เอกสารวัคซีน คณะทำงานวิชาการ ชง 3 ข้อ กรณีให้บริการ “ไฟเซอร์”

ไฟเซอร์บริจาควัคซีนประเทศยากจน 2 พันล้านโดส
REUTERS/Dado Ruvic/Illustration

อนุทินยอมรับ มีเอกสารประชุมวิชาการให้บริการวัคซีนไฟเซอร์บุคคล 3 กลุ่ม 1.5 ล้านโดส 

วันที่ 5 กรกฎาคม 2564 รายงานจากกระทรวงสาธารณสุขเปิดเผยว่า การประชุมเฉพาะกิจร่วมระหว่างคณะกรรมการด้านวิชาการ ตามพระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ.2558 คณะอนุกรรมการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรค และคณะทำงานวิชาการด้านบริหารจัดการและศึกษาการให้บริการวัคซีน เมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2564 ที่ผ่านมา มีวาระการพิจารณาแนวทางการให้วัคซีนไฟเซอร์ Pfizer ของประเทศไทย

ในรายงานประชุมระบุว่า ศ.พญ.กุลกัญญา โชคไพบูลย์กิจ ได้รายงานข้อมูลเกี่ยวกับองค์ความรู้วัคซีนไฟเซอร์ (Pfizer) เพื่อประกอบการพิจารณาในด้านประสิทธิภาพของวัคซีนไฟเซอร์ (Pfizer)ในวัยรุ่น อายุ 12-15 ปี พบว่า มีภูมิคุ้มกันสูงถึง 100% ซึ่งมากกว่าวัยผู้ใหญ่ วัคซีนไฟเซอร์ (Pfizer) มีผลข้างเคียงในเข็มแรกมากกว่าเข็มที่ 2 ผลข้างเคียง ส่วนใหญ่มักเกิดขึ้นภายใน 2-3 วัน ผลข้างเคียง ส่วนใหญ่มักเกิดขึ้นกับเพศชายมากกว่าเพศหญิง

ขณะที่ พญ.วรยา เหลืองอ่อน ผู้อำนวยการกองโรคติดต่อทั่วไป รายงานแนวทางบริหารจัดการวัคซีนไฟเซอร์ (Pfizer) ได้แก่ ขนาดต่อโดส 0.3 mL (1 Vial : 0.45 mL + 0.9% Sodium Chloride 1.8 mL = 2.25 mL) Syringe ปกติ = 5 โดส / Low dead space = 6 โดส

วิธีการฉีด เข้าชั้นกล้ามเนื้อ (IM)  กำหนดการให้วัคซีน 2 ครั้ง ระยะห่าง 3 สัปดาห์ อายุที่สามารถฉีดวัคซีนได้ 12 ปีขึ้นไป การเก็บรักษา ที่อุณหภูมิ -90 ถึง -60 C ได้ 6 เดือน ที่อุณหภูมิ 2 ถึง 8 C ได้ 1 เดือน คาดว่า ก.ค. จะได้มา 1.5 ล้านโดส และ Q4 20 ล้านโดส มีความซับซ้อนในการฉีด เจ้าหน้าที่จะต้องอบรม

การประชุมดังกล่าว มีวาระการพิจารณาแนวทางการให้วัคซีนไฟเซอร์ (Pfizer) ของประเทศไทย มีข้อเสนอแนวทางบริหารจัดการ ไฟเซอร์ Pfizer 1.5 ล้านโดส ช่วง ก.ค.- ส.ค. 2564 จำนวน 3 ทางเลือก

ทางเลือกที่ 1 กลุ่มเป้าหมายบุคคลอายุ 12 – ต่ำกว่า 18 ปี พื้นที่ กทม. 3.5 แสนคน ยะลา ปัตตานี นราธิวาส สงขลา 3.3 แสนคน พื้นที่เศรษฐกิจ ภูเก็ต พังงา สมุย 6 หมื่นคน โดยมีข้อดี จะได้รับวัคซีนเร็วขึ้น ไม่ต้องรอไตรมาส 4 หรือ อนุมัติใช้ Sinovac ในเด็ก เพิ่มความครอบคลุมการได้รับวัคซีน ส่วนข้อเสีย มีความกังวลต่อการเกิด Myocarditis (กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด) จำนวน 1 ล้านคน (ทั่วประเทศ 4.8 ล้านคน)

ทางเลือกที่ 2 กลุ่มเป้าหมาย กลุ่มเสี่ยงที่ยังไม่ได้วัคซีน ผู้สูงอายุ ผู้ป่วยโรคเรื้อรัง หญิงตั้งครรภ์ พื้นที่ดำเนินงาน คือ พื้นที่ที่พบการระบาดของเชื้อสายพันธุ์ Delta ข้อดี สร้างภูมิคุ้มกันโรคได้ดี เร็ว ลดการป่วยรุนแรง ลดการเสียชีวิต เพิ่มความครอบคลุมการได้รับวัคซีน ส่วนข้อเสีย เกิดการเลือกวัคซีน

ทางเลือกที่ 3 บุคลากรทางการแพทย์ด่านหน้า กระตุ้นภูมิคุ้มกันเข็มที่ 3 ทั้งสถานพยาบาลของรัฐและเอกชนทั่วประเทศ ข้อดี เพิ่มระดับภูมิคุ้มกันต่อเชื้อกลายพันธุ์ สร้างขวัญกำลังใจ มีวัคซีนให้กลุ่มเป้าหมายอื่นได้ ส่วนข้อเสีย ไม่เพิ่มความครอบคลุมการได้รับวัคซีน จำนวน 7.5 แสนคน

โดยที่ประชุมได้มีมติเบื้องต้นถึงแนวทางการฉีดวัคซีนไฟเซอร์ (Pfizer) ในเดือน ก.ค.-ส.ค.64 แต่ยังไม่ใช่เป็นมติเพื่อสั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการ และต้องนำเสนอรายละเอียดต่อที่ประชุมผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุข และมีบางประเด็นของข้อกฎหมาย ต้องนำเสนอให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณา ดังนี้

  1. ควรให้ฉีดวัคซีนไฟเซอร์ (Pfizer) ที่ได้รับในระยะแรกจำนวน 1.5 ล้านโดส ก.ค.-ส.ค.64 เป็นเข็มที่  1 ทั้งหมดแก่ผู้สูงอายุที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป หรือ หญิงตั้งครรภ์ที่มีอายุครรภ์ 12 week ขึ้นไป ในพื้นที่ที่มีการระบาดรุนแรง ซึ่งในขณะนี้ คือ พื้นที่ กทม.และปริมณฑล เพื่อลดการป่วยรุนแรงและการเสียชีวิต
  2. ควรเตรียมการด้านบุคลากร สถานที่ฉีด และอุปกรณ์ในการฉีดที่เหมาะสมสำหรับการฉีดวัคซีน นอกจากนี้ยังมีข้อสังเกตในที่ประชุม อาทิ 1. ไฟเซอร์ Pfizer ควรให้พื้นที่ระบาด 7 กลุ่มโรค ให้ไปแล้วทดแทนที่ขาด 2. ต้องแก้ปัญหาพื้นที่ระบาดและป่วยตายเยอะก่อน
  3. ควรให้กลุ่มสูงอายุ กลุ่ม เสี่ยง 7 โรคและ หญิงตั้งครรภ์ และอยากให้ แก่ บุคลากรทางการแพทย์ด้วย เพราะ เป็น work force สำคัญ หมอและบุคลากรเด็ก ๆ ที่ฉีด sino แล้ว 2 โดส ตอนนี้ มีติดเชื้อ หลายราย และวุ่นเพราะ ต้อง isolate & quarantine จำนวนมาก ขณะที่ต้องการบุคลากรมาก
  4. อยากเสนอให้ boost เข็มสามให้บุคลากรทางการแพทย์ด่านหน้า
  5. ควรมียุทธศาสตร์ในการสื่อสารและเป้าหมายที่ชัดเจน
  6. เห็นด้วยกับการให้วัคซีนในกลุ่มที่ 2 และ 3 ส่วนกลุ่มที่ 1 สามารถรอวัคซีนจากการสั่งซื้อได้ และในขณะนั้นคงทราบผลการศึกษาเพิ่มเติมจากการใช้ mRNA ในกลุ่มเด็กอายุน้อยกว่า 18 ปี
  7. mRNA เป็นวัคซีนที่ปลอดภัยมากโดยเฉพาะในผู้สูงอายุ ควรเร่งฉีดตามอายุโดยยังไม่เอา 7 โรคมาเกี่ยวอาจเริ่ม 75 ปี ทั้งหมดก่อน
  8. ขอให้กลุ่ม 2 ไม่ควรให้กลุ่ม 3
  9. ขอให้กลุ่ม 2 และ BOOST กลุ่ม 3 ในพื้นที่ระบาด
  10. ในขณะนี้ ถ้าเอามาฉีดกลุ่ม 3 แสดงว่าเรายอมีรับว่าSinovac ไม่มีผลในการ ป้องกัน แล้วจะแก้ตัวยากมากขึ้น
  11. ควรเอาอายุ
  12. คนท้องควรได้รับ mRNA ส่วนกลุ่ม 3 อาจรอข้อมูลอีกระยะ และคนสูงอายุในอายุที่จะกำหนดเช่น มากกว่า 70 ควรเป็นwalk in ได้ในที่ที่มีวัคซีนตัวนี้
  13. ควรให้เข็ม 3 บุคลากรทางการแพทย์เพราะความเสี่ยงสูง
  14. ควรให้ผู้สูงอายุ 70 ขึ้นไปฉีดให้หมด
  15. HCW เสียชีวิต 3 คน
  16. เริ่มที่ กทม. เหมาะสุดเพราะ cold chain มีปัญหา

อนุทิน ยอมรับ เป็นเอกสารจริง

นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ชี้แจงถึงประเด็นดังกล่าวตามรายงานของมติชนว่า เอกสารดังกล่าวเป็นเอกสารภายในจากการประชุมของคณะกรรมการวิชาการ ที่ไม่ควรไปวิพากษ์วิจารณ์ เพราะเป็นเรื่องของวิชาการ ตราบใดที่ยังไม่ได้มาเป็นขั้นตอนปฏิบัติ ยังไม่มีผลอะไร

นายอนุทิน กล่าวต่อ ว่าเอกสารดังกล่าวเป็นเพียงความเห็นเท่านั้น ว่าแต่ละท่านมีความคิดเห็นอย่างไร จากนั้นจะทำการรวบรวม เป็นที่มาของการมีคณะกรรมการ เราจึงไม่ได้ให้ใครคนใดคนหนึ่งตัดสินใจ ส่วนจะนำวัคซีนไฟเซอร์มาฉีดเป็นเข็มที่ 3 ให้บุคลากรทางการแพทย์หรือไม่ เป็นเรื่องวิชาการ ตนให้ความเห็นไม่ได้ รอให้คณะกรรมการวิชาการตกผลึกออกมา และตนก็พร้อมสนับสนุน