สธ. แนะโรงงานสุ่มตรวจโควิดใช้มาตการซีลพื้นที่ลดความเสี่ยง

คลัสเตอร์โรงงาน

สธ. แนะโรงงานอุตสาหกรรมสุ่มตรวจโควิด เข้มมาตรการ Bubble & Seal จัดสถานที่แยกส่วน เฝ้าระวัง ป้องกันแรงงานกลับไปแพร่เชื้อต่อ

วันที่ 18 สิงหาคม 2564 นายแพทย์ เฉวตสรร นามวาท ผู้อำนวยการกองควบคุมโรคและภัยสุขภาพในภาวะฉุกเฉิน กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เปิดเผยว่า สำหรับมาตรการตรวจหาเชื้อโควิด-19 แบบสุ่มในโรงงานหรือสถานประกอบ ด้วยชุดตรวจแอนติเจน เทสต์ คิท (ATK) โดยหลักการควบคุมโรคจะมีมาตรการบับเบิล แอนด์ ซีล (Bubble and seal) พยายามแยกส่วนกลุ่มคนทำงานที่มีโอกาสการติดเชื้อมาก ออกจากกลุ่มที่มีความเสี่ยงน้อย

ที่ผ่านมา มีแนวทางการดำเนินงานเพื่อการป้องกันมาต่อเนื่อง จากก่อนหน้านี้จะพบว่ามีการติดเชื้อจากโรงงานอยู่เป็นระยะๆ ถ้ามีการสอบสวนไปเจอผู้ทำงาน ที่เกี่ยวข้องอยู่ในความเสี่ยงการติดเชื้อ และโรงงานตรวจเจอผู้ติดเชื้อ จะต้องทำ Bubble & Seal อย่างเข้มข้น รวมไปถึงการจัดสถานที่แยกส่วนเพื่อลดสัมผัสและเฝ้าระวัง

สำหรับหลักการสุ่มตรวจหาเชื้อในโรงงาน หากมีแรงงานน้อยกว่า 100 คน จะสุ่มตรวจ 50 คน เช่น 75 คน จะตรวจ 50 คน  หากมี 100-150 คน จะสุ่มตรวจ 75 คน แต่หากมากกว่า 1,000 คน จะสุ่ม 150 คน ในทุก 1,000 คน ทั้งนี้ การสุ่มตรวจจะเป็นการลดค่าใช้จ่าย ส่วนคนในโรงงานที่ไม่ได้ตรวจเชื้อ ก็ให้ใช้มาตรการเฝ้าระวัง 14 วัน ที่ไม่ได้ตรววจทุกคนเพราะแม้ว่าจะตรวจวันนี้แล้วไม่พบเชื้อ พรุ่งนี้ก็จะอาจจะติดเชื้อก็ได้ ทั้งนี้ หากทุกคนใช้มาตรการป้องกันตัวเอง สวมหน้ากากอนามัย เว้นระยะห่าง ล้างมือ หากมีเชื้อแฝงอยู่ก็ไม่แพร่ต่อให้คนอื่น

ขณะเดียวกัน หากมีข้อสงสัยกรณีถ้าไม่ตรวจเชื้อโควิดทุกคน จะปลอดภัยหรือไม่นั้น ในแง่ของมาตรการ Bubble & Sealถ้ารู้ว่ามีความเสี่ยง จะต้องดำเนินการติดตามและเฝ้าระวังอาการป่วย โดยหลักสำคัญเมื่ออยู่ในระบบที่มีการป้องกันดี การดำเนินการต้องพยายามแยกพนักงานที่เริ่มมีอาการป่วยออกก่อน และก่อนจะดำเนินการสุ่มตรวจ ต้องเช็คคนที่มีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อ ได้แก่ คนที่มีโรคประจำตัว ผู้หญิงตั้งครรภ์ เป็นอันดับแรก โดยการดำเนินการสามารถปรึกษาสาธารณสุขในพื้นที่ได้

โดยมาตรการเหล่านี้จะเป็นตัวช่วยให้โรงงานยังสามารถทำงานต่อไปได้ด้วยความปลอดภัย และเพื่อป้องกันการต้องปิดกิจการ เพราะเป็นสาเหตุที่ทำให้แรงงานเดินทางกลับบ้าน นำเชื้อไปแพร่ให้คนอื่น และกรมควบคุมโรคอยู่ระหว่างปรึกษากับผู้เชี่ยวชาญเพื่อหาความชัดเจนต่อไป