รพ.จุฬาลงกรณ์ เผยประสิทธิภาพของการฉีดวัคซีนไฟเซอร์ในเด็ก

รพ.จุฬาลงกรณ์ เผย ประสิทธิภาพในการฉีดวัคซีนไฟเซอร์ในเด็ก
ภาพจาก pixabay

รพ.จุฬาลงกรณ์เผยประสิทธิภาพของการฉีดวัคซีนไฟเซอร์ในเด็ก ระหว่างอายุ 12 – 18 ปี

วันที่ 25 สิงหาคม 2564 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ภายหลังวัคซีนไฟเซอร์/ไบออนเทค ได้รับอนุมัติให้ใช้เต็มรูปแบบจาก FDA หรือ องค์การอาหารและยาสหรัฐ สำหรับผู้มีอายุ 16 ปีขึ้นไป ซึ่งรวมถึงการใช้ในผู้ที่มีอายุ 12-15 ปี ในกรณีฉุกเฉิน

ล่าสุด โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย อ้างอิงข้อมูลจาก ศ.พญ.ธนินี สหกิจรุ่งเรือง คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เกี่ยวกับผลการศึกษาประสิทธิภาพและความปลอดภัยการฉีดวัคซีนไฟเซอร์ในเด็ก ดังนี้

ประสิทธิภาพของวัคซีนไฟเซอร์ในเด็ก

  1. วัคซีนไฟเซอร์มีประสิทธิภาพ 100% ในป้องกันโรคโควิด-19 ที่แสดงอาการ เมื่อเปรียบเทียบกับประสิทธิภาพการป้องกันในผู้ใหญ่
  2. วัคซีนไฟเซอร์สามารถกระตุ้นภูมิคุ้มกันในเด็ก ระดับใกล้เคียงกับผู้ใหญ่อายุ 16 – 25 ปี โดยมีระดับภูมิคุ้มกันอยู่ในเกณฑ์ดีถึงดีมาก

ผลข้างเคียงของวัคซีนไฟเซอร์ในเด็ก

  1. ผลข้างเคียงที่พบบ่อย เช่น เจ็บบริเวณตำแหน่งที่ฉีด อ่อนเพลีย ปวดศีรษะ
  2. อาการข้างเคียงเฉพาะที่ที่เกิดขึ้นเล็กน้อย เช่น บวม แดงในตำแหน่งที่ฉีด
  3. อาการข้างเคียงทั้งระบบ เช่น ไข้ หนาวสั่น คลื่นไส้ อาเจียน ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ ปวดข้อ
  4. อาการข้างเคียง กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบและหรือเยื่อหุ้มหัวใจอักเสบ เป็นอาการข้างเคียงที่พบรายงานในอัตราต่ำมาก

คำแนะนำจากแพทย์

จากภาพรวมข้อมูลด้านประสิทธิภาพของวัคซีนไฟเซอร์ ที่มีการฉีดในเด็กพบว่า มีผลดีมากกว่าผลข้างเคียง ซึ่งพบได้ในอัตราที่ต่ำ ปัจจุบันในประเทศไทยแนะนำให้ฉีดในผู้ป่วยเด็กที่มีโรคประจำตัวหรือมีความเสี่ยงต่อการเป็นโรครุนแรง ซึ่งขณะนี้มีเพียงวัคซีนชนิด mRNA เช่น วัคซีนไฟเซอร์ ที่มีข้อแนะนำให้สามารถฉีดในเด็กได้ ส่วนวัคซีนชนิดอื่น ๆ เช่น วัคซีนชนิดเชื้อตาย หรือชนิดไวรัลเวกเตอร์ ยังไม่มีคำแนะนำการฉีดในเด็ก