อัยการเปิดขั้นตอน “คดีครูจอมทรัพย์” ชี้ศาลฎีกาเชื่อมีขบวนการว่าจ้างรับสารภาพคดี

เมื่อวันที่ 19 พฤศจิกายน ดร.ธนกฤต วรธนัชชากุล อัยการจังหวัดประจำสำนักงานอัยการสูงสุด กล่าวอธิบายขั้นตอนเกี่ยวกับการรื้อฟื้นคดีอาญาในคดีนางจอมทรัพย์ เเสนเมืองโครต อดีตครูโรงเรียน จังหวัดสกลนครว่า พ.ร.บ.การรื้อฟื้นคดีอาญาขึ้นพิจารณาใหม่ พ.ศ. 2526 กำหนดหลักเกณฑ์ต่าง ๆในการขอให้รื้อฟื้นคดีอาญาขึ้นพิจารณาใหม่จะต้องเป็นคดีที่มีคำพิพากษาถึงที่สุดให้บุคคลต้องรับโทษทางอาญา มีกรณีที่จะทำได้3 กรณี ตามพ.ร.บ.การรื้อฟื้นคดีอาญาฯมาตรา 5 คือ 1. ศาลได้มีคำพิพากษาถึงที่สุดว่าคำเบิกความของพยานบุคคลที่ศาลใช้เป็นหลักในการพิพากษาคดีอันถึงที่สุดนั้นเป็นเท็จ หรือไม่ถูกต้องตรงกับความจริง 2. ศาลได้มีคำพิพากษาถึงที่สุดว่าพยานหลักฐานอื่นนอกจากพยานบุคคล เช่น พยานเอกสาร พยานวัตถุ ที่ศาลใช้เป็นหลักในการพิพากษาคดีอันถึงที่สุดนั้น เป็นพยานหลักฐานปลอมหรือเป็นเท็จ หรือไม่ถูกต้องตรงกับความจริง 3. มีพยานหลักฐานใหม่อันชัดแจ้งและสำคัญแก่คดีซึ่งถ้าได้นำมาสืบในคดีอันถึงที่สุด จะแสดงว่าบุคคลผู้ต้องรับโทษอาญาโดยคำพิพากษาถึงที่สุดนั้นไม่ได้กระทำความผิด

ดร.ธนกฤตกล่าวว่า สำหรับกรณีของนางจอมทรัพย์ ที่ได้ยื่นคำร้องขอให้รื้อฟื้นคดีอาญาขึ้นพิจารณาใหม่ โดยอ้างว่าตนไม่ได้เป็นผู้กระทำความผิด และมีพยานหลักฐานใหม่อันชัดแจ้งและสำคัญแก่คดี ซึ่งถ้าได้นำมาสืบในคดีอันถึงที่สุดจะแสดงว่าตนไม่ได้กระทำความผิด จึงขอให้ศาลพิพากษาใหม่ว่าตนไม่ได้กระทำความผิดตามพ.ร.บ.การรื้อฟื้นคดีอาญาญมาตรา 5 (3) และให้กระทรวงการคลังจ่ายค่าทดแทน และให้คืนตำแหน่งหน้าที่ราชการให้แก่ตน โดยตามพ.ร.บ.การรื้อฟื้นคดีอาญาฯมาตรา 20 การยื่นคำร้องขอให้รื้อฟื้นคดีอาญาขึ้นพิจารณาใหม่ ต้องยื่นภายใน 1 ปีนับแต่วันที่ปรากฏข้อเท็จจริงในเรื่องพยานหลักฐานปลอมหรือเป็นเท็จ หรือพยานหลักฐานใหม่ดังกล่าวข้างต้น หรือภายใน 10 ปี นับแต่วันที่คำพิพากษาในคดีเดิมถึงที่สุด แต่หากมีพฤติการณ์พิเศษศาลจะรับคำร้องที่ยื่นหลังจากพ้นกำหนดเวลาดังกล่าวไว้พิจารณาก็ได้
โดยในการยื่นคำร้องขอให้รื้อฟื้นคดีอาญาที่มีคำพิพากษาถึงที่สุดให้ลงโทษบุคคลใดขึ้นพิจารณาพิพากษาใหม่ ต้องยื่นต่อศาลชั้นต้นที่พิพากษาคดีนั้น เว้นแต่จะเป็นกรณีที่กฎหมายบัญญัติไว้เป็นอย่างอื่น และมีสิทธิที่จะยื่นขอรับค่าทดแทน หรือขอรับสิทธิที่บุคคลนั้นเสียไปอันเป็นผลโดยตรงจากคำพิพากษานั้นคืนได้ แต่ไม่รวมถึงสิทธิในทางทรัพย์สิน เมื่อศาลชั้นต้นรับคำร้องแล้วก็จะทำการไต่สวนคำร้องว่ามีมูลพอที่จะรื้อฟื้นคดีขึ้นพิจารณาพิพากษาใหม่หรือไม่ เว้นแต่ในกรณีที่อัยการเป็นผู้ร้อง ศาลจะไต่สวนคำร้องหรือไม่ก็ได้ และเมื่อศาลชั้นต้นไต่สวนคำร้องเสร็จก็จะส่งสำนวนการไต่สวนพร้อมทั้งความเห็นไปยังศาลอุทธรณ์ และเมื่อศาลอุทธรณ์ได้รับสำนวนการไต่สวนและความเห็นแล้ว ถ้าศาลอุทธรณ์เห็นว่าคำร้องมีมูลพอที่จะรื้อฟื้นคดีขึ้นพิจารณาพิพากษาใหม่ ศาลอุทธรณ์ก็จะสั่งรับคำร้องและมีคำสั่งให้ศาลชั้นต้นที่รับคำร้องดำเนินการพิจารณาคดีใหม่ต่อไป แต่ถ้าศาลอุทธรณ์เห็นว่าคำร้องนั้นไม่มีมูล ศาลอุทธรณ์ก็จะมีคำสั่งยกคำร้อง คำสั่งของศาลอุทธรณ์นี้ถือเป็นที่สุด

ดร.ธนกฤตกล่าวว่า โดยคดีของนางจอมทรัพย์นี้ นางจอมทรัพย์ได้ยื่นคำร้องขอให้รื้อฟื้นคดีอาญาขึ้นพิจารณาใหม่ต่อศาลจังหวัดนครพนม และเมื่อศาลจังหวัดนครพนมไต่สวนคำร้องเสร็จก็ได้ส่งสำนวนการไต่สวนพร้อมทั้งความเห็นไปยังศาลอุทธรณ์ภาค 4 โดยศาลจังหวัดนครพนมไต่สวนคำร้องแล้วเห็นว่าไม่ต้องด้วยหลักเกณฑ์ตามพ.ร.บ.การรื้อฟื้นคดีอาญาขึ้นพิจารณาใหม่ พ.ศ. 2526 มาตรา 5 (3) คือ ไม่มีพยานหลักฐานใหม่อันชัดแจ้งและสำคัญแก่คดี แต่ศาลอุทธรณ์ภาค 4 เห็นว่าการที่นายสับ วาปี มาเบิกความที่ศาลจังหวัดนครพนมในชั้นไต่สวนระหว่างไต่สวนคำร้องขอให้รื้อฟื้นคดีอาญาขึ้นพิจารณาใหม่ ว่าตนเป็นผู้กระทำความผิดที่แท้จริง โดยเป็นผู้ขับรถกระบะหมายเลขทะเบียน บค 56 มุกดาหาร ไปเฉี่ยวชนนายเหลือ พ่อบำรุง จนถึงแก่ความตาย และยินยอมชดใช้ค่าเสียหายแก่บุตรของผู้ตายแทนนางจอมทรัพย์ นั้น เป็นพยานหลักฐานใหม่อันชัดแจ้งและสำคัญแก่คดี ซึ่งถ้าได้นำมาสืบในคดีอันถึงที่สุดจะแสดงว่านางจอมทรัพย์ไม่ได้กระทำความผิดตามพ.ร.บ.การรื้อฟื้นคดีอาญาฯ มาตรา 5 (3) คำร้องจึงมีมูลพอที่จะรื้อฟื้นคดีขึ้นพิจารณาใหม่ได้ตาม พ.ร.บ.การรื้อฟื้นคดีอาญาฯมาตรา 10 วรรคหนึ่ง ศาลอุทธรณ์ภาค 4 จึงได้มีคำสั่งรับคำร้องขอให้รื้อฟื้นคดีอาญาขึ้นพิจารณาใหม่ของนางจอมทรัพย์ และสั่งให้ศาลจังหวัดนครพนมดำเนินการพิจารณาคดีที่รื้อฟื้นขึ้นพิจารณาใหม่ต่อไป โดยศาลจังหวัดนครพนมได้กำหนดนัดสืบพยานในคดีที่ขอรื้อฟื้นขึ้นพิจารณาใหม่ ระหว่างวันที่ 8-10 กุมภาพันธ์ 2560 ที่ผ่านมา

ดร.ธนกฤต อธิบายขั้นตอนอีกว่า ในการพิจารณาคดีใหม่ในชั้นการรื้อฟื้นคดี กรณีที่คำพิพากษาถึงที่สุดในคดีเดิมเป็นคำพิพากษาของศาลชั้นต้น ถ้าศาลชั้นต้นเห็นว่าบุคคลผู้ต้องรับโทษอาญาโดยคำพิพากษาถึงที่สุดในคดีเดิมได้กระทำความผิด ศาลก็จะมีคำพิพากษายกคำร้อง แต่ถ้าศาลชั้นต้นเห็นว่าบุคคลนั้นไม่ได้กระทำความผิด ศาลก็จะพิพากษายกคำพิพากษาเดิมและพิพากษาว่าบุคคลนั้นมิได้กระทำความผิด แต่ในกรณีที่คำพิพากษาถึงที่สุดในคดีเดิมเป็นคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์หรือศาลฎีกา ศาลชั้นต้นที่รับคำร้องจะพิจารณาคดีและทำความเห็นส่งสำนวนไปให้ศาลอุทธรณ์หรือศาลฎีกา แล้วแต่กรณี ให้เป็นผู้พิจารณาว่าจะพิพากษายกคำร้อง หรือยกคำพิพากษาเดิม และพิพากษาว่าบุคคลนั้นมิได้กระทำความผิดต่อไป ในกรณีของนางจอมทรัพย์ เนื่องจากคำพิพากษาถึงที่สุดในคดีเดิมเป็นคำพิพากษาของศาลฎีกา ไม่ใช่คำพิพากษาของศาลชั้นต้น ดังนั้น เมื่อศาลจังหวัดนครพนมซึ่งเป็นศาลชั้นต้นพิจารณาคดีเสร็จแล้วจะต้องทำความเห็นส่งสำนวนไปให้ศาลฎีกาเป็นผู้พิจารณาว่าจะพิพากษายกคำร้อง หรือยกคำพิพากษาเดิม และพิพากษาว่านางจอมทรัพย์ไม่ได้กระทำความผิด หรือไม่ ต่อมาในที่สุด วันที่ 17 พฤศจิกายน 2560 ศาลฎีกาได้มีคำสั่งยกคำร้องขอให้รื้อฟื้นคดีอาญาขึ้นพิจารณาใหม่ของนางจอมทรัพย์ โดย ศาลฎีกาเห็นว่า พยานที่นางจอมทรัพย์นำมาสืบเป็นพยานหลักฐานเดิมไม่ใช่พยานหลักฐานใหม่ พยานบุคคลที่มาเบิกความไม่น่าเชื่อถือ อีกทั้งคำให้การของนายสับ ที่ให้การรับสารภาพกับเจ้าหน้าที่ตำรวจว่าเป็นผู้กระทำความผิดก็ไม่น่าเชื่อถือ และในชั้นพิจารณาคดีที่รื้อฟื้นขึ้นพิจารณาใหม่ นางจอมทรัพย์ไม่ได้นำนายสับ มาเบิกความเพื่อยืนยันข้อเท็จจริงตามที่เคยเบิกความไว้ในชั้นไต่สวนคำร้องว่านายสับเป็นผู้กระทำความผิดที่แท้จริงด้วย

ดร.ธนกฤตกล่าวว่า นอกจากนี้ศาลฎีกายังเห็นว่า นางจอมทรัพย์ ผู้ร้อง อาจต้องการหลีกเลี่ยงไม่ให้นายสับถูกตรวจสอบโดยการถามค้านของพนักงานอัยการจังหวัดนครพนม ผู้คัดค้าน เพื่อค้นหาความจริงและพิสูจน์ต่อพยานอันอาจกระทบต่อรูปคดีของนางจอมทรัพย์ และพฤติการณ์แห่งคดีมีเหตุอันควรเชื่อได้ว่า มีขบวนการว่าจ้างให้นายสับรับสมอ้างในตอนแรกว่าเป็นคนขับรถกระบะไปเฉี่ยวชนรถจักรยานของนายเหลือผู้ตาย โดยเสนอค่าตอบแทนให้นายสับ 400,000 บาท ส่วนพยานของพนักงานอัยการจังหวัดนครพนม ผู้คัดค้าน ส่วนใหญ่เป็นพยานคนกลางที่ไม่มีส่วนได้เสียกับผู้ใดในคดี ไม่มีข้อระแวงสงสัยว่าจะกลั่นแกล้งเบิกความใส่ร้ายหรือเข้าข้างฝ่ายใด และได้เบิกความสอดคล้องต้องกันและสอดรับเป็นอย่างดี มีน้ำหนักน่าเชื่อถือ จึงไม่มีเหตุที่จะมาเบิกความกล่าวหาหรือใส่ร้ายผู้ใด ศาลฎีกาจึง เห็นว่านางจอมทรัพย์ ผู้ร้อง ไม่มีพยานหลักฐานใหม่อันชัดแจ้งและสำคัญแก่คดีที่แสดงว่าผู้ร้องไม่ได้กระทำความผิด พิพากษาให้ยกคำร้องขอให้รื้อฟื้นคดีอาญาขึ้นพิจารณาใหม่ของนางจอมทรัพย์ ผู้ร้อง

 

 

ที่มา มติชนออนไลน์