นักวิชาการ-เลขาฯสมาคมอบต.ชี้ ใช้เงินสะสมท้องถิ่นได้ แต่ต้องคุยกับสตง.ให้เคลียร์

วันที่ 19 พฤศจิกายน นายองอาจ เพ็งเอี่ยม กรรมการบริหารและรองเลขาธิการ สมาคมองค์การบริหารส่วนตำบล ( อบต .)แห่งประเทศไทย กล่าวว่า สมาคม อบต.เห็นด้วยกับแนวทางในการใช้เงินสะสมขององค์กรปกครองท้องถิ่น ( อปท) ทั่วประเทศกว่า 2 แสนล้านบาท ตามนโยบายของรัฐมนตรีว่ากระทรวงการคลัง ที่ผ่านมามีข้อเสนอดังกล่าวนานหลายเดือน แต่ล่าสุดยังไม่มีความคืบหน้า โดยกระทรวงมหาดไทยต้องผ่อนปรนหลักเกณฑ์บางประการในการใช้งบสะสม ซึ่งกำหนดให้ใช้ได้เพาะความจำเป็นเร่งด่วน แต่ต้องไม่มีปัญหากับสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน(สตง.) ใช้ดุลพินิจในการวินิจฉัย เพื่อให้ อปท.สามารถ นำงบมาใช้จ่ายได้ตามแนวทางที่รัฐบาลกำหนด และเป็นไปตามศักยภาพของ อปท แห่งนั้นโดยประเมินความต้องการของประชาชนเป็นหลัก ต้องไม่ซ้ำซ้อนกับโครงการเดิมที่รัฐบาลมีแนวทางกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านกลไกของกำนันผู้ใหญ่บ้าน ซึ่งนอกจาก อปท.จะนำงบสะสมมาใช้เพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเป็นหลักแล้ว ควรให้ความสนใจการพัฒนาและส่งเสริม เพื่อเพิ่มรายได้จากภาคการเกษตรในระดับฐานราก การพัฒนาด้านการศึกษา

นายองอาจ กล่าวว่า สำหรับแนวทางการกระตุ้นเศรษฐกิจตามอำนาจหน้าที่ของ อบต. ในการประชมใหญ่สมาคม อบต.ที่ จ.ภูเก็ตในวันที่ 21 พฤศจิกายนนี้ นายกสมาคมฯจะนำเสนอแนวทางการพัฒนาสินค้าโอทอปในทุกตำบลทั่วประเทศ เพื่อยกระดับสินค้าในการส่งออกไปตลาดต่างประเทศประเทศโดยเฉพาะในประเทศจีน ซึ่งแกนนำสมาคมได้เดินทางไปประสานกับงานกับผู้ประกอบการ โดยยืนยันว่าเป็นตลาดใหญ่มีกำลังซื้อค่อนข้างสูงและสินค้าโอทอปไทยสามารถแข่งขันกับประเทศเพื่อนบ้านได้ สำหรับแนวทางการพัฒนาได้เชิญตัวแทนหน่วยงานจากกระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงสาธารณสุข เพื่อให้คำแนะนำและแนวทางการปฏิบัติที่ชัดเจนให้กับแกนนำนายก อบต.ทั้ง 76 จังหวัด ทั้งนี้เบื้องต้นการส่งออกจะต้องมีแพคเกจที่มีมาตรฐาน มีการรับรองคุณภาพสินค้าที่เป็นอาหารจากคณะกรรมการอาหารและยา

นายวีระศักดิ์ เครือเทพ นักวิชาการด้านรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิคณะกรรมการการกระจายอำนาจให้องค์กรปกครองท้องถิ่น ( กกถ.) กล่าวว่า เงินสะสมของ อปท.ทั่วประเทศขณะนี้มีเพียง 1.5 แสนล้านเท่านั้น ซึ่งเดิมเมื่อมีปีงบประมาณ 2559 กระทรวงมหาดไทยเคยมีหนังสือซักซ้อมให้ อปท.นำงบสะสมมาใช้จ่ายได้เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ แต่ทำได้เพียงระยะสั้นเพียงปีเดียว โดยไม่มีผลผูกพันในปีงบประมาณ 2560 และ 2561 ขณะที่การใช้จ่ายจะมีปัญหาอุปสรรคจากการตีความของสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) เนื่องจากหลักเกณฑ์สำคัญในการใช้งบสะสมจะต้องใช้ในภาวะความจำเป็นเร่งด่วน และ สตง.จะตีความในกรอบความคิดแคบๆโดยไม่ได้มองถึงความจำเป็นในการใช้งบประมาณ

“ ดังนั้นหากรัฐบาลต้องการใช้งบก่อนนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ก็ควรหารือกับผู้บริหาร สตง.เพื่อหาข้อยุติเบื้องต้นไม่ให้กระทบกับแนวทางการปฏิบัติของ อปท.ทั่วประเทศ จาการถูกทักท้วงเรียกเงินคืน และหลายฝ่ายมี่ควรวิตกว่าจะมีปัญหาการทุจริตน่าจะไม่มีปัญหาในทางปฏิบัติ เนื่องจากการใช้งบสะสมจะต้องผ่านความเห็นชอบจากฝ่ายนิติบัญญัติ และ หน่วยงานที่มีหน้าที่กำกับดูแล แต่เงื่อนไขสำคัญคือเมื่อใช้งบสะสมแล้วเศรษฐกิจไม่ดีขึ้นจริงจะทำอย่างไร ส่วนกรณีที่มีข้อเสนอให้รัฐบาลกู้เงินสะสมจาก อปท.เพื่อนำไปใช้จ่ายในทางปฏิบัติไม่สามารถทำได้ เพราะเงินงบประมาณกระจายอยู่ใน อปท.ทั่วประเทศ นอกจากนั้นการเปิดโอกาสให้รัฐบาลกู้ได้คงไม่เหมาะสม เพราะในอนาคตอาจมีการต่อรองระหว่างรัฐบาลกับงบท้องถิ่นกรณีการโอนเงินภาษีรายได้หรือการอุดหนุนงบประมาณรายจ่ายประจำปีซึ่งปัจจุบันก็ค้อนข้างมีปัญหาพอสมควร “นายวีระศักดิ์ กล่าว

 

 

ที่มา มติชนออนไลน์