สธ.แนะวิธีกักตัวที่บ้าน พร้อมจัดทีมค้นหาผู้สูงอายุ-คนท้องเพื่อฉีดวัคซีน

สธ.แนะวิธีกักตัวที่บ้าน พร้อมจัดทีมค้นหาผู้สูงอายุเพื่อฉีดวัคซีน กรณีผู้ติดเชื้อที่บ้านไม่มีห้องแยกอาจจะไม่อนุญาต

วันที่ 12 กรกฎาคม 2564 เวลา 13.30 น. ที่กระทรวงสาธารณสุข นายแพทย์วีรวุฒิ อิ่มสำราญ รองอธิบดีกรมการแพทย์ แถลงถึงแนวทางการแยกกักตัวที่บ้าน (home isolation-HI) ว่า ผู้ป่วยที่เข้าเกณฑ์ และจำเป็นต้องแยกกักตัวที่บ้าน สามารถติดต่อสถานพยาบาลใกล้บ้าน หรือหากติดขัดสามารถติดต่อได้ที่เบอร์ โทร. 168

โดยผู้ป่วยที่เข้าเกณฑ์ทำ HI คือผู้ป่วยใหม่ที่มีอาการเล็กน้อย หรือไม่มีอาการ ที่อยู่ในระหว่างรอเตียง หรือได้รับการรักษามาแล้วอย่างน้อย 7-10 วัน แล้วอาการคงที่ ทั้งนี้ แพทย์จะพิจารณา 7 ประเด็นหลัก ๆ ดังนี้

1.ผู้ป่วยที่ไม่มีอาการ

2.ผู้ป่วยอายุน้อยกว่า 60 ปี

3.ผู้ป่วยมีสุขภาพแข็งแรง

4.ผู้ป่วยอาศัยอยู่คนเดียว หรืออยู่ร่วมไม่เกิน 1 คน

5.ผู้ป่วยมี BMI < 30 kg/m2 หรือ BW < 90 kg

6.ผู้ป่วยต้องไม่มีโรคร่วมดังต่อไปนี้ โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง (COPD), โรคไตเรื้อรัง (CKD Stage 3, 4), โรคหัวใจและหลอดเลือด, โรคหลอดเลือดสมอง, โรคเบาหวานที่คุมไม่ได้

7.ผู้ติดเชื้อมีความยินยอมแยกตัวในที่พักของตนเอง

สำหรับการปฏิบัติตัวของผู้ป่วยโควิด-19 เมื่อทำ home isolation คือ

1. ห้ามคนมาเยี่ยมบ้าน

2. ห้ามเข้าใกล้ทุกคนหรือเว้นระยะห่างอย่างน้อย 2 เมตร

3. แยกห้องพัก ของใช้ส่วนตัว หากแยกไม่ได้ควรแยกให้ห่างจากผู้อื่นมากที่สุด และเปิดหน้าต่างให้อากาศถ่ายเท

4. ห้ามรับประทานอาหารด้วยกัน

5. สวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลาที่ไม่ได้อยู่คนเดียว

6. ล้างมือด้วยสบู่หรือแอลกอฮอล์ทุกครั้งที่จำเป็นจะต้องสัมผัส

7. แยกซักเสื้อผ้า ผ้าขนหนู และเครื่องนอน ด้วยน้ำและสบู่หรือผงซักฟอก รวมถึงควรใช้ห้องน้ำแยกจากผู้อื่น และควรแยกขยะ


นายแพทย์วีรวุฒิกล่าวว่า จะมีการจัดระบบเข้ามาดูแลติดตามอาการจากสถานพยาบาล ได้แก่ 1.ปรอทวัดไข้และเครื่องวัดออกซิเจนในเลือด 2.telemedicine โดยทีมแพทย์และพยาบาล 3.รับประทานยาตามดุลพินิจของแพทย์ 4.ให้บริการอาหารสามมื้อ ติดตาม ประเมินอาการ และให้คำปรึกษา 5.หากอาการเปลี่ยนแปลงหรือแย่ลงให้แจ้งทีมแพทย์และสถานพยาบาลทันที

“ส่วนการแยกกักตัวในชุมชน (community isolation-CI) เริ่มดำเนินการแล้วในส่วนของกรมการแพทย์ และกรุงเทพฯ มีการเตรียมความพร้อมดำเนินการ มีเตรียมศูนย์พักคอยไว้ 16 แห่งใน 15 เขตที่พร้อมรองรับผู้ป่วยที่ไม่มีอาการหรือมีอาการน้อย ตอนนี้ที่เตรียมไว้ก็ประมาณ 2,500 คนในเบื้องต้น โดยมีโรงพยาบาลที่เป็นเจ้าภาพแต่ละ CI มีแพทย์ พยาบาล และระบบติดตามในลักษณะเดียวกันกับ HI เพื่อเราจะเก็บเตียงโรงพยาบาลตอนนี้ที่มีจำกัดให้กับผู้ป่วยที่มีอาการปานกลางหรือผู้ป่วยสีเหลือง และผู้ป่วยหนัก หรือผู้ป่วยสีแดง

กรณีผู้ติดเชื้ออาศัยในบ้านที่ไม่มีห้องแยก และอยู่รวมกันหลายคน อาจจะไม่อนุญาต เพราะคนที่ไม่ติดเชื้อจะเสี่ยง ทั้งนี้ขึ้นกับดุลพินิจแพทย์ โดยอาจนำผู้ป่วยรายนั้นไปอยู่ CI ให้ปลอดภัยกับสมาชิกครอบครัวที่ไม่ติดเชื้อ

ด้าน นพ.โกเมนทร์ ทิวทอง รองผู้อำนวยการสำนักงานสนับสนุนระบบปฐมภูมิและคลินิกหมอครอบครัว กล่าวว่า มีการจัดทีม Comprehensive COVID-19 Response Team (CCR Team) เพื่อให้คำปรึกษาและให้ความรู้ผู้ป่วยโควิด-19 ที่ทำ home isolation กักตัวที่บ้าน

“ทีม CCR ประกอบด้วยบุคลากรทางการแพทย์หน่วยบริการปฐมภูมิ คลินิกชุมชนอบอุ่น ซึ่งมีทั้งแพทย์ พยาบาล นักวิชาการสาธารณสุข ร่วมด้วยอาสาสมัครสาธารณสุข เครือข่ายภาคประชาชน บุคลากร กทม. เจ้าหน้าที่เขต หรือกำลังทหารตำรวจคอยช่วยประสานการลงพื้นที่ ซึ่งจะครอบคลุมการดูแลพื้นที่ กทม. ทั้ง 6 โซน”

ตอนนี้เราเตรียมทีมขั้นต่ำไว้แล้ว 188 ทีม เพื่อการดูแลใน 2 สัปดาห์นี้ และยังจัดตั้งศูนย์ประสานงานสนับสนุน CCR Team ที่เบอร์ 0-2590-1933 เพื่อประสานคลินิกชุมชนอบอุ่น ซึ่งเป็นคลินิกปฐมภูมิที่จะเข้ามาร่วมภารกิจครั้งนี้ และได้เปิดตัว CCR Team และส่งลงพื้นที่ซอยลาซาลแล้ว

ทางทีม CCR มีระบบติดตามอาการ และถ้าอาการไม่ดีขึ้นจะมีการประสานเรื่องส่งต่อไปรักษาที่โรงพยาบาล นอกจากนั้นจะทำการค้นหากลุ่มผู้สูงอายุ กลุ่มผู้มีโรคประจำตัว และหญิงตั้งครรภ์เพื่อให้ทำการฉีดวัคซีนให้ด้วย