หมอสุภัทร แนะ ภายใต้วิกฤต ต้องพึ่งตนเองให้มากที่สุด

แพทย์ชนบทบุกกรุง ครั้งที่ 3
ภาพจากเฟซบุ๊ก ชมรมแพทย์ชนบท

นพ.สุภัทร เปิดเบื้องหลังปฏิบัติการทีมแพทย์ชนบทบุกกรุง เน้นตรวจเร็ว รู้เร็ว รักษาเร็ว สามารถจ่ายยาต้านโควิดหน้างานได้ทันที เผยวันแรก พบผู้ติดเชื้อเฉลี่ย 1 ใน 6-7 คน แนะ ภายใต้วิกฤต ต้องพึ่งตนเองให้มากที่สุด

วันที่ 5 สิงหาคม 2564 กรณี นพ.สุุภัทร ฮาสุวรรณกิจ ประธานชมรมแพทย์ชนบท นำทัพแพทย์จากต่างจังหวัดบุกกุรง ครั้งที่ 3 เข้าตรวจเชิงรุกหาผู้ติดเชื้อโควิด-19 ในพื้นที่ชุมชนแออัด ระหว่างวันที่ 4-10 สิงหาคม ตามที่ได้เคยรายงานไปแล้วนั้น

ล่าสุด วันนี้ นพ.สุภัทร ให้สัมภาษณ์ในรายการ เจาะลึกทั่วไทย inside thailand ว่า โครงการแพทย์ชนบทบุกกรุง เคยเกิดขึ้นมาแล้ว 2 ครั้ง เมื่อ 2-3 สัปดาห์ที่ผ่านมา เมื่อเสร็จสิ้น ทางกระทรวงสาธารณสุขได้ติดต่อกับ นพ.สุภัทร โดยมีความประสงค์ให้จัดโครงการอีกรอบ ซึ่งครั้งนี้ทาง สธ. ได้ร่วมระดมทีมแพทย์ด้วย จึงมีทีมแพทย์ทั้งหมดเกือบ 40 ทีม ซึ่งถือว่าเยอะมากเมื่อเทียบกับครั้งแรกที่มี 6 ทีม ครั้งที่ 2 มี 14-15 ทีม เท่านั้น

โดยทีมแพทย์ทั้ง 40 ทีม ประกอบด้วยทีมแพทย์จากทั่วประเทศ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นทีมแพทย์ผสม โดยแพทย์ชนบทมาจากโรงพยาบาลชุมชน หลายทีมจะมีแพทย์จากโรงพยาบาลจังหวัด ทีมงานจาก สสจ. ทีมงานจาก สธ.อำเภอ เข้ามาช่วย

เมื่อถามถึงเป้าหมายการตรวจเชิงรุกให้ได้ 1 ล้านคน ภายใน 1 เดือน นพ.สุภัทร กล่าวว่า เป้าหมายการตรวจ 1 ล้านคน ใน 1 เดือน เป็นชุดความคิดที่เราเผยแพร่ว่าทุกหน่วยงานต้องช่วยกัน เราทีมแพทย์ชนบทหรือทีมปฏิบัติการในครั้งนี้ น่าจะเก็บให้ได้ 1 ใน 4 หรือ 25% หรือ 250,000 คน

“แต่ว่าที่เหลือทีมจากกทม.เอง ทีมจากผู้คนในกทม. วิชาชีพในกทม. โรงพยาบาลต่าง ๆ ทั้งเอกชนและรัฐ ต้องช่วยกัน เพราะเราคิดว่าถ้าเรากรองคนได้เยอะ เราก็จะดำเนินการรักษาผู้ติดเชื้อได้เร็ว วิธีนี้เท่านั้นที่จะยุติการแพร่ระบาดของโรค ยุติภาวะเตียงล้น ยุติภาวะการเสียชีวิตที่บ้าน”

นพ.สุภัทร กล่าวเพิ่มเติมว่า เป้าหมายตรวจเชิงรุก 2.5 แสนคน จะใช้เวลาตรวจ 7 วัน เมื่อตรวจครบถือว่าเสร็จสิ้นภารกิจของทีมแพทย์ชนบท จากนั้นทีมแพทย์ชนบทต้องกลับบ้านของตัวเอง เพื่อไปจัดการทางบ้านของตนเองต่อ เพราะลำบากเช่นเดียวกัน

“ตอนนี้เราพยายามเสนอชุดความคิดที่ต้องตรวจเร็ว โดยใช้ Antigen Test Kit (ATK) เลย ไม่ต้องเริ่มด้วย RT-PCR เพราะตรวจเร็ว รู้เร็ว รักษาเร็ว เพื่อจ่ายยาฟาวิพิราเวียร์ อาการไม่มากก็ให้ หรือไม่มีอาการแต่ว่าสูงอายุ มีโรคประจำตัวก็ให้ เพราะว่าเขาอาจจะไม่มีโอกาสเข้าถึงโรงพยาบาลอีกเลย เพราะว่าระบบโรงพยาบาลอัดแน่นมาก เข้าไม่ได้” นพ.สุภัทร กล่าว

เมื่อถูกถามว่าการตรวจโดยใช้ ATK ที่สามารถรู้ผลได้ใน 15 นาที เมื่อตรวจเจอแล้ว จะดำเนินการอย่างไรต่อกับผู้ติดเชื้อ นพ.สุภัทร ตอบว่า หัวใจคือจัดการตนเองและดูแลตนเอง ต้องเข้าใจว่าภายใต้สถานการณ์วิกฤตแบบนี้ เหมือนอยู่ในสงคราม ต้องพึ่งตนเองให้มากที่สุด อย่าพึ่งโรงพยาบาล ทำ Home Isolation

“ชาวบ้านในชุมชนที่เราไปตรวจมา เขาเข้าใจนะ พอตรวจเจอ ก็ต้องกักตัว ต้องแยกตัว ต้องตามญาติมาส่งข้าว ส่งน้ำ ไม่ต้องออกไปไหน เขาพยายามต้มกระชาย ซื้อฟ้าทะลายโจรมากิน แต่ถ้าเรามีฟาวิพิราเวียร์ให้เขาด้วย เรามีระบบ Home Isolation ที่มีเจ้าหน้าที่โทรสอบถามอาการวันละ 2 ครั้ง มันก็จะดีขึ้นไปอีก ซึ่งระบบนี้ยังต้องใช้เวลาเพื่อสร้างระบบให้ครอบคลุม”

นอกจากนี้ นพ.สุภัทร ยังอธิบายขั้นตอนดำเนินการหลังตรวจพบเชื้อ คือ ผู้ป่วยจะได้รับยาฟาวิพิราเวียร์หน้างาน เพราะมีฟาวิพิราเวียร์ ไปด้วยกับทีมทุกทีม และมีฟ้าทะลายโจรไปด้วย จึงสามารถจ่ายยาหน้างานได้เลย เพราะเราจะไม่มีโอกาสกลับมาเจอผู้ติดเชื้ออีก ซึ่งถ้าเจอเคสผู้ติดเชื้อที่มีอาการหนัก ก็จะพยายามประสานทำเรื่องส่งต่อเลย

จากนั้นให้ผู้ป่วยสแกน QR Code ของ สปสช. เพื่อเข้าระบบ Home Isolation ฐานกลางของ สปสช. แล้วทางสปสช. จะติดต่อคลินิกชุมชนอบอุ่น ศูนย์บริการสธ.กทม. หรือโรงพยาบาลต่าง ๆ มารับผู้ป่วยเข้าระบบ Home Isolation ที่มีการดูแล ซึ่งที่กล่าวมาคือระบบที่มีการออกแบบเอาไว้

ซึ่งแผนที่วางไว้กับการปฏิบัติจริง ยังมีอุปสรรคอยู่หลายประการ เพราะว่าก่อนอื่น คนป่วยเพิ่มวันละ 2 หมื่นคน เป็นคนกรุงเทพฯ สัก 1 หมื่น คิดดูว่าระบบสุขภาพในกทม.จะจัดการอย่างไร ประชาชนต้องเน้นพึ่งตนเองให้มาก

เมื่อพิธีกรถามถึง ปัญหาของหลายชุมชนที่สภาพบ้านไม่เอื้ออำนวยในการทำ Home Isolation จะทำอย่างไรและจะแนะนำอย่างไร นพ.สุภัทร ตอบว่า ต้องให้คำแนะนำกับภาครัฐว่า อาคารโรงเรียนในกรุงเทพฯ มีเต็มไปหมด ทุกชุมชนมี ผมเสนอว่าทุกแขวง ต้องหาโรงเรียนสักโรงเพื่อทำเป็น Community Isolation ใครติดเชื้อแล้วไม่สามารถอยู่บ้านตัวเองได้เนื่องจากบ้านเล็ก แคบ หรือไม่มีใครดูแลที่บ้าน มารับการดูแลที่ศูนย์พักคอย จากนั้นจึงช่วยกันระดมบุคลากรอาสาสมัครมาดูแลร่วมกับวิชาชีพสุขภาพก็ได้ วิธีนี้เป็นทางรอดทางเดียวเพราะถ้ากักตัวที่บ้านก็จะติดเชื้อกันหมดและจุดตรวจ ATK ในกทม. ยังมีน้อยมาก

นพ.สุภัทร กล่าวเพิ่มเติมว่า ทางภาครัฐกำลังพยายามในการประสานงานกับทีมแพทย์ชนบท แต่ว่าการจัดการไม่ทันกับความเร็วในการแพร่ระบาด ซึ่งคงต้องช่วยเหลือกันมากกว่านี้ อีกทั้งยังเปิดเผยผลตรวจเชิงรุกวันแรกที่ผ่านมาว่า ตรวจไปได้ประมาณ 20,000 คน ซึ่งไม่เป็นไปตามเป้าที่วางไว้ 30,000 คนต่อวัน พบผู้ติดเชื้อเฉลี่ยที่ 15% หรือ 6-7 คน ติด 1 คน ซึ่งถือว่าเยอะมาก