สธ. ยกระดับมาตรการดูแลคนท้อง หลังติดเชื้อเสียชีวิตสูงกว่าคนปกติ 2 เท่า

ตั้งครรภ์

โควิดระลอก 3 ดุ ทำคนท้องติดเชื้อพุ่ง 1,993 ราย คร่าชีวิตคนท้อง 37 ราย-ทารก 20 ราย อัตราตายสูง 1.85% มากกว่าคนปกติ 2 เท่าครึ่ง สธ.เตรียมยกระดับมาตรการป้องกัน ปูพรมวัคซีนคนท้อง ดันนโยบาย WFH พร้อมจัดทีมรายเขตดูแลคนท้องติดเชื้อโควิด เร่งประสานเข้า รพ. หวังลดอาการหนัก

วันที่ 13 สิงหาคม 2564 นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เปิดเผยว่า ตั้งแต่เดือนธันวาคม 2563 จนถึงปัจจุบัน พบคนท้องติดโควิดมากถึง 1,993 ราย ส่วนใหญ่เชื้อกระจุกตัวอยู่ในกรุงเทพ ปริมณฑล และ 3 จังหวัดชายแดนใต้

โดยเฉพาะตั้งแต่ระลอก 3 เดือนเมษายน 2564 เป็นต้นไป จะมียอดติดเชื้อสูงสุดช่วงเดือนกรกฎาคมจำนวน 819 ราย และล่าสุดในเดือนสิงหาคม 421 ราย ส่งผลให้มีหญิงตั้งครรภ์เสียชีวิตทั้งหมด 37 ราย ไม่นับรวมวันนี้ (13 ส.ค.) ที่มีเสียชีวิตอีก 2 รายเพิ่มเติม

ดังนั้น จากนี้ไปควรยกระดับมาตรการการดูแลหญิงตั้งครรภ์มากขึ้น เนื่องจากเป็นกลุ่มที่มีความเสี่ยงเสียชีวิตสูง ไม่ว่าจะเป็นการฉีดวัคซีนป้องกันโควิดในกลุ่มดังกล่าว ซึ่งขอเน้นย้ำว่าจากการฉีดวัคซีนปลอดภัยสูง สามารถฉีดได้ตั้งแต่ตั้งครรภ์ 12 สัปดาห์ขึ้นไป หรือใน 3 เดือนแรก

ควบคู่กับยกระดับการป้องกัน ตั้งแต่มาตรการ DMHTT เช่น เว้นระยะห่าง สวมหน้ากากอนามัย ล้างมือ รวมไปถึงการผลักดันนโยบาย WFH ให้คนท้องทำงานที่บ้าน หากยังไม่ได้รับวัคซีนครบ 2 เข็ม ตั้งครรภ์ในไตรมาส 3 มีภาวะครรภ์เสี่ยงสูง หรืออยู่ในพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด 

นอกจากนี้ ยังได้ยกระดับการดูแลคนท้องติดเชื้อโควิดในส่วนของรัฐ อาทิ จัดให้มี multidisciplinary consultation ระดับเขต พร้อมยกระดับเครือข่ายระดับเขตในการดูแลหญิงตั้งครรภ์ที่ติดเชื้อ และผลักดันให้ได้รับการรักษาในโรงพยาบาลให้เร็วที่สุด เพื่อลดความเสี่ยงอาการรุนแรง

ขณะที่ พลอากาศโท นายแพทย์การุณ เก่งสกุล ประธานราชวิทยาลัยสูตินรีแพทย์แห่งประเทศไทย กล่าวว่า หญิงตั้งครรภ์หากติดเชื้อโควิดจะมีอาการเสี่ยงรุนแรงกว่าคนปกติทั่วไปสูงถึง 3 เท่า และมีอัตราการเสียชีวิตสูงกว่าผู้ป่วยปกติที่ติดโควิดมากกว่าถึง 2 เท่าครึ่ง โดยมีค่าเฉลี่ยที่ 1.85% จากคนปกติ 0.83%

โดยจาก 37 รายที่เสียชีวิต ซึ่งมีการเสียชีวิตก่อนคลอดสูงถึง 16 ราย ส่วนทารกเสียชีวิตรวม 20 คน หรือคิดเป็น 1.8% แบ่งเป็น คลอดออกมาแล้วเสียชีวิตทันที 11 ราย คิดเป็น 1% และเสียชีวิตหลังจากคลอดภายใน 7 วัน อีก 9 ราย คิดเป็น 0.8%

นายแพทย์การุณ ระบุว่า ส่วนใหญ่คนท้องที่ติดโควิดจะเสียชีวิตในช่วงไตรมาสที่ 4 ของการตั้งครรภ์ ซึ่งมักจะเป็นผู้ที่มีความเสี่ยงสูง อาทิ มีโรคอ้วน อายุมากกว่า 35 ปีขึ้นไป ความดันโลหิตสูง 

ส่วนอัตราที่ทำให้คนท้องป่วยแล้วมีความรุนแรงกว่าคนทั่วไป มาจากในช่วงการตั้งครรภ์ในช่วงเกือบ ๆ คลอด หรือมีอายุครรภ์ราว 8 เดือน จะมีน้ำคร่ำมากถึง 1-2 กิโลกรัม ซึ่งจะทำให้ดันมดลูกสูงขึ้น และมดลูกจะดันอวัยวะอื่น ๆ ให้สูงขึ้นรวมไปถึงปอด ทำให้มีภาวะปอดแฟบ ขยายตัวไม่สะดวก เมื่อเกิดอาการเกี่ยวกับระบบหายใจจึงมีความเสี่ยงสูงกว่าคนทั่วไปมาก

ซึ่งหญิงตั้งครรภ์ที่ติดโควิดเสียชีวิตจากอาการปอดอักเสบสูงถึง 35 คน จากทั้งหมด 37 คน ส่วนที่เหลือเป็นอาการน้ำคร่ำอุดกั้นปอด และรกลอกตัวก่อนกำหนด

ดังนั้น จึงอยากแนะนำให้หญิงตั้งครรภ์ 12 สัปดาห์ขึ้นไปเข้ารับการฉีดวัคซีนป้องกันโควิดโดยเร็วที่สุด เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันให้แก่ร่างกายก่อนไม่ว่าจะเป็นยี่ห้อใดก็ตาม

ส่วนกรณีที่มีหญิงตั้งครรภ์ 20 สัปดาห์ฉีดวัคซีนป้องกันโควิดและเมื่อคลอดออกมาปรากฎว่าทารกเสียชีวิต ในทางการแพทย์ลักษณะเช่นนี้สามารถเกิดขึ้นได้ 1% ตามธรรมชาติ ซึ่งอาจไม่ใช่การเกิดขึ้นเพราะวัคซีน 

โดยจากการศึกษาการฉีดวัคซีนในกลุ่มหญิงตั้งครรภ์ทั้งในประเทศและต่างประเทศยังไม่พบผลข้างเคียงรุนแรง ถือว่ามีความปลอดภัยสูง เมื่อเทียบกับความเสี่ยงในการติดโควิด ที่จะทำให้เกิดการคลอดก่อนกำหนดสูงถึงร้อยละ 18 ตลอดจนทารกมีน้ำหนักน้อยกว่าปกร้อยละ 16 ซึ่งสูงกว่าค่าเฉลี่ยปกติ 1-2 เท่าตัว