กทม. ผู้ป่วยโควิดสะสม 2.4 หมื่นคน อัตราครองเตียง รพ.ในสังกัด 94.65%

กทม. อัพเดตสถานการณ์โควิด เผยผู้ป่วยสะสม 2.4 หมื่นคน อัตราครองเตียง รพ.ในสังกัด 94.65% ชี้แจงแนวทางการเพิ่มศักยภาพการดูแลรักษาผู้ป่วยโควิด-19 ในปัจจุบัน

วันที่ ร.ต.อ.พงศกร ขวัญเมือง โฆษกของกรุงเทพมหานคร พร้อมด้วย นายแพทย์สุขสันต์ กิตติศุภกร ผู้อำนวยการสำนักการแพทย์ และแพทย์หญิงป่านฤดี มโนมัยพิบูลย์ ผู้อำนวยการสำนักอนามัย กทม. ร่วมแถลงข่าว สถานการณ์โรคโควิด-19 พร้อมมาตรการป้องกัน ดูแลประชาชนในพื้นที่กรุงเทพมหานคร 

โฆษกของกรุงเทพมหานคร เปิดเผยว่า กรุงเทพมหานครได้ดำเนินการตามมาตรการที่ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) กำหนดเพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 อย่างเคร่งครัด โดยได้ออกประกาศกรุงเทพมหานคร เรื่องสั่งปิดสถานที่เป็นการชั่วคราวตามที่ศบค.กำหนด จุดมุ่งหมายสำคัญลดการเคลื่อนย้ายของประชาชนให้มีการเดินทางให้น้อยที่สุด ควบคู่ไปกับมาตรการการฉีดวัคซีนให้ทั่วถึง รวมทั้งการเร่งค้นหาผู้ป่วยติดเชื้อในชุมชนเพื่อนำเข้าสู่กระบวนการแยกกักตัวหรือการเข้าสู่การรักษาให้เร็วที่สุด


สำหรับสถานการณ์แพร่ระบาด โควิด-19 ในพื้นที่กรุงเทพฯ ณ วันที่ 21 ก.ค. 64  มีจำนวนผู้ป่วยโควิด-19 รายใหม่ 24,278 ราย โดยผู้ป่วย 3,327 ราย พักรักษาตัว ณ สถานพยาบาลในความดูแลของสำนักการแพทย์ กทม. สัดส่วนการครองเตียงในโรงพยาบาลสังกัดกรุงเทพมหานคร โรงพยาบาลสนามและ Hospitel ในความดูแลของกรุงเทพมหานคร ทั้งสิ้น 3,515 เตียง เตียงเสริม 188 เตียง ใช้ไปแล้ว 3,327 เตียง คงเหลือ 366 เตียง คิดเป็นอัตราการครองเตียงร้อยละ 94.65

จัดทีม CCRT ตรวจเชิงรุกในชุมชน

ผู้อำนวยการสำนักอนามัย เปิดเผยว่า สำนักอนามัย สำนักงานเขต ศูนย์บริการสาธารณสุขทั้ง 69 แห่ง บูรณาการความร่วมมือกับเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคง ประชาชน จิตอาสา จัดทีมปฏิบัติการป้องกันและแก้ไขปัญหาโควิด-19 เชิงรุก Comprehensive Covid-19 Response Team (CCRT) ลงพื้นที่ชุมชนในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ระหว่างวันที่ 15- 31 ก.ค.64 

โดยทีมCCRT จะทำหน้าที่ ดังนี้  สำรวจชุมชนเพื่อค้นหากลุ่มเสี่ยง ได้แก่ ผู้ป่วยโควิด ผู้สูงอายุ ผู้ที่มีโรคประจำตัว 7 กลุ่มโรค และหญิงตั้งครรภ์   ให้บริการตรวจคัดกรองค้นหาผู้ติดเชื้อโควิด-19 ในชุมชน ด้วยชุดตรวจ Antigen Test Kit   ให้การรักษาพยาบาลเบื้องต้นก่อนส่งต่อเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล โดยการจ่ายยาสมุนไพรฟ้าทะลายโจร และให้คำแนะนำในการแยกกักที่บ้าน (HI : Home Isolation) และมอบชุด HI แก่ผู้ป่วยที่สามารถกักตัวที่บ้านได้ 

สำหรับผู้ที่ไม่สามารถกักตัวที่บ้านได้ ทีมจะนำผู้ป่วยนำส่งศูนย์พักคอยเพื่อส่งต่อ (Community Isolation) จะดำเนินการกักกันผู้สัมผัสเสี่ยงสูงที่บ้าน และมอบชุด HQ : Home Quarantine หรือส่งเข้า LQ : Local Quarantine  ให้บริการฉีดวัคซีนกับกลุ่มเสี่ยง ได้แก่ ผู้สูงอายุ ผู้ที่มีโรคประจำตัว 7 กลุ่มโรค หญิงตั้งครรภ์  สื่อสารทำความเข้าใจ ให้ความรู้แก่ประชาชนเกี่ยวกับโรคโควิด-19 การปฏิบัติตนให้ห่างไกลจากโรคโควิด 

ผลดำเนินงานระหว่างวันที่ 15 – 20 ก.ค.64 ลงพื้นที่ชุมชน 639 แห่ง มีประชาชนเข้ารับบริการแล้ว 24,382 คน  ให้บริการฉีดวัคซีนแล้ว 17,523 ราย (ในกลุ่มผู้สูงอายุ ผู้มีโรคประจำตัว และหญิงตั้งครรภ์) ให้บริการตรวจ Antigen Test Kit แก่ประชาชนแล้ว 1,874 ราย ผลพบเชื้อ 176 ราย ได้นำส่งโรงพยาบาลเพื่อรับการรักษา 10 ราย นำส่งศูนย์พักคอยเพื่อส่งต่อ 3 ราย และให้การดูแลแยกกักตัวที่บ้าน Home Isolation 163 ราย สำหรับในวันที่ 21 ก.ค. จะลงพื้นที่ชุมชนอีก 103 แห่ง

นอกจากนี้ สำนักอนามัยเพิ่มจำนวนทีม CCRT โดยศูนย์บริการสาธารณสุข 69  แห่งจัดทีมเพิ่มแห่งละ 2 ทีม และทีมเพิ่มเติมจากภาคีเครือข่าย อาทิ กรมควบคุมโรค สภากาชาดไทย เพื่อเร่งลงพื้นที่ชุมชนให้ครบภายในเดือน ก.ค.นี้ 

สำหรับภาพรวมผลตอบรับมีผู้สูงอายุในชุมชนที่ไม่สามารถเดินทางมารับวัคซีน ณ จุดฉีดภายนอก ได้รับวัคซีนจำนวนมากขึ้น รวมทั้งมีประชาชนเข้าสู่ระบบการแยกกักตัวที่บ้านหรือ Home Isolation มากขึ้นหากประชาชนได้รับผลยืนยันว่าติดเชื้อสามารถโทรแจ้งที่สายด่วนสปสช.1330 เพื่อเข้าสู่ระบบการดูแล ซึ่ง สปสช.จะบริหารจัดการให้สถานพยาบาลแต่ละแห่งเข้าดูแลผู้ป่วยแต่ละรายต่อไป

Modular ICU รับผู้ป่วยแดง 40 เตียง 

ผู้อำนวยการสำนักการแพทย์ เปิดเผยว่า แนวทางการรับผู้ป่วยเข้าสู่การรักษาในขณะนี้ หากพบผู้ป่วยมีผลการตรวจด้วยวิธี RT-PCR หรือการใช้ Antigen Test Kit (ATK) ในสถานพยาบาลเป็นบวก เบื้องต้นจะแนะนำให้ประชาชนใช้วิธีการแยกกักตัวที่บ้าน โดยมีเจ้าหน้าที่จัดส่งยาและอุปกรณ์ในการกักตัวที่บ้าน พร้อมตรวจติดตามอาการทุกวัน 

สำหรับประชาชนที่ไม่สามารถกักตัวที่บ้านได้ ให้ประสานสายด่วน 1669 , 1668 หรือ 1330 เพื่อนำเข้าสู่ระบบการรักษา หรือเข้าสู่ศูนย์พักคอยเพื่อส่งต่อ จากนั้น 3- 4 วัน จะนำผู้ป่วยเข้าสู่ระบบการรักษาตามระดับอาการของผู้ป่วย ณ ขณะนั้น 

ทั้งนี้สำนักการแพทย์ได้เร่งเพิ่มศักยภาพศูนย์เอราวัณเพื่อรับส่งผู้ป่วยโควิด โดยร่วมกับสำนักงานเขต และหน่วยทหาร ปัจจุบันสามารถรับผู้ป่วยเข้ารับการดูแลได้มากกว่า 400 รายต่อวัน เร่งขยายศักยภาพการรับผู้ป่วยที่มีอาการหรือผู้ป่วยเคสเหลืองและแดงในโรงพยาบาลสังกัดกรุงเทพมหานครทุกแห่ง 

รวมทั้งในส่วนของโรงพยาบาลผู้สูงอายุบางขุนเทียนสามารถรับผู้ป่วยเคสเหลืองได้เพิ่มขึ้น และโรงพยาบาลสนามโรงพยาลราชพิพัฒน์ได้เร่งก่อสร้าง Modular ICU เพื่อรับผู้ป่วยสีแดง ขณะนี้เปิดรับผู้ป่วยได้แล้ว 20 เตียง คาดว่าจะสามารถเปิดรับผู้ป่วยได้ครบ 40 เตียงตามเป้าหมายภายใน เดือนก.ค. 2564 นี้

อัพเดตศูนย์พักคอยเพื่อส่งต่อ-CI 

ปัจจุบันกรุงเทพมหานครได้จัดตั้งศูนย์พักคอยเพื่อส่งต่อ หรือ CI-Community Isolation เพื่อรองรับผู้ป่วยที่มีผลตรวจรับรองว่าติดเชื้อโควิด-19 เพิ่มศักยภาพการดูแลรักษาผู้ป่วยตกค้าง รวมทั้งป้องกันและควบคุมสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคในกรุงเทพฯ 

โดยแบ่งพื้นที่ 6 กลุ่มเขต เป้าหมายตั้ง CI 1 เขต 1 ศูนย์พักคอย ขณะนี้จัดตั้งแล้ว 50 แห่ง อยู่ในพื้นที่เขต 47 เขต เปิดบริการแล้ว 21 แห่ง รองรับผู้ป่วยได้ 5,781 เตียง 

นอกจากนี้ยังได้จัดตั้งศูนย์พักคอยสำหรับเด็กเพื่อส่งต่อ บริเวณศูนย์สร้างสุขทุกวัยเกียกกาย เขตดุสิต โดยปรับปรุงพื้นที่ชั้น 3 จัดทำเป็นสถานที่ดูแลผู้ป่วยเด็ก สามารถรองรับผู้ป่วยเด็กได้ 52 เตียง แบ่งเป็นชาย 26 เตียง หญิง 26 เตียง โดยจะมีกิจกรรมและของเล่นตามช่วงวัย เพื่อให้เด็กได้มีกิจกรรมผ่อนคลายในช่วงที่ต้องอยู่ห่างจากพ่อแม่ โดยมีทีมแพทย์จากวชิรพยาบาลเป็นผู้บริหารจัดการผู้ป่วยเด็ก รวมทั้งมีอาสาสมัคร พี่เลี้ยงเด็ก ครูอาสาคอยดูแลอย่างใกล้ชิดตลอด 24 ชั่วโมง และหากมีอาการที่จะต้องเข้ารักษาพยาบาล ก็สามารถส่งเข้าโรงพยาบาลได้ทันที