กรมควบคุมโรคเผย กลุ่มแพทย์ได้วัคซีนกระตุ้นเข็ม 3 เป็น แอสตร้าเซนเนก้า

ไฟเซอร์
REUTERS/Dado Ruvic/Illustration/File Photo/File Photo

กรมควบคุมโรคเผย กลุ่มแพทย์จะได้วัคซีนกระตุ้นเข็ม 3 เป็นแอสตร้าเซนเนก้า ส่วนไฟเซอร์ที่ทางอเมริกาบริจาค อยู่ในช่วงหารือรายละเอียด

วันที่ 12 กรกฎาคม 2564 ที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวถึง ปัญหาสายพันธุ์เดลต้า (สายพันธุ์อินเดีย) ที่เข้ามา กทม. เกือบ 50% ทำให้ต้องเพิ่มประสิทธิภาพของการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 เพื่อต่อสู้กับไวรัสกลายพันธุ์ โดยคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติมีมติให้ใช้ฉีดวัคซีนแบบบูสเตอร์โดส แก่บุคลากรการแพทย์ ที่ปฏิบัติงานด่านหน้า ที่รับวัคซีนเข็มที่ 2 มาแล้ว เพื่อให้เกิดภูมิคุ้มกัน

ทั้งนี้ บูสเตอร์โดสอาจเป็นวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า หรือไฟเซอร์ ชนิด mRNA เพราะโดยตามหลักการต้องฉีดต่างชนิดกัน เช่น โดสแรกเป็นวัคซีนชนิดเชื้อตาย วัคซีนโดสถัดไปต้องเป็นอีกชนิด อาจเป็นไวรัลเวกเตอร์ หรือ mRNA ซึ่งมีข้อมูลวิชาการรองรับ เพื่อทำให้ประชาชนมีภูมิคุ้มกันดีขึ้น

นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค

นพ.เกียรติภูมิ กล่าวด้วยว่า 70-80% ของผู้ที่เสียชีวิตเป็นผู้สูงอายุ ที่อายุมากกว่า 60 ปี และมีปัจจัยโรคร่วม เช่น อ้วน และโรคเรื้อรังต่าง ๆ ทำให้คนไข้มีอาการหนัก จึงจำเป็นต้องฉีดวัคซีนบูสเตอร์โดสให้กลุ่มนี้เป็นหลัก รวมทั้งหญิงตั้งครรภ์ด้วย และต้องมีนโยบายให้ดำเนินการโดยเร็ว และอย่างน้อย 80% สำหรับคนกลุ่มนี้เพื่อไม่ให้เกิดการป่วยหนัก จนเสี่ยงต่อการเสียชีวิต

ด้าน นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ได้มีการฉีดวัคซีนไปแล้ว 12,569,213 โดส เป็นเข็มแรก 9,301,407 โดส เข็ม 2 จำนวน 3,267,806 คน ซึ่งระยะต่อไป สธ. จะส่งมอบวัคซีนไปยังจุดทั่วประเทศอย่างน้อยสัปดาห์ละ 2 ล้านโดส โดยแนวปฏิบัติในขณะนี้เนื่องจากระบาดมากในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล กลุ่มเป้าหมายที่จะฉีดวัคซีนในระยะ 1-2 สัปดาห์นี้ คือกลุ่มผู้สูงอายุและผู้ป่วย 7 โรคเรื้อรัง โดยเฉพาะในพื้นที่ที่มีระบาดสูง เพื่อลดการป่วยหนักและการเสียชีวิต เช่น สัปดาห์นี้จะมีการส่งวัคซีนไปในเขตกรุงเทพฯ 7 แสนโดส ใน 126 จุดฉีดใน กทม. และ 21 จุดฉีดนอกโรงพยาบาล

“วันนี้มีการประชุมคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ มีประเด็นสำคัญดังนี้ 1. การให้วัคซีนโควิดสลับชนิดกันเพื่อเพิ่มภูมิคุ้มกัน โดยอ้างอิงจากการศึกษาของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ และกระทรวงการอุดมศึกษา ทั้ง 3 แหล่งมีข้อมูลตรงกันว่า การฉีดวัคซีนสลับชนิดกัน สามารถกระตุ้นภูมิคุ้มกันได้สูง และเชื่อว่าสามารถต่อสู้กับเชื้อกลายพันธุ์ โดยเฉพาะสายพันธุ์เดลต้าได้”

นพ.โอภาส อธิบายว่า การศึกษาการฉีดเข็มแรกเป็นซิโนแวค และอีก 3-4 สัปดาห์ ฉีดเข็ม 2 เป็นแอสตร้าเซนเนก้า จะกระตุ้นภูมิคุ้มกันให้สูงขึ้น ซึ่งมีตัวเลขในห้องปฏิบัติการที่ชัดเจน ภูมิสูงขึ้นเร็วใกล้เคียงกับการฉีดแอสตร้าเซนเนก้า 2 เข็ม แต่ใช้เวลาสร้างภูมิคุ้มกันสั้นกว่าเดิม ส่วนกรณีฉีดแอสตร้าเซนเนก้าเข็มที่ 1 เข็มที่ 2 แนะนำให้ฉีดแอสตร้าฯเป็นเข็ม 2 ไม่มีการสลับชนิด

ส่วนการฉีดวัคซีนกระตุ้นเข็ม 3 ให้บุคลากรทางการแพทย์และเจ้าหน้าที่สาธารณสุขด้านหน้า ในกรณีฉีดซิโนแวคไปแล้ว 2 เข็ม จะมีประสิทธิภาพในการลดการติดเชื้อได้ 80-90% ส่วนบุคลากรการแพทย์ที่ฉีดซิโนแวคแล้ว 2 เข็ม ลดการติดเชื้อได้ 70% ลดการป่วยหนัก และเสียชีวิตแม้ไม่ 100% แต่ก็เป็นเหมือนกับทุกวัคซีนในโลกนี้ ที่ไม่มีชนิดไหนลดการติดเชื้อได้ 100%

นพ.โอภาส อธิบายว่าตอนท้ายว่า การเริ่มฉีดบูสเตอร์โดสให้บุคลากรทางการแพทย์จะดำเนินการเมื่อมีความพร้อมทันที ส่วนวัคซีนที่จะใช้กระตุ้นจะใช้แอสตร้าเซนเนก้าก่อน เพราะวัคซีนไฟเซอร์ที่ทางสหรัฐอเมริกาบริจาคให้ยังไม่ได้ส่งมาที่ประเทศไทย อยู่ในช่วงหารือรายละเอียด ทั้งจำนวนและเวลาส่งมอบ

ส่วนกรณีประชาชนที่ฉีดซิโนแวคครบ 2 เข็มแล้ว จะได้รับการฉีดบูสเตอร์ในกลุ่มต่อไป แต่ต้องดูข้อมูลต่าง ๆ ให้ครบถ้วน