อัยการพร้อมรับตัว “เณรคำ” ส่งฟ้องศาลทันทีหลังถึงไทย

เรือโทสมนึก เสียงก้อง โฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด เปิดเผยว่า ขณะนี้ประเทศสหรัฐอเมริกาได้ส่งตัว นายวิรพล สุขผล หรือ เณรคำ หรือ หลวงปู่เณรคำ อดีตประธานสำนักสงฆ์วัดป่าขันติธรรม จังหวัดศรีสะเกษ กลับมาดำเนินคดีในประเทศไทย ตามพระราชบัญญัติส่งผู้ร้ายข้ามแดน และตามสนธิสัญญาการส่งผู้ร้ายข้ามแดน ตามที่อัยการได้ยื่นคำร้องไป โดยสหรัฐอเมริกาสามารถจับตัวเณรคำได้เมื่อวันที่ 22 กรกฎาคม 2559 และศาลชั้นต้นรัฐบาลกลางแห่งแคลิฟอร์เนียร์ สหรัฐอเมริกา ได้มีคำสั่งให้ส่งตัวผู้ร้ายข้ามแดน เมื่อวันที่ 18 พฤษภาคม 2560 โดยเณรคำไม่ได้ยื่นขออุทธรณ์คำสั่งศาล ส่วนการรับตัวเณรคำ สำนักงานอัยการสูงสุด ได้มอบหมายเจ้าหน้าที่อัยการร่วมกับเจ้าหน้าที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือ ดีเอสไอ เดินทางเป็นคณะไปรับตัวที่สหรัฐอเมริกา

สำหรับเณรคำ ดีเอสไอได้ดำเนินคดีจำนวน 2 คดี ประกอบด้วยข้อหาพรากเด็กอายุไม่เกิน 15 ปี ไปจากบิดามารดาหรือ ผู้ปกครอง เพื่อการอนาจาร ฯ กระทำชำเราเด็กอายุไม่เกิน 15 ปี ฯ และอนาจารเด็กฯอายุไม่เกิน 15 ปี และอีกคดีข้อหานำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ด้วยข้อมูลอันเป็นเท็จฯ ตามพระราชบัญญัติคอมพิวเตอร์ ร่วมกันฉ้อโกงประชาชน และฟอกเงิน ซึ่งอัยการฝ่ายคดีพิเศษ 4 ได้พิจารณาทั้งสองสำนวนคดี ได้มีความเห็นสั่งฟ้องคดีไปก่อนหน้านี้และมีคำสั่งให้ติดตามตัว เณรคำ ผู้ต้องหา มาดำเนินคดี ดีเอสไอจึงขอศาลออกหมายจับ แต่เณรคำ ได้หลบหนีไปอยู่ที่สหรัฐอเมริกา จึงได้ขอส่งตัวผู้ร้ายข้ามแดน

เรือโทสมนึก ระบุว่า เจ้าหน้าที่ได้ควบคุมตัวเณรคำออกจากสหรัฐอเมริกา เมื่อเวลา 03.00 น. และเครื่องจะลงที่สนามบินนาริตะ ประเทศญี่ปุ่น เวลา 14.00 น. โดยมีเจ้าหน้าที่รอรับและต่อเครื่องมายังประเทศไทย ซึ่งทุกอย่างเป็นไปตามความเรียบร้อย และสหรัฐอเมริกาได้ขอให้ดำเนินการกับผู้ต้องหาตามหลักสิทธิมนุษยชนด้วย

ด้านนายอำนาจ โชติชัย อธิบดีอัยการสำนักงานต่างประเทศ เปิดเผยว่า เณรคำมีลูกศิษย์ที่สหรัฐอเมริกา และการส่งตัวผู้ร้ายข้ามแดนเป็นเรื่องละเอียดอ่อน จึงไม่มีการเปิดเผยความคืบหน้าในช่วงแรกของการส่งผู้ร้ายข้ามแดนจนกว่าจะทางการไทยจะได้รับตัวเณรคำ เพื่อป้องกันความวุ่นวายที่อาจมีกลุ่มคนมาคัดค้านได้ และจากคำสั่งศาลที่สหรัฐอเมริกาการส่งตัวผู้ร้ายข้ามแดนเณรคำ ได้ต่อสู้ว่าข้อกล่าวหาเรื่องความผิดเกี่ยวกับเพศมีการถอนฟ้องไปแล้วอัยการไม่สามารถสั่งฟ้องคดีได้

นายอำนาจ ระบุว่า การต่อสู้นี้เกิดจากผู้เสียหายไปยื่นฟ้องด้วยตัวเองที่ศาล และไปขอถอนคำร้องทุกข์ ดีเอสไอจึงได้สอบสวนพบว่ามีผู้ว่าจ้างให้ดำเนินการยื่นฟ้องและถอนฟ้องคดี และเณรคำยังได้ต่อสู้ความผิดฐานฉ้อโกงว่าไม่ใช่ความผิดต่อรัฐ โดยระบุว่าเงินที่ได้เป็นเงินบริจาคและทำบุญตามสิทธิเสรีภาพของบุคคล ไม่ผิดกฎหมาย อัยการจึงชี้แจงถึงรายละเอียดการสอบสวนผู้เสียหาย และเณรคำมีการใช้จ่ายเงินส่วนตัว ส่งต่อศาลที่สหรัฐอเมริกา ส่วนเหตุผลที่เณรคำ ไม่อุทธรณ์คดีนั้น เป็นเหตุผลส่วนตัวแต่ทราบว่าการต่อสู้คดีที่สหรัฐอเมริกามีค่าใช้จ่ายสูง ในการว่าจ้างทนายความ และหากเณรคำมาถึงประเทศไทย ดีเอสไอก็จะทำหน้าที่สอบสวน ตรวจประวัติอาชญากรรม ก่อนส่งตัวให้อัยการที่พร้อมรับตัว และคำฟ้องได้จัดเตรียมเรียบร้อยแล้ว ก็สามารถดำเนินการส่งสำนวนพร้อมตัวส่งฟ้องศาลได้ทันที

 

ที่มา มติชนออนไลน์