หมอแล็บแพนด้า ปลื้มปริ่ม โชว์เอกสารรับดูแล “ศูนย์พักคอยตันปัน”

หมอแล็บแพนด้า โพสต์เอกสารรับมอบ “ศูนย์พักคอยตันปัน” จากภรรยา “ตัน ภาสกรนที” 

วันที่ 2 สิงหาคม 2564 ที่เฟซบุ๊ก “หมอแล็บแพนด้า” ของ ทนพ.ภาคภูมิ เดชหัสดิน นักเทคนิคการแพทย์ หัวหน้างานตรวจโรคติดเชื้อทางโลหิตวิธีอณูชีววิทยาศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติ สภากาชาดไทย เผยแพร่เอกสารการรับมอบพื้นที่เป็นศูนย์พักคอยรองรับผู้ป่วยโควิด-19 ชื่อว่า “ศูนย์พักคอยตันปัน” จากนางอิง ภาสกรนที ภรรยาของนายตัน ภาสกรนที โดยเอกสารดังกล่าว ระบุข้อความ ดังนี้

“ข้าพเจ้ามีความประสงค์จะส่งมอบพื้นที่ “ศูนย์พักคอยตันปัน” เพื่อใช้เป็นศูนย์พักคอยรองรับผู้ป่วยโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ให้แก่ท่าน โดยท่านจะเป็นผู้ดำเนินการขออนุญาตต่าง ๆ ให้เป็นไปตามกฎหมายหรือตามที่หน่วยงานราชการกำหนด รวมถึงท่านจะเป็นผู้ครอบครองดูแลและบริหารจัดการงานภายในศูนย์พักคอยตันปันทั้งหมด ให้เป็นไปโดยเรียบร้อย

“โดยข้าพเจ้าขอส่งมอบศูนย์พักคอยตันปันให้แก่ท่าน ตั้งแต่วันที่ 28 กรกฎาคม 2564 เป็นต้นไป จนกว่าท่านจะทำการส่งมอบพื้นที่คืนหรือจนกว่า ศูนย์พักคอยตันปัน จะไม่ได้ใช้เพื่อวัตถุประสงค์ตามหนังสือฉบับนี้อีกต่อไป”

นอกจากนี้ หมอแล็บแพนด้า ยังระบุแคปชั่นบนเอกสารดังกล่าวว่า “น้ำตารื้น ขอให้พี่และครอบครัวมีความสุขความเจริญไม่เจ็บไม่ป่วยนะครับ”

ขณะที่นายตันได้โพสต์เฟซบุ๊กอัพเดตการก่อสร้างศูนย์พักคอยตันปันอย่างต่อเนื่อง จนล่าสุดโพสต์ความในใจของตนเองถึงการสร้างศูนย์พักคอยฯ เมื่อวันที่ 31 กรกฎาคม 2564 ที่ผ่านมา ระบุว่า 18 วันที่ผ่านมา หลังกินข้าวเช้ากับครอบครัว ตนจะออกจากบ้านไปทำงานร่วมกับช่าง 150 กว่าชีวิต เพื่อทำศูนย์พักคอยเล็ก ๆ รองรับผู้ป่วยโควิด-19 ที่ไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้

ทุกวันหลังเลิกงาน เมื่อกลับถึงบ้าน ตนจะอาบน้ำกินข้าว แล้วรีบเข้าห้องส่วนตัวทันที ไม่กล้ากอดลูกและภรรยาเหมือนเคย กลัวว่าจะนำเชื้อโรคไปติด โดยเฉพาะอย่างยิ่งลูกสาวคนเล็กที่อายุยังไม่ถึง 18 ซึ่งไม่สามารถฉีดวัคซีนได้ และยังมีโรคประจำตัวด้วย

“ความตายไม่ใช่สิ่งที่ผมกลัว…แต่สิ่งที่ผมกลัวที่สุดคือการเอาเชื้อไปติดคนที่บ้าน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ใกล้ใกล้ลูกสาวคนเล็กของผม”

นายตันเผยว่า ภรรยาและลูก จะสนับสนุนตนทุกครั้งที่ออกไปสร้างประโยชน์ให้สังคม แต่ครั้งนี้ได้เตือนตนเสมอว่า ระวังตัวมาก ๆ และหากโชคร้ายที่บ้านมีใครติดเชื้อโควิดและเสียชีวิต ขอให้ทำใจไว้และอย่าร้องไห้ หากตนโชคไม่ดี แต่ก็รู้สึกภูมิใจและไม่ค้างคาใจ