หมอยงย้ำควรฉีดวัคซีนที่มีอยู่เร็วที่สุด สายพันธุ์เดลต้ามาแน่เดือนนี้

หมอยง
นพ​.​ยง ภู่วรวรรณ

หมอยงคาดโควิดสายพันธุ์เดลต้า แทนที่ อัลฟ่า เดือนนี้ (ก.ค.) ย้ำหากยังไม่มีวัคซีนป้องกันสายพันธุ์ใหม่ ต้องฉีดที่มีให้เข้าร่างกายเร็วที่สุด ป้องกันป่วยรุนแรงและเสียชีวิต

วันที่ 5 กรกฎาคม 2564 นพ​.​ยง ภู่วรวรรณ หรือหมอยง หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก ภาควิชากุมาร​เวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กถึงเชื้อโควิด-19 สายพันธุ์เดลต้า (อินเดีย)

หมอยงระบุว่า เป็นที่ทราบกันดีว่า ขณะนี้สายพันธุ์เดลต้า สามารถแพร่กระจายได้อย่างรวดเร็ว เพราะติดต่อง่าย และจะครอบคลุมทั้งโลก ส่วนประเทศไทยสายพันธุ์นี้จะมาแทนที่สายพันธุ์อัลฟ่า (อังกฤษ) ภายในเดือนนี้ (ก.ค.) เพราะติดต่อและแพร่กระจายได้ง่ายกว่าสายพันธุ์อัลฟ่า

สำหรับวัคซีนทุกชนิด ได้พัฒนามาสายพันธุ์ดั้งเดิมตั้งแต่อู่ฮั่น ซึ่งไวรัสมีการพัฒนามากพอสมควร จึงทำให้ประสิทธิภาพของวัคซีนลดลง วัคซีนที่มีภูมิคุ้มกันสูง การลดลงก็ยังทำให้พอจะป้องกันได้ดีกว่า ส่วนวัคซีนที่มีภูมิคุ้มกันขึ้นได้ต่ำกว่า ก็จะทำให้การป้องกันได้น้อยลงไปอีก

การพิจารณาศึกษาวิจัยอย่างรวดเร็ว ทั้งชนิดของวัคซีน และการฉีด รวมทั้งระยะห่างของวัคซีนที่จะใช้ จึงจำเป็นที่จะต้องปรับให้เหมาะสมที่จะให้ได้ผลสูงสุดตามทรัพยากรที่มีอยู่ และมีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา โดยเฉพาะในประเทศไทย สิ่งที่ทำวันนี้ว่าเหมาะสม อาจจะไม่เหมาะสมในอีก 1 เดือนข้างหน้า หรือยิ่งนานไปก็จะต้องมีการปรับเปลี่ยนอีก การฉีดวัคซีนสลับระหว่างเข็ม 1 และเข็ม 2 หรือการให้ในเข็มที่ 3 กระตุ้น จำเป็นต้องมีการศึกษาว่ารูปแบบใดจะให้ผลสูงสุด

การเพิ่มจำนวนการฉีดวัคซีน มีความจำเป็นที่จะกระตุ้นให้ภูมิคุ้มกันสูงขึ้น และรอจนกว่าจะมีวัคซีนที่ใช้สายพันธุ์ใหม่ ที่เหมาะสมตรงกับสายพันธุ์ที่ระบาด อย่างเช่นวัคซีนไข้หวัดใหญ่ ก็จะได้ผลประโยชน์สูงสุด

ในขณะที่ยังไม่มีวัคซีนสายพันธุ์ใหม่ เมื่อมีวัคซีนอะไร ก็ควรฉีดเข้าร่างกายให้เร็วที่สุด อย่างน้อยก็มีภูมิต้านทานขึ้นมาจำนวนหนึ่ง เพื่อลดความรุนแรงของโรค และป้องกันการเสียชีวิตไว้ก่อน จนกว่าจะมีวัคซีนที่นำมากระตุ้นให้ได้ภูมิคุ้มกันสูงสุดเร็วที่สุด และรอวัคซีนสายพันธุ์ใหม่ที่ตรงกับสายพันธุ์ที่ระบาดหรือคาดว่าจะระบาดในปีต่อไป

ถ้าไวรัสนี้ยังมีการระบาดมากในโลก ก็จะพัฒนาเปลี่ยนแปลงสายพันธุ์ต่อไปเรื่อย ๆ ทั่วโลกมีความต้องการวัคซีนมากกว่า 10,000 ล้านโดส ภายในปีนี้ และยังต้องการวัคซีนมากระตุ้นอีกไม่น้อยกว่าครึ่งหนึ่งของจำนวนนี้อีกต่อไป จึงทำให้วัคซีนไม่เพียงพอกับประชากรโลก ประเทศผู้ผลิตหรือประเทศพัฒนาแล้ว จะมีความได้เปรียบกว่า