นับถอยหลัง 2 สัปดาห์ โควิดต่างจังหวัดถึงจุดพีก “หมอธงชัย” เผยแผนรับมือ

ผู้ป่วยโควิด กลับภูมิลำเนา
ภาพการใช้ชีวิตของประชาชนในจังหวัดปัตตานี (จากเฟซบุ๊ก ประชาสัมพันธ์ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดปัตตานี)

นพ.ธงชัยเผยแผนรับมือโควิดต่างจังหวัด ซึ่งคาดว่าจะถึงช่วงพีกในอีก 2-4 สัปดาห์ข้างหน้า หลังทยอยส่งผู้ติดเชื้อกลับภูมิลำเนา ชี้การบริหารในต่างจังหวัดยืดหยุ่นกว่ากทม.

วันที่ 6 สิงหาคม 2564 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วานนี้ (5 ส.ค.) กรณี นพ.ธงชัย เลิศวิไลรัตนพงศ์ หัวหน้าผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่า จากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในกทม. และปริมณฑลที่มีผู้ติดเชื้อเป็นจำนวนมาก จึงได้มีมาตรการส่งผู้ติดเชื้อกลับไปรักษาที่ภูมิลำเนา ตั้งแต่วันที่ 1 ก.ค.จนถึงวันที่  4 ส.ค. ได้ส่งผู้ติดเชื้อกลับภูมิลำเนาแล้วทั้งสิ้น 94,664 ราย ตามที่เคยรายงานไปแล้วนั้น

เตียงรับผู้ป่วยสีแดงเพิ่มได้ระดับหนึ่ง

ล่าสุด วันนี้ (6 ส.ค.) นพ.ธงชัยได้ให้สัมภาษณ์กับรายการ เจาะลึกทั่วไทย Inside Thailand ว่า ตัวเลขเมื่อวานที่ให้ข้อมูลไปเป็นส่วนของภูมิภาคทั้งหมด ยกเว้น กทม. ขณะที่ใน ตจว.ช่วงที่ผ่านมาเป็นช่วงที่คนไข้ที่อยู่ใน กทม.ที่มีภูมิลำเนาอยู่ใน ตจว. ได้เดินทางกลับบ้านไป ตัวเลขจนถึงวันนี้ก็เกือบประมาณ 1 แสนได้แล้ว

คงใช้เวลาอีกประมาณสัก 2 – 4 สัปดาห์ จะเป็นช่วงที่พีก เพราะตอนนี้ก็สะสมไปเรื่อย ๆ คนไข้บางส่วนอาจจะมีอาการหนักขึ้น เป็นส่วนที่เรากังวล แต่ว่าคนไข้ที่อาการน้อย ในกลุ่มสีเขียว ตรงนี้คงไม่มีปัญหา ผมว่าความจุใน ตจว. คงจะสามารถรองรับได้อยู่

“คนที่กลับภูมิลำเนา ผมเข้าใจว่าส่วนใหญ่จะเป็นคนในวัยทำงาน เพราะฉะนั้น ความรุนแรงที่เราพบก็ไม่ได้เยอะ เพียงแต่ว่าด้วยความจุที่ผมเรียนเมื่อวาน สิ่งที่เรากังวลคือเตียงผู้ป่วยสีแดง เพราะว่าเตียงสีแดงเป็นเตียงที่เพิ่มได้ยากกว่า แต่อย่างไรก็ตามเราก็ยังมีความสามารถในการขยับขยายอยู่ได้ระดับหนึ่ง แล้วก็คาดว่าผู้ป่วยเตียงสีแดงที่กลับไปในจำนวน 1 แสน ก็จะไม่ได้เยอะมาก

แต่ถึงไม่เยอะมาก ก็คงเป็นสัปดาห์ที่อาจจะมีคนไข้หนักเยอะขึ้นกว่าเดิม แต่ว่าในแง่ของจำนวน ผมเข้าใจว่าพอผ่าน 2 สัปดาห์ ก็จะมีคนที่กลับบ้าน พอมาสลับกันไปมันก็ลดในแง่ของสีเขียว สีเหลือง ได้ระดับหนึ่ง แล้วก็มีสีแดงที่เป็นภาระ ก็อาจจะเต็ม หรือใกล้ ๆ เต็มความจุที่เรามีอยู่”

หมอ ตจว.หมุนเวียนกัน

นพ.ธงชัยตอบประเด็นการประมาณการณ์ตัวเลขผู้ติดเชื้อที่กลับภูมิลำเนาอีก 2 สัปดาห์ จะทะลุจาก 1 แสนคนไปที่ 1.5 แสนคนได้หรือไม่ นพ.ธงชัยกล่าวว่า ตัวเลขค่อนข้างจะบอกยาก เพราะผมเองหรือทีมของเราเองไม่มีข้อมูล ตอนนี้เราดูได้แค่เรตของการเพิ่มขึ้น ช่วงสัปดาห์หลังมานี้ เรตจะไม่ค่อยเยอะแล้ว ผมเข้าใจว่าช่วงแรกเป็นช่วงที่ยอดขึ้นเร็ว ช่วงนี้น่าจะคล้าย ๆ กับการเริ่มคงที่เพราะขึ้นมาเยอะแล้ว บางจังหวะนี่ บางวันเป็นร้อยเลย แต่ว่าช่วงนี้ก็ลดลงเป็นหลักสิบ ที่น้อย ๆ ก็สัก 10-20 ประมาณนี้ครับ

เมื่อพิธีกรถามว่า หากใช้สถิติของ 1 สัปดาห์ที่ผ่านมา กับตัวเลขผู้ติดเชื้อกลับภูมิลำเนาที่เริ่มชะลอตัวลง ภาพรวมทั้งประเทศจะเพิ่มไปสัก 20-25% กล่าวคือมีตัวเลขอยู่ที่ 1.2-1.25 แสน มีความน่าจะเป็นหรือไม่ นพ.ธงชัยกล่าวว่า ก็น่าจะประมาณนั้น ไม่น่าเพิ่มถึง 50% เพราะว่าเรตมันก็เริ่มน้อยลงแล้ว แล้วก็ตอนนี้ในกรุงเทพฯ ก็มีระบบตรวจเชิงรุกเข้าไปในชุมชน ไปดูแลผู้ที่อยู่บ้านได้

“ที่ผมกังวล ผมคิดว่าจะมีอีกประเด็นด้วย ด้วยความที่สายพันธุ์เดลต้า มันติดต่อได้ง่าย เพราะฉะนั้นในบางส่วนเองมันก็จะเป็นนอกเหนือจากคนที่เข้าไปในตรงนี้แล้ว มันจะมีการติดเชื้อในพื้นที่อีก ก็จะเป็นปัญหาอยู่เหมือนกัน แต่ว่าอย่างที่นำเรียน ด้วยศักยภาพใน ตจว. มันก็มีความสามารถในการขยับขยาย แล้วก็ช่วยเหลือกัน เรามีระบบการจัดการในภาคเขต ยกตัวอย่าง ที่ผมดูแลเองในตอนบนของภาคเหนือ

ช่วงที่เชียงใหม่หนัก ๆ มาก ก็ขยับขยาย เสร็จแล้วใช้ทีมของจังหวัดอื่น ๆ เข้ามาช่วยในการดูแลคนไข้หนัก เพราะว่าคนไข้ทั่วไปสามารถใช้หมอ พยาบาลจาก รพ.ชุมชน ซึ่งมีอยู่หลายคน เอามาช่วยเวียนกันทำงาน แต่ว่าคนไข้หนักต้องอยู่ใน รพ.ศูนย์ รพ.ทั่วไป ก็มีอยู่ไม่มาก ฉะนั้น เราอาศัยว่า เอาคุณหมอที่อยู่ใน ตจว. ข้างเคียงเข้ามาช่วย เหมือนกันช่วงนี้ที่เราเอาหมอจาก ตจว.เข้ามาช่วยใน รพ.บุษราคัม ที่ กทม. เพื่อรองรับคนไข้ ตอนนี้ก็สัก 3,000 กว่าคน”

แนะดึงหมอเอกชนช่วย

นพ.ธงชัยตอบคำถามที่ว่า หากอีก 2 สัปดาห์จะสู่ช่วงพีก จำเป็นจะต้องถอนกำลังบุคลากรที่มาช่วยใน รพ.บุษราคัม กลับไปดูแลพื้นที่ตัวเองหรือไม่ นพ.ธงชัย เผยว่า ตอนนี้ก็มีความพยายามในการที่จะจัดการตรงนี้อยู่ แล้วก็ได้นำเรียนผู้บริหารว่าอีก 2 สัปดาห์ข้างหน้าคงจะเป็นภาระอยู่เหมือนกันที่เราจะส่งคนมาเวียน แต่อย่างไรก็ตาม ด้วยความที่พอเรากระจายตามจังหวัดทั่วประเทศ เราก็มีการรองรับคนอยู่พอสมควร ที่จะเอามาหมุนเวียนกัน

แล้วก็ได้นำเรียนในส่วนกลางว่า ตามจริงแล้วใน กทม. ยังมีหมอและพยาบาล ภาคเอกชนในทะเบียนแพทย์ น่าจะมาลองวางแผนช่วยกันดู เพราะตอนนี้ในหลาย ๆ ทีมตั้งรพ.สนาม ก็ช่วยกันดู

นพ.ธงชัยกล่าวเพิ่มเติมว่า เป็นประเด็นที่เรากำลังคุยกันอยู่ว่าเราจะวางแผนต่อใน 2-3 สัปดาห์ถึงเดือนข้างหน้าอย่างไร เพราะว่า รพ.บุษราคัม คงยังไม่สามารถที่จะปิดในเร็ววัน เพราะยังจะต้องดูแลกันอีกสักระยะหนึ่งอยู่

พิธีกรได้ถามเพิ่มเติมว่า ในช่วง 2 สัปดาห์ที่จะพีกสูงสุด ในเรื่องของการตรวจเชิงรุกใน ตจว.บางพื้นที่ จำเป็นต้องทำหรือไม่ นพ.ธงชัยกล่าวว่า จริง ๆ การตรวจเชิงรุกของทั่วประเทศ ทุกจังหวัด เราทำตลอดอยู่แล้ว เพราะว่าพอมีคนไข้มาที่เราตรวจพบ มันก็จะมีการสืบสวนโรคแล้วเข้าไปตามว่าไปที่ไหนมาบ้าง

ความยืดหยุ่นใน ตจว.

ประเด็นที่ 2 คือ ในบางจังหวัดที่คนไข้ติดเชื้อไม่เยอะมาก แล้วงานตรวจเชิงรุกไม่มาก เราก็ไปเฝ้าระวัง เช่น เราจะไปตรวจในโรงงาน ตลาด เรือนจำ ชุมชนแออัด หรือว่าใบางพื้นที่ที่มีชายแดนเราก็ไปตรวจแถวนั้น เพื่อเป็นการรู้ว่ามีเคสเข้ามาหรือยัง ถ้ามีก็จะดำเนินการได้อย่างต้น ๆ เพื่อกันไม่ให้เกิดคลัสเตอร์ใหญ่ เราก็ทำเป็นระยะอยู่แล้ว

จากภาพรวมเตียงผู้ป่วยใน 12 เขตสุขภาพ ยกเว้น กทม. ซึ่งมีเตียงทั้งสิ้น 156,189 เตียง ได้รายงานว่าถูกใช้ไปแล้ว 114,786 เตียง หรือคิดเป็น 73.49% นพ.ธงชัยยืนยันว่ายังเป็นตัวเลขที่ยังสามารถขยับขยายได้ โดยเฉพาะตัวเลขสีเขียวแล้วก็สีเหลืองอีกเล็กน้อย แต่สีแดงน่าจะขยายได้ไม่เยอะ อาจจะ 10-20% เพราะฉะนั้น อาจจะบอกได้ว่าในความลำบากตรงนี้ ส่วนใหญ่กลุ่มที่ป่วย เป็นสีเขียว 80-90% เพราะฉะนั้นถึงมาเยอะแค่ไหน ใน ตจว. สามารถรับได้

บางจังหวัด ผู้ว่าฯ สั่งการให้เปิด Community Isolation ทุกอำเภอ ฉะนั้น ใครกลับมาอยู่อำเภอไหนก็กลับอำเภอนั้น ทั้งยังมีรพ.ชุมชนทั่วประเทศอีก 800 แห่ง ที่เป็นคนช่วยดูแล ยกเว้นคนไข้หนักที่ต้องนำมาอยู่รพ.จังหวัด ซึ่งมีเตียงจำกัด

ส่วนถ้าเป็นสีเหลืองจำเป็นต้องเจ้า รพ.หรือให้ออกซิเจนและดูแลอาการอื่นร่วมด้วย หลายแห่งเราก็ใช้ รพ.ชุมชนบางจุด มาทำเป็น รพ.โควิดไปเลย ซึ่งเป็นแนวทางที่ทำกันอยู่ในหลายจังหวัด ขึ้นอยู่กับว่ามีคนไข้มากน้อยแค่ไหนแล้วเราก็ปรับตัวในการจัดการเพื่อรองรับ ซึ่งสอดคล้องกับการมีโควิดเยอะขึ้น คนไข้ก็ไม่ค่อยกล้ามา รพ.จะมาเท่าที่จำเป็นมาก ๆ คนไข้ใน รพ.จึงลดลง จึงมีความสามารถดูแลผู้ป่วยที่มีอยู่ได้

เพราะฉะนั้นความยืดหยุ่นการบริหารใน ตจว. มีความยืดหยุ่นได้มากกว่าการบริหารใน กทม. ซึ่งค่อนข้างระบบใหญ่และมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องหลายส่วนมาก และการจัดการอาจไม่เป็นคำสั่งอย่างง่ายเหมือนใน ตจว.

สำหรับปัญหาบุคลากรไม่พอใน ตจว. นพ.ธงชัยเผยว่า “ก็มีอย่างที่ผมนำเรียน อย่างที่บอกความยืดหยุ่นเราคือว่า ถ้าจังหวัดใดค่อนข้างตึงในคน เราก็ใช้คนจากจังหวัดข้างเคียง เพราะการบริหารในกระทรวง สธ.จะแบ่งเป็นเขต อย่างผมดูแลในภาคเหนือตอนบน เพราะฉะนั้นในการจัดการเขตผมเองก็จะทำได้เร็วกว่า ไม่ต้องรอทั้งประเทศ คุยกัน โยกทันที จัดการตามวันได้แล้ว

แต่ถ้าตึงจริง ๆ จะเป็นพยาบาลที่ดูแลคนไข้ในไอซียู ในบางจังหวัด ตอนนี้เราก็พยายามที่จะช่วยดูแลอยู่ และส่วนหนึ่งที่ทำได้ก็คือไปเอาพยาบาลที่เชี่ยวชาญในอีกระดับ มาดูคนไข้ในวอร์ดอายุรกรรม ซึ่งจะมีคนไข้หนักอยู่เป็นระยะ ถ่ายเข้ามาช่วยเวียนเพื่อช่วยลดวอร์ดไอซียู”

นพ.ธงชัยกล่าวเพิ่มเติมว่า เราก็มีการคุยกันในแง่ของการที่จะลดงานบางอย่างที่จะเอาคนอื่นมาช่วยทดแทนได้ เราปรับได้มากขึ้น ที่ผมยกตัวอย่างให้เห็นชัด ๆ ก็คือ ทันตแพทย์ เอามาช่วยเป็นคนสวอบ ตรงนี้ก็เป็นภาระหนักอยู่ในเวลาที่มีการระบาดเยอะ ๆ ตรงนี้ก็ช่วยได้เยอะ

“อย่างที่เรียนไป ที่กังวลก็เฉพาะเตียงสีแดง เตียงแดงก็ตัวเลขใกล้ ๆ กัน ถ้าว่ากันจริง ๆ ในบางจังหวัดก็ตึงมากกว่านั้น เราก็ต้องมีการบริหารจัดการในการปรับ ตอนนี้ในหลาย รพ.ก็ใช้วิธีการที่นำอาคารบางแห่งมาปรับ ซึ่งเราก็ปรับกันไประยะหนึ่งแล้ว เรียกว่ามาเป็นโควอร์ดไอซียู ที่จะรองรับและใช้บุคลากรส่วนอื่น ๆ ที่อาจจะมีความเชี่ยวชาญน้อยลงกว่าเดิมหน่อย แต่ก็ดูคนไข้หนักมาเป็นระยะ เอามาเป็นคนที่จะช่วยดูแล”

หวั่นความเชื่อทำโควิดลามใต้

นพ.ธงชัยเปิดเผยว่า ตอนนี้เขตสุขภาพที่หนักจะเป็นเขตปริมณฑล หรือเขตสุขภาพ 4, 5 ที่เป็นปริมณฑล และ 6 ซึ่งเป็นทางภาคอีสาน อีกส่วนหนึ่งจะเป็นเขต 12 ภาคใต้ตอนล่าง ที่มีการระบาดใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งอาจมีโอกาสที่จะอาศัยบุคลากรจากภาคใต้ตอนบนซึ่งมีผู้ป่วยน้อยกว่า ส่งเข้ามาช่วย

นพ.ธงชัยตอบทิ้งท้ายกับประเด็นการแพร่ระบาดของเชื้อโควิดในจังหวัดชายแดนใต้ที่ยอดตัวเลขผู้ติดเชื้อรุนแรงขึ้นต่อเนื่อง ไว้เป็น 2 ประเด็น คือ เชื้อไวรัสสายพันธ์เดลต้า ที่แพร่ระบาดง่าย และอย่างที่ 2 คือเรื่องของสังคม วัฒนธรรม ที่ยังมีความเชื่อ มีคนให้ข้อมูลว่าโควิดไม่น่ากลัว และยังมีกิจกรรมทางศาสนาเป็นประจำทุกวันศุกร์ ในแง่ Social Distancing จึงยังไม่ค่อยดีมากนัก ตรงนี้ก็คงเป็นความพยายามของ สธ.ที่จำเป็นต้องสื่อสารทำความเข้าใจอย่างมาก ที่จะกลบข้อมูลว่าโควิดไม่น่ากลัว

เนื่องจาก นพ.ธงชัยเคยอาศัยใน 3 จังหวัดชายแดนใต้ จึงได้ชี้แจงไว้ว่า ส่วนหนึ่งในแง่ของความเชื่อทางศาสนาใน 3 จังหวัดชายแดนใต้ เรื่องความตายจะไม่เหมือนศาสนาอื่น อาจจะเรียกได้ว่าได้เข้าสู่พระเจ้า เพราะฉะนั้นหลายครั้ง ความสูญเสียที่เกิดขึ้น ก็จะบอกว่าไม่เป็นไร เป็นประสงค์ของพระเจ้า ซึ่งความเชื่อตรงนี้ทำให้แง่ของการระวังตัวลดลงหรือเวลาที่จะมา รพ. ส่วนใหญ่จะมาด้วยอาการที่รุนแรงกว่า