คนป่วยโควิด กทม. รอบ 1 เดือน ครองเตียงคนไข้ 3 หมื่นราย

ผู้ป่วยโควิด
FILE PHOTO : Jack TAYLOR / AFP

กรมการแพทย์ เผย กทม.ปริมณฑล 1 เดือน มีผู้ป่วยโควิดครองเตียงถึง 3 หมื่นราย แนะผู้ป่วยสีเขียว กักตัวที่บ้าน /ชุมชน ขอให้มั่นใจมีระบบติดตามอาการทุกวัน

วันที่ 10 กรกฎาคม 2564 นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวถึงการแยกกักตัวที่บ้าน (Home Isolation) และการแยกกักตัวในชุมชน (Community Isolation) ว่า ขอย้ำว่าไม่ได้อยากใช้แนวทางนี้หากไม่จำเป็นเนื่องจากมีผลเสีย 2 อย่างคือ 1. กรณีอยู่บ้านคนเดียว ไม่มีผู้ดูแล หากสุขภาพแย่ลง ไม่มีใครทราบ อาจเกิดอันตรายและเสี่ยงเสียชีวิต 2.เป็นผลเสียต่อชุมชน บางรายอาจต้องออกไปหาอาหารข้างนอกเอง

1 เดือนครองเตียงพุ่งเป็น 3 หมื่น

นพ.สมศักดิ์ กล่าวต่อว่า ที่ต้องนำระบบ Home Isolation และ Community Isolation มาใช้ประการแรกเนื่องจากอัตราการครองเตียงทั่วประเทศประมาณ 80,000 ราย ในกทม.และปริมณฑล ข้อมูลเมื่อวันที่ 9 มิถุนายน เมื่อ 1 เดือนที่แล้วอัตราครองเตียงมี 19,629 แต่ล่าสุดสรุปผลเมื่อวันที่ 9 กรกฎาคม อัตราครองเตียงขึ้นมาเป็น 30,631 เตียง

เมื่อจำแนกผู้ป่วยตามระดับความรุนแรง เมื่อวัน 9 มิถุนายน มีผู้ป่วยสีเขียว 8,790 ราย วันที่ 9 กรกฎาคม มีผู้ป่วยสีเขียว 15,596 ราย ส่วน ผู้ป่วยสีเขียวเข้มจากเดิม 4,395 ราย เป็น 7,747 ราย ส่วนผู้ป่วยสีเหลือง จาก 2,879 ราย เป็น 5,902 ราย และผู้ป่วยสีแดง จากเดิม 714 ราย เพิ่มเป็น 1,206 ราย จะเห็นได้ว่าเตียงไอซียูเพิ่มมาเท่าตัว และเตียงอื่นๆ เพิ่ม 200-300% ทำให้บุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข ต้องแบกรับภาระหนักขึ้น

“ทั้งนี้ การเพิ่มอุปกรณ์ เครื่องมือ หาสถานที่ ขยายเตียง ผมมองว่าไม่ใช่เรื่องยาก แต่สิ่งที่ยากคือการเพิ่มบุคลากรเข้ามาดูแลผู้ป่วย เพราะที่มีอยู่ก็ค่อนข้างเหนื่อยล้า หลาย ๆ คนก็ทยอยติดเชื้อ จึงต้องแยกกักตัวที่บ้าน บุคลากรก็เลยน้อยลง”

ระบบกักตัวที่บ้าน/ชุมชน เน้นสมัครใจ

สำหรับการแยกกักตัวที่บ้าน และชุมชน หลัก ๆ ต้องมีสถานที่เหมาะสม ทั้งบ้าน วัด โรงเรียน โดยกรณีนี้จะเน้นความสมัครใจของผู้ป่วยกลุ่มสีเขียว รอแอดมิท จะมีช่องทางติดตามผู้ป่วย สื่อสารทุกวันผ่านวิดีโอคอล มีระบบ Telemonitor แพทย์พยาบาลจะคุยกับคนไข้วันละ 2 ครั้ง มีช่องทางติดต่อกรณีฉุกเฉิน

ที่สำคัญจะมีการแจกที่วัดไข้ เครื่องวัดออกซิเจนในกระแสเลือดเป็นเครื่องใช้วัดกับนิ้วมือ นอกจากนี้การดูแลจะมีวิธีการลุกนั่งออกกำลังกาย 1 นาที เพื่อวัดค่าออกซิเจนทั้งก่อนและหลังออกกำลังกาย หากค่าออกซิเจนในกระแสเลือดลดลงกว่า 3% ก็จะต้องมาโรงพยาบาล นอกเหนือจากนี้จะมีการจัดระบบส่งต่อผู้ป่วยกรณีฉุกเฉินด้วย

นอกจากนี้กรณีคนไข้ที่อยู่โรงพยาบาลจากเดิมต้องอยู่ 14 วัน หากอาการดีขึ้น จะพิจารณาให้อยู่ 10 วัน หรืออาจเป็น 7-10 วัน จะขอให้กลับไปแยกกักตัวที่บ้าน เพื่อให้มีเตียงเหลือ อาจทำให้มีเตียงเพิ่ม 40-50% รับผู้ป่วยใหม่ได้

ขึ้นทะเบียนแล้ว 200 ราย

อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวอีกว่า การพิจารณารับผู้ป่วย Home Isolation มีการดำเนินการที่โรงพยาบาลราชวิถีมาก่อนหน้านี้แล้ว เกือบ 20 ราย เมื่อช่วง 1-2 เดือนก่อนมีผู้ติดเชื้อรายหนึ่งอายุ 70 ปี สามารถแยกกักที่บ้านจนกระทั่ง 14 วันจนหายดี ซึ่ง 20 รายแรกที่ทำเป็นไพรล็อต ขณะนี้กรมการแพทย์ ทั้งโรงพยาบาลราชวิถี โรงพยาบาลเลิดสิน โรงพยาบาลนพรัตน์ ได้ขึ้นทะเบียนผู้ป่วยแล้วประมาณ 200 ราย มีรายงานอาการทุกวัน

ทั้งนี้ยังมีภาคประชาสังคมหลายส่วนเข้ามาช่วยในส่วนนี้ด้วย เช่น เพจเส้นด้าย เพจเราต้องรอด หมอแล็บแพนด้า และอีกหลายส่วนกำลังช่วยเรื่องแยกกักตัวที่บ้านเพิ่มเติม ด้วยการรวบรวมผู้ป่วย ส่งให้กรมการแพทย์ขึ้นทะเบียนทราบว่าจะนำคนไข้มาขึ้นทะเบียนกับโรงพยาบาลอีกประมาณ 200 ราย และในส่วน Community Isolation อีก 200 ราย

กรณี Community Isolation ขณะนี้กรมการแพทย์ ได้ร่วมกับกรุงเทพมหานคร โรงเรียนแพทย์ ได้เตรียมสถานที่ เช่น วัด โรงเรียน หรือในหมู่บ้าน อาจใช้หอประชุม โดยหลักต้องไม่เกิน 200 คน ไม่เช่นนั้นจะแออัด และจะต้องดูแลระบบสิ่งแวดล้อมด้วย ตอนนี้มีทำไปแล้วที่วัดสะพาน ส่วนการประเมินผู้ป่วยจะมีคนกลางมาช่วย อาจเป็นอาสาสมัครของกทม.เป็นผู้ประเมินร่วมกับคนไข้ และจะมีทีมแพทย์ประเมินผ่านเทเลเมดิซีน ดังนั้นผู้ประเมินจะมีทั้งผู้ป่วย ทีมแพทย์พยาบาล และอาสาสมัคร

อย่างไรก็ตาม งบประมาณในการสนับสนุน มาจาก สำนักงานหลักประกันสุขภาพ (สปสช.) ในการสนับสนุนให้ทางโรงพยาบาลจัดซื้ออาหาร 3 มื้อ ทั้งนี้หากพบว่าติดเชื้อ และยังไม่มีหน่วยงานใดรับ ให้ติดต่อสอบถาม 1330 จะมีกระบวนการสอบถามซักประวัติ ขณะนี้ตัวเลขจะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ น่าจะเพิ่มเป็น 400-500 รายแล้วจากข้อมูลตามเพจต่างๆ