โรงงานกิ่งแก้วไฟไหม้: รู้จัก สไตรีนโมโนเมอร์ สารเคมีอันตรายถึงชีวิต

อ.สนธิ โรงงานระเบิด
ภาพจากเฟซบุ๊ก Sonthi Kotchawat

ผู้เชี่ยวชาญหวั่น สารเคมีโรงงานหมิงตี้ฯ กิ่งแก้ว ปนเปื้อนในดิน เตือนประชาชนระวัง ถ้าได้รับสารปริมาณสูง จะมีอาการชักและเสียชีวิตได้

วันที่ 5 กรกฎาคม 2564 ผู้สื่อข่าวรายงานกรณีโรงงานผลิตเม็ดโฟมพลาสติก ในซอยกิ่งแก้ว 21 จังหวัดสมุทรปราการ เกิดระเบิดและลุกไหม้ตั้งแต่ช่วงกลางดึกที่ผ่านมา สร้างความเสียหายเป็นวงกว้าง เจ้าหน้าที่ต้องปิดพื้นที่และสั่งอพยพประชาชนโดยรอบอย่างเร่งด่วน ตามที่ได้เสนอข่าวไปแล้วนั้น

ล่าสุด นายสนธิ คชวัฒน์ ผู้ทรงคุณวุฒิด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ ชมรมนักวิชาการสิ่งแวดล้อมไทย โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว Sonthi Kotchawat เพื่อเตือนเกี่ยวกับอันตรายของสารเคมีจากโรงงานดังกล่าว ข้อความดังนี้

เกิดเหตุระเบิดภายในโรงงาน หมิงตี้ เคมีคอล จำกัด เป็นโรงงานผลิตโฟมและเม็ดพลาสติก ตั้งอยู่เลขที่ 87 ซอยกิ่งแก้ว 21 ม. 15 ต.บางพลีใหญ่ อ.บางพลี จ.สมุทรปราการ มีสารสไตรีนโมโนเมอร์เป็นสารตั้งต้น ถังเก็บสารเคมีถูกไฟไหม้และระเบิด มีสารสไตรีนและก๊าซคาร์บอนมอนอกไซด์ (CO) กระจายออกไปโดยรอบถึง 10 กิโลเมตร ขึ้นกับทิศทางและความเร็วลม ประชาชนใกล้เคียงระวังตัวด้วย

1.สารสไตรีนโมโนเมอร์เป็นของเหลวใสและข้นเหนียว สูตรทางเคมี C8H8 , CAS #. 100-42-5 น้ำหนักโมเลกุล 104.16 ถ้าสารมีอุณหภูมิ 31°C (88°F) ขึ้นไป จะติดไฟและกลายเป็นสารอินทรีย์ระเหยง่าย หากถูกเผาไหม้จะกลายเป็นก๊าซคาร์บอนมอนอกไซด์ (CO) จำนวนมาก มีอันตรายต่อระบบทางเดินหายใจ

2.การใช้งาน ใช้ในการผลิตยางสังเคราะห์ และพลาสติก เรซิน สี ฉนวนที่เป็นโฟม ใช้ผลิตพลาสติกกับสารอื่น เช่น Acrylonitrile- butadiene- styrene plastics ใช้ทำกระเป๋าแบบแข็ง Acrylonitrile- styrene plastics ใช้ในชิ้นส่วนรถยนต์และของใช้ในบ้านและบรรจุภัณฑ์

3.ผลต่อสุขภาพ เป็นสารระเหย แม้อยู่ในน้ำหรือดิน การปนเปื้อนในดินอาจนำไปสู่น้ำใต้ดินเพราะสารนี้ไม่ค่อยจับตัวกับดิน ถ้าหายใจเข้าไป จะเกิดการระคายเคืองต่อระบบทางเดินหายใจ และลำคอ ปวดศีรษะ มึนงง อ่อนเพลีย คลื่นไส้ และมึนเมา ถ้าได้รับสารปริมาณสูง จะมีอาการชักและเสียชีวิตได้

การหายใจเข้าไปในระยะนาน ๆ แม้ว่าความเข้มข้นต่ำจะทำให้อาจมีอาการทางสายตา การได้ยินเสื่อมลง และการตอบสนองช้าลง ส่วนผลในระยะยาวนั้นยังไม่ทราบแน่ชัด ถ้าเข้าตา จะเคืองตา ถ้าถูกผิวหนัง จะรู้สึกระคายผิว ถ้าสารซึมเข้าผิวหนังจะมีอาการเหมือนหายใจเข้าไป ทำให้ผิวแดง แห้งและแตก

4.การดับเพลิง ให้ใช้น้ำยาประเภทคาร์บอนไดออกไซด์หรือเคมีแห้งหรือโฟมปิดคลุม ห้ามฉีดน้ำเป็นลำไปยังถังที่ถูกเพลิงไหม้โดยตรงแต่อาจให้ฉีดเป็นละอองฝอยเพื่อควบคุมควันเท่านั้น


ภาพจาก ขอบข่ายเฝ้าระวังสารเคมีโรงงานกิ่งแก้วระเบิด แสดงรัศมีพื้นที่อพยพ พื้นที่เฝ้าระวังสูง และพื้นที่เฝ้าระวัง