เปิดผลวิเคราะห์ “สะพานท่าพระจันทร์” คุ้มทุนเชื่อมโยง 14 โครงข่ายสัญจร-ข้ามฝั่งเร็วขึ้น

เมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม นายณัฏฐ์ ศรีสุคนธนันท์ ผู้อำนวยการสำนักการโยธา กรุงเทพมหานคร(กทม.) ชี้แจงกรณีที่มีการโพสต์ตั้งข้อสังเกตในโซเชียลมีเดียกรณีแนวคิดการสร้างสะพานคนข้ามเชื่อมศิริราชกับท่าพระจันทร์ ว่า ไม่อยู่ในแผนแม่บทการพัฒนาริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา แสดงถึงการขาดการพิจารณาแผนแม่บทอย่างบูรณาการ อีกทั้งควรพิจารณาโครงข่ายการสัญจร และ สะพานคนข้ามนี้อาจกลายเป็นสิ่งแปลกปลอมที่ลดคุณค่าทางประวัติศาสตร์ของเกาะรัตนโกสินทร์ และลดโอกาสที่เกาะจะขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกนั้นว่า ข้อเท็จจริงแล้วโครงการสะพานคนเดินข้ามดังกล่าวเป็นโครงการที่บรรจุอยู่ในแผนแม่บทการพัฒนาพื้นที่ริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาในเขตกรุงเทพมหานคร พื้นที่ที่ 2 ช่วงสะพานสมเด็จพระปิ่นเกล้าถึงสะพานพระราม 3 แผนงานที่ 12 งานพัฒนาสะพานคนเดิน (Pedestrian Bridge) เพื่อเป็นสะพานคนเดิน ทางจักรยาน และทางผู้พิการ ซึ่งกรุงเทพมหานครได้ดำเนินการสำรวจและออกแบบโดยได้คำนึงถึงวิถีวัฒนธรรมไทย ผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม แหล่งประวัติศาสตร์ แหล่งโบราณคดีที่สำคัญ และทัศนียภาพโดยรอบ อีกทั้งมีความเชื่อมโยงกับสถานที่ท่องเที่ยว ซึ่งจะเป็นการเพิ่มทางเลือกในการข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาที่สะดวก ปลอดภัย ส่งเสริมการท่องเที่ยวและภาพลักษณ์ของกรุงเทพมหานคร เป็นทางเลือกในการสัญจรสอดคล้องกับแผนการแก้ไขปัญหาการจราจรในบริเวณโดยรอบโรงพยาบาลศิริราช และเพิ่มช่องทางการรับส่งผู้ป่วยเข้าสู่โรงพยาบาลศิริราชได้สะดวกและรวดเร็วขึ้น

อีกทั้งโครงการดังกล่าวมีความเชื่อมโยงกับโครงข่ายการสัญจรทางบกและโครงข่ายรถไฟฟ้าพื้นที่โดยรอบ ประกอบด้วย 1.โครงการต่อเชื่อมสะพานพระราม 8 กับถนนพรานนก – ถนนพุทธมณฑลสาย 4 2.งานขยายถนนอรุณอัมรินทร์ พร้อมทางขึ้น – ลง และทางยกระดับข้ามแยกศิริราช 3.งานขยายผิวจราจร สร้างทางกลับรถ ใต้สะพานอรุณอัมรินทร์ 4.งานปรับปรุงโครงข่ายถนนบริเวณถนนริมคลองบางกอกน้อย 5.งาน Sky Walk และทางเดินริมแม่น้ำเจ้าพระยา 6.โครงการสะพานข้ามทางแยกทางรถไฟ 7.งานสร้างทางกลับรถใต้สะพานข้ามคลองบางกอกน้อย 8. งานขยายสะพานข้ามคลองบางกอกน้อย 9.โครงการสะพานข้ามทางแยกเลี้ยวขวา จากถนนจรัญสนิทวงศ์ เข้าถนนบางขุนนนท์ 10.โครงการถนนพรานนก – พุทธมณฑลสาย 4 11.โครงการก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีแดงอ่อน 12. โครงการก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีส้ม 13.เส้นทางการเดินเรือของเรือด่วนเจ้าพระยา และ 14.เส้นทางจักรยานรอบเกาะรัตนโกสินทร์

ผู้อำนวยการสำนักการโยธา กทม. กล่าวต่อว่า สำหรับกรณีที่มีการตั้งข้อสังเกตว่าการใช้งบประมาณในการดำเนินการ โครงการจำนวน 1,700 ล้านบาท ควรศึกษาถึงผลตอบแทนทางเศรษฐกิจ รวมถึงการเพิ่มขึ้นของปริมาณนักท่องเที่ยวเพื่อให้คุ้มค่ากับการลงทุนนั้น ขอชี้แจงว่า กรุงเทพมหานครได้ดำเนินการศึกษาและประเมินผลตอบแทนทางเศรษฐกิจ รวมถึงการเพิ่มขึ้นของปริมาณนักท่องเที่ยวเพื่อให้คุ้มค่ากับการลงทุน ได้แก่ ผลประโยชน์จากการลดเวลาการเดินทาง ซึ่งสามารถลดระยะเวลาในการเดินทางต่อคน – เที่ยวที่ 8.5 นาที คิดเป็นค่าใช้จ่าย 6.375 บาท/คน-เที่ยวผลประโยชน์ด้านการจ้างงาน (Employment) เนื่องจากมีการพัฒนาเศรษฐกิจชุมชนและพื้นที่ใกล้เคียง มูลค่าทวีคูณงานก่อสร้าง (Construction Multiplier) และผลประโยชน์จากการใช้จ่ายของนักท่องเที่ยว (Tourist Spending) ส่งเสริมเส้นทางคนเดินและทางจักรยานท่องเที่ยว โดยสามารถสรุปผลการวิเคราะห์ความคุ้มค่าด้านเศรษฐกิจของโครงการตามมูลค่าปัจจุบันสุทธิของโครงการ (NPV@ 12%) หรือเท่ากับ 373.94 ล้านบาท ทั้งนี้ ได้มีการวิเคราะห์ถึงผลตอบแทนหรือความคุ้มทุนต่อโครงการ (NPV) ทั้งในส่วนของเงินลงทุน และผลตอบแทนที่คาดว่าจะได้รับในอนาคต ปรากฏว่า NPV เป็นบวกที่อัตรา 12 % ซึ่งในทางเศรษฐศาสตร์ถือว่าโครงการนี้จะให้ผลตอบแทนมากกว่าเงินลงทุน อัตราผลตอบแทนด้านเศรษฐกิจ (EIRR) เท่ากับ ร้อยละ 17.26 ซึ่งหาก EIRR เกินกว่าค่ามาตรฐาน ร้อยละ 9 ต่อปี ถือว่าเป็นโครงการที่ควรพิจารณาให้เกิดขึ้น อัตราส่วนผลประโยชน์ต่อต้นทุน (B/C) เท่ากับ 1.31 ซึ่งตามหลักการวิเคราะห์ทางเศรษฐศาสตร์ หาก B/C มากกว่า 1 ถือว่าคุ้มค่าการลงทุน, B/C เท่ากับ 1 ถือว่าเท่าทุน และ B/C น้อยกว่า 1 คือไม่คุ้มทุนหรือขาดทุน

 

 

ที่มา มติชนออนไลน์