ศบค. เจออีก 7 คลัสเตอร์ใหม่ “ตลาดโกลเดนเกต” ติดเชื้อพุ่ง 231 ราย

พญ.อภิสมัย ผช.โฆษก ศบค.
แพทย์หญิงอภิสมัย ศรีรังสรรค์ ผู้ช่วยโฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด- 19(ศบค.)

ศบค.เจออีก 7 คลัสเตอร์ใหม่  ใน 6 จังหวัด มีทั้งโรงงาน แคมป์ก่อสร้าง สถานประกอบการ รวมทั้งแผงผลไม้  ระบุ “ตลาดโกลเดนเกต” ที่ อ.อรัญประเทศ สระแก้ว พบผู้ติดเชื้อมากสุดถึง 231ราย เผยยอดติดเชื้อและเสียชีวิต กทม.ยังนำโด่ง ขณะที่วันนี้พบผู้ป่วยตายที่บ้านเพิ่ม 5 ราย

วันที่ 2 สิงหาคม 2564 แพทย์หญิงอภิสมัย ศรีรังสรรค์ ผู้ช่วยโฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด- 19 (ศบค.) แถลงสถานการณ์ ประจำวันว่า วันนี้พบผู้ติดเชื้อรายใหม่รวม 17,970 ราย จำแนกเป็นติดเชื้อใหม่ 17,795 ราย ติดเชื้อภายในเรือนจำ/ที่ต้องขัง 175 ราย ผู้ป่วยสะสม 604,421 ราย (ตั้งแต่ 1 เมษายน)

มีผู้หายป่วยกลับบ้าน 13,919 ราย หายป่วยสะสม 391,815 ราย (ตั้งแต่ 1 เมษายน) ผู้ป่วยกำลังรักษา 208,875 ราย และเสียชีวิตเพิ่ม 178 ราย ซึ่งเป็นตัวเลขผู้เสียชีวิตสูงสุดเท่ากับเมื่อวันที่ 31 ก.ค.2564 ที่ผ่านมา

ยอดป่วยหนักยังพุ่ง 4,768 ราย

รวมตัวเลขผู้ป่วยสะสมล่าสุดตั้งแต่เกิดการระบาดอยู่ที่ 633,284 ราย และเสียชีวิตสะสม 5,168 คน

สำหรับผู้ป่วยกำลังรักษาตัววันนี้มีจำนวน 208,875 ราย อยู่ในโรงพยาบาล 75,705 ราย รพ.สนามและอื่นๆ 133,170 ราย อาการหนัก 4,768 ราย ในจำนวนนี้ต้องใส่เครื่องช่วยหายใจ 1,028 ราย

ส่วนยอดผู้รับการฉีดวัคซีน แพทย์หญิงอภิสมัย กล่าวว่าข้อมูลวันที่ 1 สิงหาคม 2564 มีผู้รับการฉีดวัคซีน เข็มที่ 1 จำนวน 152,171 ราย และเข็มที่ 2 จำนวน 28,381 ราย และระหว่างวันที่ 28 กุมภาพันธ์ – 1 สิงหาคม 2564 มีผู้รับวัคซีน สะสมทั้งหมด จำนวน 17,866,526 โดส

ส่วนสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ทั่วโลก ข้อมูลวันจันทร์ที่ 2 สิงหาคม 2564 เวลา 10.00 น. มียอดผู้ติดเชื้อรวม 199,013,612 ราย อาการรุนแรง 90,488 ราย รักษาหายแล้ว 179,619,416 ราย และเสียชีวิต 4,240,371 ราย

อันดับประเทศที่มีผู้ติดเชื้อสูงสุด อันดับหนึ่งยังได้แก่ สหรัฐอเมริกา จำนวน 35,768,924 ราย 2.อินเดีย จำนวน 31,695,368 ราย 3.บราซิล จำนวน 19,938,358 ราย 4. รัสเซีย จำนวน 6,288,677 ราย 5.ฝรั่งเศส จำนวน 6,146,619 ราย โดยประเทศไทย อยู่ในอันดับที่ 42 จากจำนวนผู้ป่วยยืนยันสะสม 633,284 ราย

ยอดเสียชีวิต กทม.นำโด่ง ตายที่บ้านเพิ่ม 5 ราย

สำหรับผู้เสียชีวิตในวันนี้จำนวน 178 ราย เป็นหญิง 94 ราย ชาย 84 ราย ค่ากลางของอายุอยู่ที่ 66 ปี(17-94 ปี) อยู่ในกทม. 68 ราย สมุทรปราการ 23 ราย ปทุมธานี 8 ราย สมุทรสาคร 8 ราย นครปฐม 4 ราย ที่เหลือกระจายไปในพื้นที่หลายจังหวัด

นอกจากนี้มีผู้เสียชีวิตที่บ้าน 5 ราย อยู่ใน กทม. 2 ราย ปทุมธานี ร้อยเอ็ด สุพรรณบุรี จังหวัดละ1 ราย(ตามตาราง)

“จะเห็นว่าผู้เสียชีวิตในต่างจังหวัดมีรายงานเพิ่มขึ้นตลอด และอยู่ในกลุ่มผู้สูงอายุ และกว่า 70% ที่รายงานเป็นกลุ่มที่มีอายุเกิน 60 ปี และมีเสียชีวิตที่บ้าน 5 ราย และมีจำนวนถึง 48% ที่เสียชีวิตหลังทราบว่าตนเองติดเชื้อเพียง 6 วัน หรือไม่เกิน 6 วัน” แพทย์หญิงอภิสมัยกล่าว

ส่วนปัจจัยเสี่ยงต่อความรุนแรงของโรคยังมาจากโรคความดันโลหิตสูง เบาหวาน ไขมันในเลือดสูง โรคไต โรคอ้วน และปัจจัยเสี่ยงจากการติดเชื้อยังมาจากคนในครอบครัว คนอื่นๆ เช่น เพื่อน เพื่อนบ้าน เพื่อนร่วมงานรวมถึงผู้ป่วยที่รพ.ด้วย เป็นต้น

10 จังหวัดติดเชื้อสูงสุด

สำหรับ 10 จังหวัดที่มีผู้ติดเชื้อสูงสุดในวันนี้ได้แก่ กทม. 3,144 ราย รวมยอดสะสม 158,165 ราย รองลงมาเป็นสมุทรสาคร 1,252 ราย ชลบุรี 1,141 ราย สมุทรปราการ 872 ราย นนทบุรี 743 ราย สระบุรี 486 ราย ฉะเชิงเทรา 465 ราย นครราชสีมา 457 ราย ปทุมธานี 454 ราย ระยอง 403ราย

และเมื่อเทียบสัดส่วนของผู้ติดเชื้อในกทม.และปริมณฑลกับในพื้นที่ต่างจังหวัด(71 จังหวัด) ล่าสุดพบว่าสัดส่วนของผู้ติดเชื้อในกทม.และปริมณฑลอยู่ที่ 39% ขณะที่ในพื้นที่ต่างจังหวัดเพิ่มขึ้นเป็น 61% แล้ว กล่าวคือตัวเลขในต่างจังหวัดมีสัดส่วนที่ยังสูงกว่ากรุงเทพและปริมณฑล

เชื้อนำเข้ากระจายไปตจว. ทั้งโรงงาน สถานประกอบการ

นอกจากนี้ถ้าแยกให้เห็นชัดเจน ที่กรมควบคุมโรครายงานจะเห็นว่า “เชื้อนำเข้า” หมายความว่าการรายงานของผู้ติดเชื้อในจังหวัดนั้นๆเป็นการเดินทางข้ามพื้นที่จากบริเวณพื้นที่ที่มีการติดเชื้อในกทม.และปริมณฑล และไปทำให้ยอดจังหวัดนั้นๆเป็นบวกมากขึ้น กับกลุ่มที่ติดเชื้อในพื้นที่ของตนเอง โดยเน้นไปที่โรงงาน สถานประกอบการ และแคมป์คนงานก็จะแสดงเป็นแผนที่ประเทศไทยให้เห็นชัด

“ยกตัวอย่างในเขตสุขภาพ 10 จะเห็นได้ชัดว่ามีการนำเชื้อนำเข้าไปในพื้นที่ เช่นที่ อุบลราชธานี ศรีสะเกษ ยโสธร อำนาจเจริญ มุกดาหาร หรือที่เขตสุขภาพที่ 7 เช่นที่ มหาสารคาม ร้อยเอ็ด กาฬสินธุ์ ขอนแก่น” เป็นต้น ทำให้ยอดผู้ติดเชื้อจังหวัดเหล่านี้เพิ่มขึ้น”

อย่างไรก็ตามแพทย์หญิงอภิสมัยกล่าวว่า แต่หลายจังหวัดมีการนำผู้ป่วยเข้าสู่ระบบการรักษาได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทำให้มีการลดจำนวนผู้ป่วยลงด้วย

เจออีก 7 คลัสเตอร์ใหม่ ใน 6 จังหวัด

สำหรับ “คลัสเตอร์ใหม่” วันนี้ มีจำนวน 7 แห่ง ในพื้นที่ 6 จังหวัด มีทั้งโรงงาน แคมป์ก่อสร้าง สถานประกอบการ รวมทั้งแผงผลไม้ โดยที่ จ.สระแก้ว อ.อรัญประเทศ เป็นตลาดโกลเดนเกต พบผู้ติดเชื้อสูงถึง 231ราย ส่วนคลัสเตอร์ใหม่มีดังนี้

  • สมุทรสาคร อ.เมือง เป็นโรงงานแม่พิมพ์พลาสติก พบผู้ติดเชื้อ 15 ราย และบริษัทรถยก พบผู้ติดเชื้อ 10 ราย
  • นนทบุรี อ.ปากเกร็ด เป็นแคมป์ก่อสร้าง พบผู้ติดเชื้อ 26 ราย
  • ฉะเชิงเทรา อ.เมือง เป็นบริษัทโลหะขึ้นรูป พบผู้ติดเชื้อ 17 ราย
  • สระแก้ว อ.อรัญประเทศ เป็นตลาดโกลเดนเกต พบผู้ติดเชื้อ 231ราย
  • ปราจีนบุรี อ.ศรีมหาโพธิ์ เป็นบริษัทชิ้นส่วนอิเล็ดทรอนิกส์ พบผู้ติดเชื้อ 16 ราย
  • ชุมพร อ.หลังสวน เป็นแผงผลไม้ พบผู้ติดเชื้อ 18 ราย

ส่วนคลัสเตอร์เดิมหลายพื้นที่ก็ยังพบผู้ติดเชื้อต่อเนื่องเช่นกัน เช่นที่ สระบุรี อ.วังม่วง โรงงานผลิตภัณฑ์ไก่ พบผู้ติดเชื้อเพิ่มอีก 110 ราย รวมสะสม 207 ราย และที่อ.พระพุทธบาท เป็นโรงงานแปรรูปไก่ก็พบผู้ติดเชื้อเพิ่ม 12 ราย รวมสะสมถึง 230 ราย

หรือที่กาญจนบุรี อ.ท่ามะกา โรงงานไม้แปรรูป ล่าสุดพบผู้ติดเชื้อรายใหม่เพิ่มอีก 98 ราย รวมผู้ป่วยสะสมเพิ่มขึ้นไปอยู่ที่ 438 รายแล้ว (ดูตารางท้ายข่าว)

ต่อข้อถามที่ว่าจำนวนวัคซีนไฟเซอร์ที่สหรัฐอเมริกาบริจาคมามีจำนวนเท่าใด แพทย์หญิงอภิสมัยกล่าวว่า การรายงานในตอนแรกมีจำนวน 1.54 ล้านโดส แต่ในแง่ของการจัดการรัฐบาลไทยรับจริงในวันที่ 30 กรกฎาคม จำนวน 1,503,450 โดส ซึ่งตรงนี้ยืนยันกลับไปที่สถานทูตสหรัฐเป็นตัวเลขตรงกัน

“คือขั้นตอนในการเจรจากับตัวเลขรับจริงอาจจะต่างกันบ้าง ซึ่งก็มีคนตั้งข้อสังเกต แต่ยืนยันว่าตัวเลขที่รับจริงถูกต้อง” แพทย์หญิงอภิสมัยกล่าว