เปิดจำนวนเด็กติดโควิดทั่วประเทศ พร้อมแผนช่วยเหลือเด็กกำพร้า

สถานการณ์เด็กติดโควิดในประเทศไทย
ภาพจากประกอบไม่เกี่ยวข้องกับเนื้อหา - จาก pixabay

กรมเด็กและเยาวชน ห่วง สถานการณ์เด็กติดโควิด สะสมแล้ว 70,000 ราย สำรวจ 15 จังหวัดพบเด็กกำพร้าเพราะโควิด 35 ราย

วันที่ 6 สิงหาคม 2564 มติชน รายงานว่า นางสุภัชชา สุทธิพล อธิบดีกรมกิจการเด็กและเยาวชน (ดย.) กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) เปิดเผยในการแถลงรายงานสถานการณ์การช่วยเหลือเด็กในช่วงโควิด-19 ผ่านระบบออนไลน์ ดังนี้

สถานการณ์เด็กและเยาวชนติดเชื้อโควิด-19 รายวัน ประจำวันที่ 6 สิงหาคม พบเด็กติดเชื้อ จำนวน 2,469 คน แบ่งเป็นกรุงเทพมหานคร 533 คน ภูมิภาค 1,936 คน รวมยอดสะสมตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2564 ถึง 6 สิงหาคม 2564 มีจำนวนทั้งสิ้น 70,153 คน แยกเป็นกรุงเทพฯ 16,535 คน ภูมิภาค 53,618 คน

อย่างไรก็ตาม สถานการณ์เด็กติดเชื้อมีเพิ่มมากขึ้น เป็นสิ่งที่กรมเด็กฯ กระทรวงสาธารณสุข หน่วยงานภาครัฐต่างๆ ที่เกี่ยวข้องได้เร่งให้ความช่วยเหลือ ได้มีการประสานแยกเป็นกลุ่ม กรณีเด็กติดเชื้อโดยผู้ปกครองไม่ติด หรือทั้งเด็กและผู้ปกครองติดเชื้อ จะประสานโรงพยาบาลศูนย์บริการสาธารณสุข และสำนักงานเขตในพื้นที่นำเด็กเข้าสู่กระบวนการสาธารณสุข

ในส่วนของเด็กกลุ่มเสี่ยงเนื่องจากคนในครอบครัวหรือผู้ปกครองติดเชื้อ แต่เด็กอยู่ระหว่างการตรวจเชื้อหรือดูอาการจะประสานนำเข้าสู่สเตรทควอรันทีน ซึ่งเป็นเครือข่ายของสำนักอนามัย กทม.เพื่อเข้าสู่การกักตัว 14 วัน

หลังจากกักตัวครบ 14 วัน หากพ่อแม่ผู้ปกปครองยังรักษาตัวอยู่หรือยังไม่สามารถดูแลเด็กได้ ดย.จะนำเด็กไว้ดูแลในสถานสงเคราะห์ 4 แห่ง คือ สถานสงเคราะห์เด็กหญิงบ้านราชวิถี สถานสงเคราะห์เยาวชนมูลนิธิมหาราช สถานแรกรับเด็กชายปากเกร็ด และสถานสงเคราะห์เด็กชายบ้านบางละมุง

อธิบดี ดย. กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ ยังพบเด็กกำพร้าที่เกิดขึ้นจากสถานการณ์โควิด เนื่องจากบิดาเสียชีวิต มารดาเสียชีวิต หรือทั้งบิดาและมารดาเสียชีวิต หรือผู้ดูแลผู้ปกครองเสียชีวิต เบื้องต้นที่มีการสำรวจโดยบ้านพักเด็กและครอบครัว 15 จังหวัด พบมีเด็กกำพร้า 35 คน มีทั้งกำพร้าบิดา กำพร้ามารดา กำพร้าผู้ดูแล ในจำนวนนี้พบกำพร้าทั้งบิดาและมารดา 1 รายอยู่ที่พระนครศรีอยุธยา จำนวนดังกล่าวเป็นเพียงการสำรวจเบื้องต้นยังไม่ครอบคลุมทุกจังหวัด อยู่ระหว่างรวบรวม คาดว่าจะมีมากกว่านี้

ส่วนการช่วยเหลือเด็กกำพร้านั้น มุ่งหวังให้เด็กอยู่กับครอบครับมากที่สุด ลำดับแรกจะเน้นให้ครอบครัวเครือญาติเป็นครอบครัวอุปถัมภ์ ดย.จะสนับสนุนเงินช่วยเหลือครอบครัวอุปถัมภ์ รายละ 2,000 บาทต่อคน กรณีเป็นครอบครัวยากจนก็มีเงินสงเคราะห์ครอบครัวยากจนสนับสนุนเพิ่ม รวมถึงเงินกองทุนคุ้มครองเด็ก จะปรับเบิกจ่ายให้ครอบคลุมการดูแลเด็กที่ได้รับผลกระทบเหล่านี้ สถานสงเคราะห์จะเป็นหนทางสุดท้ายในการพิจารณานำเด็กเข้าสู่การดูแล ซึ่งสถานสงเคราะห์ปัจจุบันยังรองรับได้ 1,935 คน ใน 22 แห่งทั่วประเทศ