สธ.เผยเครื่องออกซิเจนไม่พอ มีลักลอบส่งไปประเทศเพื่อนบ้าน

เครื่องผลิตออกซิเจนไม่พอ

กระทรวงสาธารณสุขเผย กักตัวที่บ้านช่วยเตียงเพิ่ม 10% แต่เครื่องออกซิเจนไม่พอ ซ้ำมีลักลอบส่งออกไปประเทศเพื่อนบ้าน

วันที่ 27 กรกฎาคม 2564 เวลา 13.30 น. กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) แถลงผ่านระบบออนไลน์ทางเฟซบุ๊กของกระทรวงสาธารณสุข ประเด็นการตรวจระบบ ATK และการเข้าสู่ระบบการรักษา โดย นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า การตรวจหาโควิด-19 แบบให้ผลเร็ว ATK (Antigen Test Kit) คือการตรวจหา antigen ไม่ใช่ antibody ซึ่งตอนนี้ สธ.ยอมรับการตรวจของ ATK มาใช้ เนื่องจากมีผู้ต้องการตรวจจำนวนมาก

ถ้าคนที่ตรวจโดย ATK แล้วมีผลบวก ซึ่งจะเรียกว่า ผู้ที่น่าจะติดเชื้อ (probable case) เนื่องจาก ATK ให้ผลบวกถูกต้อง 95% และสามารถให้ผลบวกลวง 3-5% แปลว่ามีผู้ป่วยบวก แต่ไม่ได้ติดเชื้อด้วย ทั้งนี้ ผู้ที่ตรวจด้วย ATK แล้วได้ผลบวก ให้เข้า home isolation (การกักตัวที่บ้าน) ได้ทันทีไม่ต้องตรวจซ้ำ และห้ามมีปฏิสัมพันธ์กับคนในบ้าน และหากห้องน้ำมีห้องเดียวพยายามใช้ห้องน้ำเป็นคนสุดท้าย ส่วนคนที่ได้ผลตรวจเป็นลบ ต้องตรวจทำซ้ำอีกใน 3-5 วัน

โดยสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) จะสนับสนุนอาหาร 3 มื้อ เครื่องวัดอุณหภูมิ เครื่องวัดออกซิเจน และยาที่จำเป็นให้ผู้ป่วย home isolation อย่างไรก็ตามปัจจัยสู่ความสำเร็จในการควบคุมโควิด-19 มี 5 ด้าน คือ 1.นโยบายที่ชัดเจน 2. ระบบการควบคุมโรคดี 3.ระบบการรักษาพยาบาลเข้มแข็ง 4.การฉีดวัคซีนครอบคลุม และ 5.ทุกภาคส่วนให้ความร่วมมือ

“นโยบายชัดเจนเป็นเรื่องสำคัญมาก เช่น การล็อกดาวน์ต้องเข้มข้น คนต้องทำตามกฎด้วย เพื่อกด curve การระบาดให้ได้ เพราะตอนนี้จำนวนเคสที่มีเกินกำลังที่สาธารณสุขรับได้ กว่า 3 เท่าแล้ว อย่างไรก็ตามทีมแพทย์และบุคลากรด่านหน้ายินดีทำงานเต็มที่”

“สิ่งที่กังวลคือ การนำผู้ป่วยผลบวกลวงไปอยู่ร่วมกับผู้ติดเชื้อโควิด-19 ใน community isolation (ศูนย์แยกกักตัวในชุมชน) ที่ตอนนี้มีอยู่ 20 แห่ง ในกรณีที่ผู้ที่มีผลบวก จาก ATK ไม่สามารถกักตัวที่บ้านได้ ให้เซ็นใบยินยอมรับการรักษาในศูนย์แยกกักตัวในชุมชน ศูนย์พักคอย หรือ hospitel และรับการตรวจ RT-PCR คู่ขนานไป โดยเราพยายามจัดให้อยู่มุมแยกจากคนที่มีผลติดเชื้อเป็นที่แน่นอน โดยผู้อำนวยการสำนักการแพทย์ได้บอกแล้วว่า จะยกระดับให้ศูนย์พักคอยทำการตรวจ RT-PCR ได้ทุกแห่ง และรอผลจากแล็บ 45 นาที-1 ชั่วโมง”

นพ.สมศักดิ์กล่าวถึงสถานการณ์เตียงผู้ป่วยโควิด-19 ว่า ขณะนี้เตียงรองรับผู้ป่วยทั้งโรงพยาบาลรัฐและเอกชนติดลบแล้ว เตียงผู้ป่วยสีแดงและสีเหลืองตึงเต็มที่ แต่พอมีเตียงผู้ป่วยสีเขียวว่างเพิ่มขึ้น เนื่องจากการทำ home isolation ก็ต้องให้เครื่องผลิตออกซิเจนจากส่วนทั้งรัฐและเอกชน เพื่อนำไปใช้ในฮอสพิเทลรองรับคนไข้สีเหลืองที่จะเข้มขึ้น

“ฮอสพิเทลในกรุงเทพฯ และปริมณฑล มีห้องกว่า 2 หมื่นห้อง ตอนนี้ถ้าคนทำ home isolation 10% เท่ากับว่าจะมีเตียงสีเหลืองเพิ่มอีก 2 พันกว่าเตียงรองรับผู้ป่วยได้ แต่ตอนนี้ติดขัดเรื่องเครื่องผลิตออกซิเจน เพราะมีถังออกซิเจนมากพอสมควร ที่มีการลักลอบนำออกไปต่างประเทศ โดยเฉพาะชายแดนพม่า”

ส่วนเรื่องยาฟาวิพิราเวียร์ นพ.สมศักดิ์บอกว่า ได้อัพเดตกับผู้อำนวยการองค์กรเภสัชฯตลอด ตอนนี้สต๊อกยาตัวนี้ในประเทศมีเกือบ 10 ล้านเม็ด และจะทยอยเข้ามาอีกเดือนหน้า (ส.ค.) เข้ามาเป็นรายอาทิตย์ รวม 40 ล้านเม็ด ซึ่งเรื่องอัตรายาไม่มีปัญหา

“อย่างไรก็ตาม เดิมมีเรื่องของการเบิกยาที่ค่อนข้างวุ่นวาย เราพยายามตัดขั้นตอนออก และจัดทำโรงพยาบาลเสมือนจริง (virtual hospital) โดยคนไข้ที่โทร.เข้ามา 1668 แจ้งอาการ เราจะขึ้นทะเบียนเป็น home isolation และเมื่อคนไข้ที่เริ่มมีอาการจะส่งยาฟาวิพิราเวียร์ให้ ซึ่งได้รับความร่วมมือกับภาคประชาสังคมมาช่วยจำนวนมาก ในการประสานให้ประชาชน”

ส่วนหลักการทานยาคือ หากอาการดี และไม่มีโรคประจำตัวร่วม ไม่ต้องได้รับยาฟาวิพิราเวียร์ ให้กินยาลดไข้ หรือฟ้าทะลายโจร แต่ถ้ามีอาการขอให้เริ่มยาเร็วที่สุด ส่วนผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัว และโรคอ้วน แต่ไม่มีอาการขอให้อยู่กับดุลพินิจของแพทย์ ตรงนี้เป็นการป้องกันไม่ให้อาการสีเขียวเป็นสีเหลือง

นพ.สมศักดิ์ ตอบคำถามการกรณีการดูแลพระภิกษุสงฆ์ในโรงเรียนปริยัติธรรม (วัดผ่องพลอยวิริยาราม) เขตบางนาย่านบางนา ที่มีติดเชื้อกว่า 200 รูปว่า ได้มีการทำ temple Isolation (ศูนย์การกักตัวที่วัด) ที่วัด คล้ายกับ community isolation (ศูนย์กักตัวในชุมชน) ซึ่งทางโรงพยาบาลสงฆ์ได้จัดแพทย์ พยาบาล และร่วมกับชุมชน ไปดูแลรูปที่ติดเชื้อ ดูอาการภาพรวมทั้งหมด หากพระรูปใดอาการมากขึ้น เข้าข่ายสีเหลืองเข้ม ต้องการออกซิเจนจะนิมนต์มาดูแลที่โรงพยาบาลสงฆ์