สธ.เปิดแบบจำลองสถานการณ์ ลั่นไม่มีล็อกดาวน์ติดเชื้อพุ่ง 4 หมื่นคน/วัน

จุดตรวจโควิดฟรีกทม. 10 ก.ค.
แฟ้มภาพ

สธ.เปิดแบบจำลองคณิตศาสตร์คาดการณ์โควิด ผู้ติดเชื้อ-ผู้เสียชีวิต ชี้ไม่มีล็อกดาวน์ภายในเดือน ก.ย. ยอดติดพุ่งเกิน 40,000 ราย ย้ำคงมาตรการล็อกดาวน์มีประสิทธิภาพ 25% นาน 2 เดือน ผู้ติดเชื้อจะลดลง 2 หมื่นราย ยันล็อกดาวน์วันนี้ อีก 2-4 สัปดาห์ ผู้ป่วยลดแน่

วันที่ 30 กรกฎาคม 2564 นายแพทย์เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่า ขณะนี้สถานการณ์การแพร่ระบาดโควิดในไทยถือว่ายังสูง และคาดว่าจะสูงไปอีกระยะหนึ่ง โดยวันนี้ (30 ก.ค.) พบผู้ติดเชื้อกว่า 17,345 ราย เป็นภูมิภาคสูงกว่ากรุงเทพฯ เล็กน้อย เนื่องจากส่วนหนึ่งมาจากมาตรการล็อกดาวน์เขตกรุงเทพฯ ประกอบกับการดำเนินโครงการส่งผู้ติดเชื้อกลับไปรักษาที่ภูมิลำเนา 

ทั้งนี้ กลับแล้วกว่า 50,000 คน ซึ่งผู้ติดเชื้อกลุ่มนี้จะไม่แพร่เชื้อ เพราะจัดระบบดูแลที่บ้านและชุมชน หรือโรงพยาบาล ขณะที่ปัจจุบันมีผู้ป่วยในระบบสาธารณสุขเกือบ 200,000 ราย ซึ่ง สธ. พยายามควบคุมไม่ให้จำนวนผู้ติดเชื้อสูงไปกว่านี้ ทั้งการนำระบบ home isolation รักษาตัวที่บ้าน และ Community Isolation การรักษาตัวในชุมชน โดยจะมีการให้ยาฟาวิพิราเวียร์ให้เร็วที่สุด ตั้งแต่มีอาการเนิ่น ๆ เพื่อช่วยลดอาการป่วยและเสียชีวิตลงได้ ซึ่งปัจจุบันยืนยันว่ายาฟาวิพิราเวียร์มีเพียงพอ ไทยได้สำรองยาในเดือน ส.ค.-ก.ย. เดือนละ 40 ล้านเม็ด

ด้าน นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า สำหรับการคาดการณ์สถานการณ์โควิด-19 ตามแบบจำลองทางคณิตศาสตร์ SEIR โดยเส้นสีน้ำเงินได้จากการคาดการณ์ ส่วนเส้นสีส้มหรือสีแดง เป็นตัวเลขจากสถานการณ์จริง เมื่อนำสองเส้นนี้ และใช้สูตรคำนวณ พบว่าใกล้เคียงกัน และจุดหมายที่ใช้เปรียบเทียบคือ หลังมีการใช้มาตรการล็อกดาวน์เหตุการณ์จะเป็นอย่างไร โดยมีทั้งจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่ และผู้เสียชีวิต เปรียบเทียบทั้งโมเดล และสถานการณ์จริง เทียบเคียงมาตรการล็อกดาวน์เมื่อปลายเดือน ก.ค. 2564 นำมาเปรียบเทียบเพื่อวิเคราะห์สถานการณ์ข้างหน้า

สำหรับการเปรียบเทียบสถานการณ์ 3-4 เดือนข้างหน้าจะมีเส้นกราฟอยู่ 5 เส้น โดยเส้นสีน้ำเงินเป็นจำนวนผู้ติดเชื้อรายวัน จากการคาดการณ์หากไม่มีมาตรการล็อกดาวน์ และมาตรการเข้มข้นใด ๆ จำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่รายวันจะสูงเกิน 40,000 ราย และจุดสูงสุดจะอยู่ที่ 14 ก.ย.

อย่างไรก็ดี เมื่อมีมาตรการล็อกดาวน์ เส้นกราฟจากการคำนวณในแบบโมเดลมีทั้งหมด 4 เส้น โดยเส้นแรก คือ สีส้ม หลังจากมีมาตรการล็อกดาวน์ ได้รับความร่วมมือจากพี่น้องประชาชน และผู้ที่เกี่ยวข้อง ทั้งการอยู่บ้านมากที่สุด มาตรการ Work From Home หยุดกิจกรรมชุมนุมของกลุ่มคน ฯลฯ หากทำได้มีประสิทธิภาพลดการติดเชื้อได้ 20% เป็นเวลานาน 1 เดือน ตัวเลขผู้ติดเชื้อรายใหม่รายวันจะลดลงจากเกิน 40,000 ราย เหลือ 30,000 ราย จุดสูงสุดจะอยู่ที่ต้นเดือน ต.ค. แทน

แต่หากใช้มาตรการล็อกดาวน์นานกว่านี้ หรือมีประสิทธิภาพมากกว่านี้ จะเป็นโมเดลเส้นกราฟสีเหลือง หากทุกคนให้ความร่วมมือมาตรการต่าง ๆ ลดติดเชื้อได้ 25% นาน 1 เดือนก็จะใกล้เคียงกันกับสีส้ม ถัดมาเป็นเส้นสีเทา หากล็อกดาวน์นาน 2 เดือนและมีประสิทธิภาพ 20% จะทำให้สถานการณ์ผู้ติดเชื้อรายใหม่ลดลงเหลือ 20,000 ราย จาก 40,000 ราย และเมื่อมีมาตรการล็อกดาวน์เหลือ 30,000 ราย และเมื่อประสิทธิภาพเพิ่มขึ้นจะเหลือ 20,000 ราย

นพ.โอภาส ย้ำว่า หากไม่ทำมาตรการล็อกดาวน์ ตัวเลขผู้ติดเชื้อและเสียชีวิตจะสูงกว่านี้ ดังนั้น มาตรการล็อกดาวน์จึงสำคัญในการลดผู้ติดเชื้อและเสียชีวิต แต่การล็อกดาวน์ ประสิทธิภาพแตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับความร่วมมือของทุกส่วนที่เกี่ยวข้อง จึงต้องอาศัยความร่วมมือกับทุกฝ่าย จะสังเกตเห็นว่ามาตรการล็อกดาวน์ครั้งนี้ หน่วยราชการต่าง ๆ ทำงานที่บ้านจำนวนมาก ศูนย์การค้ามีการปิด มีไม่กี่อย่างที่เปิด เช่น การไปรับการรักษาพยาบาล การไปฉีดวัคซีน การซื้อสินค้าอุปโภคบริโภค ฯลฯ เพราะฉะนั้น ความร่วมมือของประชาชนจึงสำคัญ จากแบบจำลองก็ชัดเจนว่า หากได้รับความร่วมมืออย่างมีประสิทธิภาพ ตัวเลขผู้ติดเชื้อ และผู้เสียชีวิตจะลดลง

ทั้งนี้ คาดว่าหากมีมาตรการล็อกดาวน์ การติดเชื้อจะเพิ่มขึ้นอีกระยะหนึ่ง มาตรการในช่วงต้นจะทำให้ตัวเลขผู้ติดเชื้อไม่เพิ่มสูงเกินไป จากนั้นอีก 2-4 สัปดาห์มาตรการล็อกดาวน์จะเห็นผลชัดขึ้นในการลดจำนวนผู้ติดเชื้อลงมา ซึ่งกระทรวงสาธารณสุขจะประเมินเรื่องนี้เป็นระยะ และ สธ.จะนำเสนอ ศบค. ต่อไป