แพทย์ศิริราช ยันฉีดวัคซีนสลับชนิด ช่วยภูมิคุ้มกันสูงไวขึ้น 

แพทย์ศิริราช ยันฉีดวัคซีนสลับชนิด ซิโนแวค-แอสตร้าเซนเนก้า ช่วยกระตุ้นภูมิคุ้มกันสูงไวขึ้น มีงานวิจัยรองรับ 

วันที่ 21 กรกฎาคม 2564 ศ.นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล แถลงข่าวประเด็นวัคซีนโควิด-19 ผ่านระบบออนไลน์ว่า จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิดทั่วโลกในปัจจุบันซึ่งเป็นสายพันธุ์เดลต้า (อินเดีย) ส่งผลให้พบอัตราผู้ป่วยเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะในประเทศไทยพบผู้ป่วยเพิ่มขึ้นเป็นหลักหมื่นต่อวัน และมีผู้เสียชีวิตเป็นหลักร้อยต่อวัน อันเป็นผลจากจำนวนการเจ็บป่วยและผู้เสียชีวิตเป็นจำนวนมากคู่ขนานไปกับศักยภาพการดูแลสุขภาพ ซึ่งปัจจุบันประเทศไทยพบผู้ติดเชื้อสายพันธุ์เดลต้าเพิ่มมากขึ้น และยังพบสายพันธุ์เบต้าบ้างในโซนภาคใต้ แต่ยังไม่พบสายพันธุ์แลมบ์ดา

ดังนั้นสิ่งสำคัญคือตอนนี้ ต้องทำให้จำนวนผู้ป่วยและผู้เสียชีวิตลดลงโดยเร็วที่สุด นั่นคือเร่งฉีดวัคซีนทั้งประเทศ 

สำหรับข้อมูลทางวิชาการในการปรับสูตรการฉีดวัคซีนเข็มที่ 1 และเข็มที่ 2 ต่างชนิดกันนั้น นพ.ประสิทธิ์ ชี้แจงว่า วัคซีนเข็มที่ 1 เป็นซิโนแวคซึ่งเป็นเชื้อตาย จะช่วยกระตุ้นภูมิคุ้มกันแบบ B Cells ได้ดี แต่กระตุ้นภูมิคุ้มกัน T Cells ไม่ดีนัก ดังนั้นหากปรับใช้วัคซีนเข็มที่ 2 คือ แอสตร้าเซนเนก้า ซึ่งกระตุ้นภูมิคุ้มกันแบบ T Cellsได้ดี เมื่อมีการฉีดวัคซีนเข็มที่ 1 เป็นซิโนแวค หลังจากนั้น 3 สัปดาห์ฉีดเข็มที่ 2 เป็นแอสตร้าเซนเนก้า โดยทั่วไปเมื่อผ่านไป 2 สัปดาห์ภูมิคุ้มกันจะสูงขึ้น โดยมีงานวิจัยจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ รองรับว่าเมื่อฉีดครบ 2 เข็มระบบภูมิคุ้มกันจะสูงขึ้นครอบคลุมสายพันธุ์เดลต้า และช่วยลดความรุนแรงและอัตราการเสียชีวิตได้

แต่หากฉีดแอสตร้าเซนเนก้าทั้งสองเข็ม จะต้องเว้นระยะระหว่างเข็ม 1 และเข็ม 2 เป็นเวลา 10-12 สัปดาห์ และภูมิคุ้มกันจะเพิ่มสูงขึ้นหลังจากฉีดเข็มที่ 2 ไปแล้ว 2 สัปดาห์

ดังนั้นถ้าถามว่า สามารถฉีดให้เร็วขึ้นได้หรือไม่ 

นพ.ประสิทธิ์ ระบุ ว่า ระยะห่างระหว่างเข็ม 1 กับ เข็ม 2 ยิ่งเว้นห่างออกไปมีแนวโน้มประสิทธิภาพมากขึ้น ตามข้อมูล หากน้อยกว่า 6 สัปดาห์ ภูมิคุ้มกันขึ้น 55%, 6-8 สัปดาห์ ภูมิคุ้มกันขึ้น 60% , 9-11 สัปดาห์ ภูมิคุ้มกันขึ้น 64% และมากกว่า หรืออยู่ในช่วง 12 สัปดาห์ ภูมิคุ้มกันขึ้น 81% และด้วยเหตุนี้จึงต้องเว้นระยะห่างไปถึง 10-12 สัปดาห์ แต่กว่าจะมีภูมิต้องใช้เวลามาก จึงต้องใช้ข้อมูลทางวิชาการ

การฉีดวัคซีนไขว้ชนิดไม่ได้แตกต่างจากการฉีดวัคซีนชนิดเดียวกัน ซึ่งมีข้อห้ามน้อยมาก ยกเว้นแพ้วัคซีนจริงๆ เช่น หากรู้ว่าแพ้วัคซีนชนิดใดชนิดหนึ่งไปแล้วก็ไม่ควรฉีดต่อ เช่น แพ้แอสตร้าเซนเนก้าเข็มแรก ในเข็มสองก็ไม่ควรรับ อีก ส่วนกรณีผู้สูงอายุ ผู้ป่วยโรคเรื้อรัง หรือหญิงตั้งครรภ์อายุ 12 สัปดาห์ขึ้นไปไม่มีข้อห้ามฉีด

ส่วนผลข้างเคียง ก่อนที่จะฉีดวัคซีนสลับชนิดให้กับประชาชนทั่วไป ได้มีการฉีดในกลุ่มตัวอย่างไปก่อนหน้านี้ 1,000 กว่าราย จนถึงวันนี้ยังไม่พบภาวะแทรกซ้อนหรืออาการไม่พึงประสงค์แต่อย่างใด นั่นหมายความว่ามีความปลอดภัยสูง

นพ.ประสิทธิ์ กล่าวต่อว่า ตอนนี้เรากำลังมองหาวัคซีนรุ่นที่ 2 รองรับการกลายพันธุ์ ขณะนี้หลายบริษัทกำลังพัฒนา เพื่อให้ครอบคลุมสายพันธุ์ต่าง ๆ 

โดยไทยกำลังติดต่อเพื่อเจรจา ซึ่งสถาบันวัคซีนแห่งชาติดำเนินการอยู่ คาดมาเร็วสุดคือต้นปี 2565 แต่อีกหลายเดือนนับจากนี้จะทำอย่างไรให้คนไทยปลอดภัย จึงเป็นที่มาของการคิดสูตรการฉีดวัคซีนซิโนแวค เข็มที่ 1 และฉีดแอสตร้าเซนเนก้าเข็มที่ 2 

ยินยันว่าสูตรนี้ ผ่านไปประมาณ 5 สัปดาห์ ทำให้ผู้ที่ได้รับการฉีดมีภูมิคุ้มกันที่ดี และปลอดภัยมากขึ้นจากสายพันธุ์เดลต้า ส่วนผู้ที่ฉีดวัคซีนซิโนแวคทั้ง 2 เข็ม โดยเฉพาะบุคลากรด่านหน้านั้นก็ควรจะฉีดกระตุ้นเข็มที่ 3 โดยใช้หลักการเดียวกันคือกระตุ้น T Cells ควรจะใช้วัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า หรือไม่ก็วัคซีน mRNA