40 CEO เสนอ ‘ประยุทธ์’ ภารกิจ ‘ฟื้นกรุงเทพ’ จากโควิด

สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่ที่ทวีความรุนแรงขึ้นและนำมาซึ่งการบังคับใช้มาตรการล็อกดาวน์ใน 10 จังหวัดสีแดงเดิมและขยายเพิ่มเติมอีก 3 จังหวัด (ฉะเชิงเทรา-ชลบุรี-พระนครศรีอยุธยา) ได้ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจและการดำเนินชีวิตตามปกติของประชาชน โดยมีการประเมินกันว่า หากล็อกดาวน์ครบ 13 วันจะสร้างความเสียหายถึง 100,000 ล้านบาทนั้น

คณะกรรมการหอค้าไทย พร้อมด้วยประธานเจ้าหน้าที่บริหาร (ซีอีโอ) 40 บริษัทใหญ่ของไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (สอท.)-สมาคมบริษัทจดทะเบียนหารือกับ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ในวันที่ 22 กรกฎาคมที่ผ่านมา

คณะกรรมการหอการค้าไทยได้นำเสนอ 4 ประเด็น ประกอบไปด้วย 1) การควบคุมการแพร่ระบาด ทั้งการจัดสรรและกระจายวัคซีนอย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ 2) การเยียวยาผู้ประกอบการและประชาชน มาตรการแก้ไขปัญหาการขาดแคลนแรงงาน เร่งรัดการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 ให้กับแรงงาน 3) การกระตุ้นเศรษฐกิจ การกระตุ้นผู้มีรายได้และผู้มีกำลังซื้อสูง เช่น นำมาตรการ “ช้อปดีมีคืน” กลับมาอีกครั้ง โดยเพิ่มวงเงินเป็น 100,000 บาท การลงทุนเพิ่มของภาคเอกชนด้วยวงเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำพิเศษ สิทธิประโยชน์ BOI รวมไปถึงแผนระยะกลางทบทวนความพร้อมของประเทศในการเข้าสู่ new economy

และ 4) การฟื้นฟูประเทศไทยด้วยการเปลี่ยนวิกฤตเป็นโอกาส ตั้งคณะกรรมการร่วมรัฐเอกชน ด้านเกษตรสมัยใหม่ ท่องเที่ยวคุณภาพ การศึกษายุคใหม่ และ food for future และการฟื้นฟูเศรษฐกิจ ด้วย digital transformation

นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวว่า นายกรัฐมนตรีรับข้อเสนอของ 40 CEO Plus ทุกเรื่อง และจะนำเข้าหารือในที่ประชุม ศบศ. “ท่านนายกฯบอกว่า ท่านจดข้อเสนอด้วยลายมือของตัวเอง 10 หน้า และบอกว่า ผมต้องเอากลับไปทำการบ้าน ส่วนเรื่องวัคซีน CEO ท่านใดที่มีคอนเน็กชั่นให้มาช่วยด้วย เช่น คุณฮาลาลด์ ลิงค์ CEO บี.กริม ซึ่งเป็นผู้ที่มีสายสัมพันธ์ที่ดีกับทางฝั่งยุโรป หากมีโอกาสเป็นไปได้ขอให้ช่วยเรื่องนี้ด้วย”

อย่างไรก็ตาม ทุกคนเห็นพ้องกันว่า ต้อง “กู้กรุง” หมายถึง การควบคุมปัญหาการระบาดในกรุงเทพฯ ซึ่งเป็นศูนย์กลางทางเศรษฐกิจและการท่องเที่ยว โดยท่านนายกฯย้ำว่า “ต้องปรับการทำงาน อย่าใช้รูปแบบเดิม” กฎเกณฑ์เก่าที่เป็นอุปสรรคต้องเลิก เช่น BOI ต้องรื้อดูใหม่เพื่อดึงดูดบริษัทต่าง ๆ มาลงทุน รวมไปถึงมาตรการดึงเม็ดเงินกู้ 500,000 ล้านที่จะใช้ไตรมาส 4 ขยับมาใช้ให้เร็วขึ้น

เร่งฟื้นกรุงเทพฯเร็ว ๆ

ขณะเดียวกันภายในที่ประชุม 40 CEO Plus ได้มีการเปิดโอกาสให้ CEO นำเสนอมุมมองต่อการแก้ไขปัญหาสถานการณ์โควิด-19 โดย นายฮาราลด์ ลิงค์ ประธาน บี.กริม และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.บี.กริม พาวเวอร์ กล่าวว่า ได้นำเสนอ 2 ประเด็นหลัก 1) การนำเงินเข้าประเทศ “ยกเว้น” เรื่องการส่งออก-ท่องเที่ยว ต้องทำให้การลงทุนเกิดขึ้นจริง หลายบริษัทที่เข้ามาลงทุนแล้ว บางครั้งติดขัดกับระเบียบราชการ จึงควรทำระบบ “BUDDY” ให้บริษัทใหญ่ ๆ ในหอการค้าเป็นบัดดี้ให้นักลงทุนต่างประเทศ กับ 2) ต้องจัดหาบริษัทที่ทำหน้าที่ประชาสัมพันธ์เสริมสร้างภาพลักษณ์ประเทศไทยในต่างชาติจะมีผลต่อภาพลักษณ์ประเทศ

ส่วนการใช้มาตรการล็อกดาวน์นั้น นายฮาราลด์กล่าวว่า คนที่อยู่ในที่นี้คงไม่คิดว่า ล็อกดาวน์จะเป็นประโยชน์ สิ่งสำคัญต้องดูที่การควบคุมการแพร่ระบาดในพื้นที่ที่ระบาดสูงสุดให้ได้ ถ้าที่ไหนไม่มีการระบาดก็ไม่ต้องล็อกดาวน์ เช่น ถนนวิทยุไม่มีก็ไม่ต้องล็อก และทุกคนอยากให้กรุงเทพฯฟื้นเร็ว ๆ

“เรื่องล็อกดาวน์เป็นวิธีการที่ง่ายที่สุด แต่ไม่มีประเทศไหนที่ประสบความสำเร็จ ดีที่รัฐบาลไม่ได้ห้ามเด็ดขาด ไม่ได้ล็อกดาวน์จริงจัง ไม่ใช่เช่นนั้นเศรษฐกิจของประเทศจะแย่กว่านี้ ถ้าเราเปิดประเทศได้ตุลาคมนี้ ส่งออกไม่ได้เลวร้าย มีโอกาสจะไม่ใช่แค่ 0% แต่อาจจะบวกนิด ๆ ก็ได้ การใช้งบประมาณเยียวยานั้น ผมไม่เห็นด้วยที่จะใช้เงินไปให้บริโภคเฉย ๆ แต่ควรจะให้เงินเพื่อสร้างประโยชน์ เช่น ให้เงินคนที่จะนำไปสอน หรือให้เงินเพื่อที่จะไปเรียน” นายฮาราลด์กล่าว

หยุดดอกเบี้ย 6 เดือน

นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ได้เสนอข้อเสนอเร่งด่วนเพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการ SMEs จำนวน 4 ข้อ ได้แก่ 1) ให้พิจารณาเพิ่มสัดส่วนการค้ำประกันความเสียหายผ่านบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) เพิ่มขึ้นเป็น 60% เพื่อให้สถาบันการเงินสามารถให้สินเชื่อแก่ผู้ประกอบการที่ประสบปัญหาในช่วงนี้ได้มากขึ้น 2) พิจารณาแยกสถานะผู้ประกอบการที่เข้าเกณฑ์ NPL เนื่องจากโควิด ให้ต่างจากสถานะลูกหนี้ NPL ทั่วไป และขอให้ไม่ติดปัญหาการพิจารณาสินเชื่อสถาบันการเงิน 3 ปี หลังจากสิ้นสุดปัญหาโควิด

3) ขอให้สถาบันการเงิน “หยุดคิดดอกเบี้ย” สำหรับกิจการที่ถูกสั่งปิดจากมาตรการโควิดของภาครัฐ เป็นระยะเวลา 6 เดือน สำหรับ SMEs ยอดกู้ไม่เกิน 20 ล้านบาท และ 4) ขอ “ยกเว้น” ภาษีนิติบุคคล SMEs 3 ปี สำหรับผู้ที่จัดทำบัญชีเดียวและเข้าระบบภาษี e-Tax

ส.ศูนย์การค้าจี้รัฐเยียวยา

ทางด้าน นางสาววัลยา จิราธิวัฒน์ รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เซ็นทรัลพัฒนา จำกัด (มหาชน) หรือ CPN อดีตนายกสมาคมศูนย์การค้าไทย กล่าวว่า สมาคมได้นำเสนอมาตรการเยียวยาภาคธุรกิจศูนย์การค้า 4 มาตรการหลัก ได้แก่ 1) สนับสนุนค่าใช้จ่ายที่ธุรกิจศูนย์การค้าได้ช่วยเหลือเพื่อพยุงธุรกิจ

2) กระตุ้นการลงทุนต่อเนื่อง ให้เกิดการลงทุนในทรัพย์สิน อาคารถาวร เครื่องจักร อุปกรณ์ รวมถึงการซ่อมบำรุง เพื่อให้ทรัพย์สินมีอายุการใช้งานมากกว่า 1 ปี สามารถลงเป็นรายจ่ายเพิ่มได้ 2 เท่า (เช่นเดียวกับปีที่แล้ว)

3) การเยียวยาธุรกิจที่ต้องปิดกิจการชั่วคราว ตามคำสั่ง ศบค. หากธุรกิจสามารถบริหารจัดการให้พนักงานได้รับวัคซีนครบ 70% แล้ว ขอให้ธุรกิจเหล่านั้นสามารถเปิดให้บริการได้ตามปกติ และ 4) ช่วยลดค่าใช้จ่าย เช่น ขยายเวลาลดหย่อนภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง 90% อีก 1 ปี ลดค่าไฟฟ้า 50% ยกเว้นภาษีป้าย และค่าเช่าที่ดินที่เช่าจากภาครัฐ

AIS-DTAC แนะดึงเอกชนร่วม

นายสมชัย เลิศสุทธิวงค์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส (AIS) กล่าวว่า มีข้อเสนอแนะ 2 เรื่องคือ 1) ภาครัฐมีแผนงาน หากแผนไม่เป็นไปตามเป้าหมายก็ต้องพูดความจริงให้ประชาชนทราบ ไปเพื่อให้ประชาชนเกิดความเชื่อมั่น กับ 2) มองว่ารัฐบาลยังมีทรัพยากรด้านต่าง ๆ อยู่ จึงอยากเสนอให้มีการ reallocate resource ในทุกหน่วยงานของภาครัฐ เพื่อเอามาร่วมใช้ในการแก้วิกฤตครั้งนี้ โดยดึงเอกชนและภาครัฐที่เกี่ยวข้องมาช่วยกันทำงาน

ส่วน นายชารัด เมห์โรทรา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น (ดีแทค) กล่าวว่า บริษัทเสนอ 5 มาตรการคือ 1) การควบคุมการแพร่ระบาด โดยใช้เครือข่ายการสื่อสารและบิ๊กดาต้า ซึ่งดีแทคสามารถทำงานกับภาครัฐช่วยสนับสนุนแผนการของรัฐบาลในการฉีดวัคซีนและระบุพื้นที่ที่มีความเสี่ยงสูงล่วงหน้า 2) แจ้งข่าวสารด้วยการส่งข้อความตรงไปที่กลุ่มลูกค้าที่กำหนด 3) สนับสนุนช่องทางออนไลน์และการใช้เน็ตแก่ผู้ประกอบการ 4) เร่งสร้างโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลกระตุ้นเศรษฐกิจระยะยาว และ 5) มีมาตรการฟื้นฟูประเทศ สนับสนุนธุรกิจ และการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ