละ 2 ครั้งเพื่อติดตาม

เพราะการทำ Home Isolation มีปัญหาแน่นอน กลัวว่าสุขภาพของผู้ป่วยจะแย่ลง หากมีการติดตามก็คาดว่าจะไม่มีปัญหา แต่ต้องย้ำว่าวิธีนี้ใช้ได้สำหรับคนบางกลุ่ม ต้องเป็นผู้อยู่คนเดียว หรือที่บ้านมีห้องเฉพาะเท่านั้น ที่ผ่านมามีการทดลองใช้แล้วในโรงพยาาลราชวิถี ก็ถือว่าได้รับความร่วมมืออย่างดี

นอกจากนี้ก็มีระบบ Community Isolation คือการนำผู้ติดเชื้อไม่แสดงอาการ มาแยกกักตัวในชุมชน ที่อาจจะเป็นศาลาวัด หอประชุมโรงเรียน แม้กระทั่งในโรงงานเอง โดยมีภาคสังคมเข้ามาร่วม มีกทม.เจ้าของพื้นที่มาช่วยทำ มีโรงพยาบาลเอกชนด้วย ซึ่งในขณะนี้ก็จะมีโรงพยาบาลรัฐร่วม

และเมื่อถามว่า ณ ตอนนี้ระบบสาธารณสุขล่มสลายแล้วหรือยัง? นพ.สมศักดิ์ กล่าวว่า ถ้ากรณีเตียงไม่พอ ยังไม่ถึงกับระบบสาธารณสุขล่มสลาย เพราะยังมีระบบรักษาพยาบาล เราปรับระบบจากการดูแลในโรงพยาบาลมาเป็น Home isolation และCommunity Isolation อีกทั้งหากมาตรการต่าง ๆ ไปด้วยกันได้ดี คือ

  1. นโยบายที่ชัดเจนจากรัฐบาล
  2. ประชาชนให้ความร่วมมือกับนโยบาย
  3. ระบบควบคุมโรคต้องเข็มแข็ง
  4. ระบบรักษาพยาบาลเข้มแข็ง
  5. การฉีดวัคซีนต้องครอบคลุม

หากทั้งหมดนี้ไปด้วยกันดี ไม่มีทางที่ระบบสาธารณสุขจะล้มเหลว ตอนนี้บุคลากรหน้างานทำงานหนักหลายท่านไม่ว่าจะเป็นที่โรงพยาบาลเลิดสิน โรงพยาบาลนพรัตนฯ หรือแม้แต่ราชวิถี และที่อื่นๆอีกไม่ได้กลับบ้านมา 2 เดือนแล้ว

อย่างไรก็ตาม จึงขอย้ำว่า ทุกคนต้องกลับไปทบทวนตัวเองว่า มาตรการเข้มข้นพอหรือไม่ ทั้งรัฐบาล ประชาชนดูแลตัวเองดีพอหรือไม่ เพราะเข้าไปในชุมชน ครอบครัว อาจต้องใส่หน้ากากที่บ้าน รวมไปถึงโรงพยาบาลต่าง ๆ จึงต้องทบทวนกันหมด

สิ่งสำคัญต้องป้องกันกลุ่มอาการหนักและเสี่ยงเสียชีวิต คือ ผู้สูงอายุ และผู้ป่วยโรคเรื้อรัง เราต้องช่วยป้องกันกลุ่มนี้ และขอให้ทุกภาคส่วนหันหน้าเข้าหากัน เห็นต่างได้ แต่มาคุยมาช่วยกัน อย่ามาโทษกัน ถ้าโทษกัน ประเทศจะเดินหน้าไม่ได้ สิ่งสำคัญทุกภาคส่วนต้องร่วมมือกัน