เปิดสูตรจัดสรรวัคซีนโมเดอร์นา 1 หมื่นโดส/แห่ง นายก รพ.เอกชนเผย

โมเดอร์นา
Photo by Joseph Prezioso / AFP

นายกสมาคม รพ.เอกชน ชี้แจงการจัดสรรวัคซีนทางเลือก “โมเดอร์นา” ให้แห่งละ 10,000 โดส ส่วนที่เหลือจัดสรรให้ตามสัดส่วนการจอง 

วันที่ 15 กรกฎาคม 2564 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ (5 ก.ค.) องค์การเภสัชกรรม เปิดเผยว่า จะมีการนำเข้าวัคซีนทางเลือกโมเดอร์นา ซึ่งรับมาจาก บริษัท ซิลลิค ฟาร์มา จำกัด ในช่วงไตรมาส 4 ปี 2564 และ ไตรมาส 1 ปี 2565 จำนวน 5 ล้านโดส

ล่าสุด มติชนรายงานว่า นพ.เฉลิม หาญพาณิชย์ นายกสมาคมโรงพยาบาลเอกชน ระบุว่า วัคซีนโมเดอร์นา จำนวน 5 ล้านโดส นี้ ได้จัดสรรให้กับ สภากาชาดไทย โรงพยาบาล (รพ.) รามาธิบดี และ รพ.ศิริราช จำนวน 1.1 ล้านโดส ส่วนที่เหลือ 3.9 ล้านโดส ได้ให้ภาคเอกชนมาจัดสรรกัน ซึ่งข้อมูลการจองวัคซีนโมเดอร์นาของโรงพยาบาลเอกชน เมื่อวันที่ 28 มิถุนายน มีทั้งสิ้น 9.2 ล้านโดส จากการจองในโรงพยาบาลเอกชน 277 แห่ง

นายกสมาคมระบุว่า ต้องการกระจายวัคซีนให้ได้ทั่วประเทศ ดังนั้นจะมีโรงพยาบาลเอกชน 199 แห่ง ที่จะได้รับวัคซีนจำนวนเต็ม เพราะมียอดการจองที่ไม่เยอะ โดยจะจัดสรรแต่ละแห่งในอัตราที่เท่ากัน แห่งละ 10,000 โดส และเหลืออีก 2 ล้านกว่าโดส ก็มาแบ่งตามสัดส่วนที่แต่ละแห่งมียอดจองเกินอยู่ หักจาก 10,000 โดส ไปก่อน

“วัคซีนโมเดอร์นายอด 5 ล้านกว่า มีหน่วยงานของรัฐ กึ่งรัฐตัดออกไปแล้ว 1.1 ล้านโดส เหลือ 3.9 ล้านโดส แต่ยอดจอง 9 ล้านกว่าโดส เราก็ต้องนำมาจัดสรร ให้ไปก่อนโรงละหมื่นโดส ที่เหลือมาจัดสรรตามคอมมอนไซซ์ จะเห็นว่าวัคซีนบางคนได้ 30% บางคนได้ 40% แต่โรงเล็กได้ 100 % หลักการมีแค่นี้ ไม่มีการกระจุกตัว”

สำหรับยอดจองของประชาชนที่มากถึง 9 ล้านโดส แต่วัคซีนเข้ามาเพียง 5 ล้านโดส จะจัดการกับส่วนต่างอีก 4 ล้านโดส อย่างไร นพ.เฉลิม ระบุว่า ในจำนวน 9 โดสล้านนั้น บางครั้งอาจมีรายชื่อซ้ำกัน เนื่องจากบางคนกลัวจะไม่ได้วัคซีนจึงจองหลายที่ แล้วโรงพยาบาลเอกชนก็เปิดให้จอง พร้อมชำระเงิน ฉะนั้นจึงไม่มีปัญหาในส่วนนี้

สภากาชาดไทย เจรจาซื้อ “โมเดอร์นา” 1 ล้านโดส

ขณะที่ นายเตช บุนนาค เลขาธิการสภากาชาดไทย เปิดเผยว่า สภากาชาดไทยได้เจรจาการจัดซื้อวัคซีนทางเลือกโมเดอร์นากับบริษัทผู้ผลิตเรียบร้อยแล้ว จำนวน 1 ล้านโดส เพื่อนำเข้ามาฉีดให้ประชาชนฟรี ไม่มีค่าใช้จ่าย โดยขั้นตอนการเจรจาเสร็จเรียบร้อยแล้ว แต่ขั้นตอนการนำเข้าจะอยู่ที่องค์การเภสัชกรรมเป็นผู้รับผิดชอบ จึงขึ้นอยู่กับองค์การเภสัชกรรมจะนำเข้ามาได้เมื่อใด