เทียบชุดตรวจ Antigen Test Kit กับ Antibody Test Kit วิธีใช้ต่างกัน

Rapid test

ชวนทำความเข้าใจ ระหว่างชุดทดสอบ Antigen Test Kit กับ Antibody Test Kit การใช้งานที่แตกต่างกัน

วันที่ 30 กรกฎาคม 2564 ชุดตรวจหาเชื้อโควิด-19 ด้วยตนเอง “Antigen Test Kit” ได้รับการอนุมัติจากกระทรวงสาธารณสุขให้ประชาชนสามารถหาซื้อเพื่อมาทดสอบผลการติดเชื้อโควิดของตนเองได้ เพื่อเป็นการลดความแออัดและความเสี่ยงในแต่ละจุดบริการตรวจ อีกทั้งยังทำให้ทราบผลได้รวดเร็วยิ่งขึ้น แต่ยังมีประชาชนที่ยังเข้าใจผิดนำชุดทดสอบ “Antibody Test Kit” มาตรวจหาเชื้อโควิด ซึ่งเป็นการใช้งานที่ผิดประเภท

“ประชาชาติธุรกิจ” นำข้อมูลมาเปรียบเทียบความต่างในวัตถุประสงค์และการใช้งาน ระหว่าง Antigen Test Kit และ Antibody Test Kit (ข้อมูลจากกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ วันที่ 16 ก.ค. 64) เพื่อสร้างความเข้าใจให้ถูกต้อง ก่อนนำไปใช้งาน ดังนี้

ชุดทดสอบ Antigen Test Kit

  • Antigen Test Kit เป็นชุดทดสอบตรวจหาโปรตีนของเชื้อไวรัสที่ก่อโรคโควิด-19
  • แถบแสดงในตลับทดสอบของชุด Antigen Test Kit จะปรากฏอักษร 2 ตัว ได้แก่ ตัว C และ T
  • เป็นการเก็บตัวอย่างหาเชื้อได้จากสารคัดหลั่ง ทั้งทางโพรงจมูก ช่องปาก ลำคอ และน้ำลาย
  • Antigen Test Kit ได้รับการอนุญาตให้ประชาชนสามารถนำใช้ตรวจด้วยตนเองได้

การอ่านผลทดสอบ

  • หากผลเป็น “บวก” แถบในตลับทดสอบจะขึ้นขีดสีแดงที่ ทั้งตรงตัว C และ T
  • หากผลเป็น “ลบ” แถบในตลับทดสอบจะขึ้นขีดสีแดงเฉพาะตรงตัว C
  • หากแถบในตลับทดสอบขึ้นขีดสีแดงเฉพาะที่ตัว T หรือ ไม่มีขีดสีแดงขึ้นเลย หมายความว่า อ่านผลไม่ได้ ต้องใช้ชุดทดสอบอันใหม่ ขึดขึ้นตัว T หรือไม่ขึ้นขีดที่ตำแหน่งใดเลย

ชุดทดสอบ Antibody Test Kit

  • Antibody Test Kit เป็นชุดทดสอบตรวจหาภูมิตอบสนองต่อไวรัส
  • แถบแสดงในตลับทดสอบของชุด Antibody Test Kit จะปรากฏอักษร 3 ตัว ได้แก่ ตัว C, G และ M
  • เป็นการเก็บตัวอย่างหาเชื้อจากเลือด โดยการเจาะเลือดปลายนิ้ว หรือข้อพับแขน
  • Antibody Test Kit ยังไม่ได้รับอนุญาตให้ประชาชนนำมาตรวจด้วยตนเอง โดยการตรวจและแปลผลต้องทำโดยบุคลากรทางการแพทย์

กรมวิทย์ เตือนห้ามนำชุดทดสอบแอนติบอดีมาตรวจหาเชื้อโควิด ด้วยตนเอง

นายแพทย์ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เปิดเผยว่า ชุดทดสอบแอนติบอดี เป็นชุดทดสอบหาภูมิตอบสนองต่อไวรัส ต้องทำโดยบุคลากรทางการแพทย์เท่านั้น โดยจะเก็บตัวอย่างเลือดจากปลายนิ้วมือหรือข้อพับ หากผลเป็นบวก แสดงว่าเคยติดเชื้อหรือได้รับวัคซีนอาจจะมีหรือไม่มีอาการป่วยก็ได้ ภูมิคุ้มกันไม่ได้บ่งบอกว่าสามารถป้องกันการติดเชื้อโควิด-19 ในอนาคตได้ แต่ถ้าผลเป็นลบแสดงว่าไม่ติดเชื้อหรือมาตรวจเร็วเกินไปก่อนที่ร่างกายจะมีการสร้างภูมิคุ้มกัน

การตรวจแอนติบอดีจะใช้ร่วมกับการตรวจด้วยวิธี RT-PCR สามารถบ่งชี้ระยะการติดเชื้อและการดำเนินของโรค เพื่อประกอบการวินิจฉัย ติดตาม รักษา ควบคุมโรค จึงเหมาะสำหรับการสำรวจทางระบาดวิทยาหรือศึกษาอัตราความชุกในชุมชน ขณะนี้กระทรวงสาธารณสุข ไม่แนะนำในการใช้ชุดทดสอบแอนติบอดี เพื่อตรวจหาคนที่ติดโควิด-19 เพราะภูมิคุ้มกันที่พบอาจเกิดจากการฉีดวัคซีน