ศบค.เผยยอดป่วยหนักพุ่ง 3,042 คน กทม. ติดโควิดสะสมทะลุ 1 แสนราย

รพ.สนาม-กทม.
เครดิตภาพ : กทม.

ศบค.เผยยอดผู้ป่วยสะสมของ กทม. นำโด่ง วันนี้ทะลุเกิน 1 แสนรายแล้ว เผยมีผู้ป่วยรักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาล 95,410 ราย ผู้ป่วยอาการหนัก 3,042 ราย ต้องใส่เครื่องช่วยหายใจ 794 ราย

วันที่ 13 กรกฎาคม 2564 ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 ของรัฐบาล (ศบค.) รายงานข้อมูลสถานการณ์ผู้ติดเชื้อประจำวันว่า วันนี้ สถานการณ์การติดเชื้อ COVID-19 ในประเทศ ข้อมูลตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2564 มีผู้ป่วยรายใหม่ 8,685 ราย ผู้ป่วยยืนยันสะสม 324,849 ราย หายป่วยแล้ว 228,029 ราย เสียชีวิตเพิ่ม 56 คน รวมเสียชีวิตสะสม 2,753 ราย

ส่วนข้อมูลสะสมตั้งแต่ปี 2563 มีผู้ป่วยยืนยันสะสม 353,712 ราย หายป่วยแล้ว 255,455 ราย เสียชีวิตสะสม 2,847 ราย

วันนี้ มีผู้ป่วยที่ยังรักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาลจำนวน 95,410 ราย อาการหนัก 3,042 ราย ในจำนวนนี้ต้องใส่เครื่องช่วยหายใจ 794 ราย

สำหรับ 10 จังหวัดที่มีผู้ป่วยสูงสุดวันนี้ อันดับ 1.ยังเป็นกรุงเทพมหานคร (กทม.) 2,631 ราย รวมยอดสะสมของ กทม.วันนี้ทะลุเกิน 1 แสนรายไปแล้ว โดยตัวเลขผู้ป่วยสะสมอยู่ที่ 101,575 ราย  2.สมุทรสาคร 561 ราย 3.นนทบุรี 537 ราย 4.สมุทรปราการ 529 ราย 5.ชลบุรี 459 ราย 6.ปทุมธานี 189 ราย 7.นราธิวาส 178 ราย 8.นครปฐม 177 ราย 9.สงขลา 150 ราย และ 10. อุดรธานี 126 ราย

ส่วนผู้เสียชีวิตวันนี้ 56 ราย อยู่ใน กทม. มากที่สุด 30 ราย นราธิวาส 4 ราย นครปฐม ปทุมธานี กำแพงเพชร ชลบุรี เพชรบุรี จังหวัดละ 2 ราย ที่เหลือจังหวัดละ 1 ราย ส่วนปัจจัยเสี่ยงยังมาจากโรคความดันโลหิตสูง เบาหวาน ไขมันในเส้นเลือด โรคไต อ้วน เป็นต้น (ตารางด้านล่าง)

สำหรับผู้รับการฉีดวัคซีนล่าสุด เมื่อวันที่ 12 กรกฎาคม 2564 มีผู้รับการฉีดวัคซีน เข็มที่ 1 จำนวน 297,542 ราย เข็มที่ 2 จำนวน 41,438 ราย และระหว่างวันที่ 28 กุมภาพันธ์–12 กรกฎาคม 2564 มีผู้รับวัคซีนสะสมทั้งหมด จำนวน 12,908,193 โดส

สำหรับสถานการณ์ทั่วโลก ข้อมูล ณ วันอังคารที่ 13 กรกฎาคม 2564 เวลา 10.00 น. มียอดผู้ติดเชื้อรวม 188,066,962 ราย อาการรุนแรง 78,536 ราย รักษาหายแล้ว 172,005,107 ราย และเสียชีวิต 4,055,759 ราย

ส่วนอันดับประเทศที่มีผู้ติดเชื้อสูงสุด ได้แก่ 1.สหรัฐอเมริกา จำนวน 34,766,404 ราย 2.อินเดีย จำนวน 30,904,734 ราย 3.บราซิล จำนวน 19,106,971 ราย 4.ฝรั่งเศส จำนวน 5,813,899 ราย 5.รัสเซีย จำนวน 5,808,473 ราย และประเทศไทย อยู่ในอันดับที่ 60 จำนวน 353,712 ราย