กรุงเทพฯ เปิดชื่อจุดเสี่ยง-จุดเฝ้าระวังน้ำท่วม เร่งเพิ่มประสิทธิภาพระบายน้ำ

กทม. เดินหน้าแก้ปัญหาการระบายน้ำ เปิด 15 จุดเสี่ยง แล้วเสร็จในปี 64
ภาพจากเฟซบุ๊ก กรุงเทพมหานคร โดยสำนักงานประชาสัมพันธ์

กทม. เร่งเดินหน้าโครงการเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำแก้ปัญหาจุดเสี่ยงและจุดเฝ้าระวัง ให้แล้วเสร็จภายในปี 64

วันที่ 3 กันยายน 2564 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เฟซบุ๊ก กรุงเทพมหานคร โดยสำนักงานประชาสัมพันธ์ รายงานว่า พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เปิดเผยถึงความคืบหน้าโครงการเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำในพื้นที่กรุงเทพมหานครที่จะแล้วเสร็จภายในปี 2564 เป็นการเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำในพื้นที่จุดเสี่ยง จำนวน 4 จุด 3 โครงการ ได้แก่

  • จุดเสี่ยง 1 ถนนราชวิถี บริเวณหน้าราชภัฏสวนดุสิตและเชิงสะพานกรุงธน งานก่อสร้างบ่อสูบน้ำสังคโลก ตอนลงแม่น้ำเจ้าพระยา ขณะนี้ผลงาน 12% ประสิทธิภาพการระบายน้ำก่อนดำเนินโครงการ 0.25 ลบ.ม./วินาที หลังดำเนินโครงการประสิทธิภาพเพิ่มเป็น 4.00 ลบม./วินาที กำหนดแล้วเสร็จ ธ.ค. 64 ปัจจุบันอยู่ระหว่างหล่อบ่อรับ บ่อดันท่อระบายน้ำ
  • จุดเสี่ยง 2 ถนนจันทน์ ช่วงจากซอยบำเพ็ญกุศล ถึงที่ทำการไปรษณีย์ยานนาวา และ
  • จุดเสี่ยง 3 ถนนสาธุประดิษฐ์ บริเวณแยกตัดถนนจันทน์ โครงการก่อสร้างระบบระบายน้ำเพื่อแก้ไขปัญหาน้ำท่วมถนนจันทน์ ขณะนี้ผลงาน 75% ประสิทธิภาพการระบายน้ำก่อนดำเนินโครงการ 0.50 ลบ.ม./วินาที หลังดำเนินโครงการเพิ่มเป็น 4.00 ลบ.ม./วินาที กำหนดแล้วเสร็จ ต.ค. 64 ปัจจุบันอยู่ระหว่างติดตั้งงานระบบเครื่องกลและระบบไฟฟ้า
  • จุดเสี่ยง 4 ถนนบางขุนเทียน – ชายทะเล ช่วงจากถนนพระรามที่ 2 ถึงคลองสะแกงาม งานก่อสร้างบ่อสูบน้ำถนนบางขุนเทียนชายทะเล ตอนลงคลองสะแกงาม ผลงาน 95% ประสิทธิภาพการระบายน้ำก่อนดำเนินโครงการ 1.50 ลบ.ม./วินาที หลังดำเนินโครงการเพิ่มเป็น 5.50 ลบ.ม./วินาที ปัจจุบันอยู่ระหว่างปักเสาพาดสายไฟฟ้าเพื่อติดตั้งมิเตอร์ไฟฟ้า

ในส่วนของการเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำในพื้นที่จุดเฝ้าระวัง ที่กำหนดแล้วเสร็จในปี 2564 จำนวน 11 จุด 14 โครงการ ได้แก่

  • จุด 1 ถนนรัชดาภิเษก จากแยกรัชโยธิน ถึงซอยอาภาภิรมย์ งานก่อสร้างบ่อหน่วงน้ำใต้ดิน บริเวณสวนสาธารณะใต้สะพานข้ามแยกถนนรัชดาภิเษกตัดถนนวิภาวดี ผลงาน 85% ประสิทธิภาพ 10,000 ลบ.ม. ปัจจุบันงานโครงสร้างเสร็จแล้วอยู่ระหว่างดำเนินการติดตั้งระบบไฟฟ้า เครื่องกล และขออนุมัติแก้ไขแบบฯ
  • จุด 2 ถนนแจ้งวัฒนะ บริเวณหน้ามหาวิทยาลัยราชภัฏพระนคร งานก่อสร้างบ่อสูบน้ำถนนพหลโยธินฝั่งขาเข้าและขาออก ตอนคลองบางบัว (ด้านทิศเหนือ) ผลงาน 95% ก่อนดำเนินการ 4.00 ลบ.ม./วินาที หลังดำเนินการ 5.00 ลบ.ม./วินาที ปัจจุบันอยู่ระหว่างประสานการไฟฟ้าติดตั้งมิเตอร์ไฟฟ้า
  • จุด 3 ถนนประชาสงเคราะห์ จากวงเวียนหอนาฬิกา ถึงถนนประชาราษฎร์บำเพ็ญ และ
  • จุด 4 ถนนประชาสุขตลอดสาย โครงการปรับปรุงเพิ่มประสิทธิภาพสถานีสูบน้ำคลองห้วยขวาง ผลงาน 84% ก่อนดำเนินการ 8.00 ลบ.ม./วินาที หลังดำเนินการ 10.00 ลบ.ม./วินาที กำหนดแล้วเสร็จ ต.ค. 64 ปัจจุบันอยู่ระหว่างติดตั้งเครื่องเก็บขยะอัตโนมัติ
  • จุด 5 ถนนพหลโยธิน จากคลองสามเสน ถึงคลองบางซื่อ งานปรับปรุงแก้มลิงบึงพิบูลย์ ผลงาน 90% ประสิทธิภาพ 48,000 ลบ.ม. กำหนดแล้วเสร็จ ต.ค. 64 ปัจจุบันอยู่ระหว่างก่อสร้างเขื่อน ค.ส.ล. ในบึงพิบูลย์วัฒนา
  • จุด 6 ถนนสุขุมวิท จากแยกอโศก ถึงสุขุมวิท 71 จำนวน 4 โครงการ คือ
  1. งานปรับปรุงสถานีสูบน้ำข้าง ม.ศ.ว. ตอนคลองแสนแสบ ผลงาน 80% ก่อนดำเนินการ 2.50 ลบ.ม./วินาที หลังดำเนินการ 6.00 ลบ.ม./วินาที ปัจจุบันโครงสร้างเสร็จแล้วอยู่ระหว่างติดตั้งงานเครื่องกลไฟฟ้า
  2. งานปรับปรุงสถานีสูบน้ำ ปลายคลองสวัสดี ตอนคลองแสนแสบ ผลงาน 70% ก่อนดำเนินการ 2.00 ลบ.ม./วินาที หลังดำเนินการ 6.00 ลบ.ม./วินาที กำหนดแล้วเสร็จ ต.ค. 64 ปัจจุบันอยู่ระหว่างดำเนินการงานโครงสร้างสถานีสูบน้ำ (ผนังสถานี)
  3. งานปรับปรุงสถานีสูบน้ำปลายคลองพร้อมศรี 2 ตอนคลองแสนแสบ ผลงาน 98% ก่อนดำเนินการ 1.80 ลบ.ม./วินาที หลังดำเนินการ 5.00 ลบ.ม./วินาที ปัจจุบันอยู่ระหว่างให้การไฟฟ้าเข้าตรวจสอบเพื่อขยายเขตพร้อมจ่ายไฟฟ้าให้สถานี
  4. โครงการก่อสร้างแก้มลิงสวนเบญจกิตติ ผลงาน 98% ก่อนดำเนินการ 137,000 ลบ.ม. หลังดำเนินการ 340,000 ลบ.ม. อยู่ระหว่างรอ กฟน. ติดตั้งมิเตอร์ไฟฟ้าสถานีสูบน้ำ
  • จุด 7 ถนนเซนต์หลุยส์ 3 บริเวณแยกถนนจันทน์ โครงการก่อสร้างระบบระบายน้ำเพื่อแก้ไขปัญหาน้ำท่วมถนนจันทน์ ผลงาน 75% ก่อนดำเนินการ 0.50 ลบ.ม./วินาที หลังดำเนินการ 4.00 ลบ.ม./วินาที กำหนดแล้วเสร็จ ต.ค. 64 ปัจจุบันอยู่ระหว่างติดตั้งงานระบบเครื่องกลและระบบไฟฟ้า)
  • จุด 8 ถนนรามคําแหง ช่วงหน้ามหาวิทยาลัยรามคำแหง จำนวน 3 โครงการ คือ
  1. โครงการปรับปรุงเพิ่มประสิทธิภาพสถานีสูบน้ำ หน้า สน.หัวหมาก ผลงาน 96% ก่อนดำเนินการ 4.40 ลบ.ม./วินาที หลังดำเนินการ 7.00 ลบ.ม./วินาที กำหนดแล้วเสร็จ ต.ค. 64 ปัจจุบันอยู่ระหว่างดำเนินการงานโครงสร้างหลังคาคลุมเครื่องกำเนิดไฟฟ้า
  2. โครงการปรับปรุงเพิ่มประสิทธิภาพสถานีสูบน้ำคลองจิก ผลงาน 85% ก่อนดำเนินการ 4.00 ลบม./วินาที หลังดำเนินการ 7.00 ลบม./วินาที กำหนดแล้วเสร็จ ต.ค. 64 ปัจจุบันอยู่ระหว่างดำเนินการงานเดินสายไฟ ติดตั้งอุปกรณ์ไฟฟ้าและค่าบริการขอใช้ไฟฟ้า (ให้การไฟฟ้าดําเนินการ)
  3. โครงการปรับปรุงเพิ่มประสิทธิภาพสถานีสูบน้ำคลองจิต ผลงาน 87% ก่อนดำเนินการ 3.85 ลบม./วินาที หลังดำเนินการ 7.00 ลบม./วินาที กำหนดแล้วเสร็จ ต.ค. 64 ปัจจุบันอยู่ระหว่างดำเนินการงานเดินสายไฟ ติดตั้งอุปกรณ์ไฟฟ้าและค่าบริการขอใช้ไฟฟ้า (ให้การไฟฟ้าดำเนินการ)
  • จุด 9 ถนนศรีนครินทร์ จากแยกลำสาลี ถึงถนนกรุงเทพกรีฑา งานก่อสร้างบ่อหน่วงน้ำใต้ดินในที่ดินสาธารณะ บริเวณสะพานต่างระดับถนนศรีนครินทร์ กับ ถนนกรุงเทพกรีฑา ผลงาน 80% ประสิทธิภาพ 10,000 ลบม. กำหนดแล้วเสร็จ ต.ค. 64 ปัจจุบันอยู่ระหว่างติดตั้งเครื่องสูบน้ำที่บ่อหน่วงน้ำเพื่อสูบน้ำจากบ่อหน่วงขึ้นไปหาบ่อสูบน้ำถนนกรุงเทพกรีฑาและงานโครงสร้างบ่อสูบน้ำฝั่งถนนกรุงเทพกรีฑา เพื่อสูบน้ำลงคลองหัวหมาก
  • จุด 10 ถนนสุวินทวงศ์ จากหน้าการไฟฟ้ามีนบุรี ถึงแยกราษฎร์อุทิศ โครงการก่อสร้างระบบระบายน้ำเพื่อแก้ไขปัญหาน้ำท่วมถนนสุวินทวงศ์ ผลงาน 100% (7 บ่อสูบ) ก่อนดำเนินการ 3.00 ลบ.ม./วินาที หลังดำเนินการ 17.00 ลบ.ม./วินาที ขณะนี้ดำเนินการเสร็จแล้ว
  • จุด 11 ถนนเอกชัยบริเวณปากซอยเอกชัย 56 (หน้าบริษัทเครื่องดื่มกระทิงแดง) งานก่อสร้างบ่อสูบน้ำถนนเอกชัย ตอนลงคลองราชมนตรี ผลงาน 100% ก่อนดำเนินการ 0.62 ลบ.ม./วินาที หลังดำเนินการ 2.50 ลบ.ม./วินาที

สำหรับปี 64 ในพื้นที่กรุงเทพฯ มีจุดเสี่ยงน้ำท่วมและจุดเฝ้าระวังน้ำท่วมในถนนสายหลักลดลงจากปี 63 ซึ่งปีนี้จุดเสี่ยงน้ำท่วมถนนสายหลักมี จำนวน 12 จุด (พื้นที่ 8 เขต) และจุดเฝ้าระวังน้ำท่วมถนนสายหลัก จำนวน 47 จุด (พื้นที่ 23 เขต)

ทั้งนี้ ในการประชุมหัวหน้าหน่วยงานของกรุงเทพมหานคร เมื่อวันที่ 2 ก.ย ที่ผ่านมา ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครได้กำชับให้สำนักการระบายน้ำ สำนักงานเขต และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการเฝ้าระวังและแก้ไขปัญหาน้ำท่วมในพื้นที่อย่าได้ประมาท เนื่องจากในช่วงเดือนนี้ปริมาณน้ำฝนค่อนข้างมาก ประกอบกับมีปัจจัยน้ำทะเลหนุนสูง รวมไปถึงการระบายน้ำลงแม่น้ำลงคู คลอง และแม่น้ำเจ้าพระยาจะทำได้ยาก

จึงขอให้ทุกหน่วยงานดำเนินการอย่างเต็มที่เพื่อช่วยลดผลกระทบและความเดือดร้อนที่ส่งผลกระทบต่อประชาชน นอกจากนี้ยังได้มอบหมายให้สำนักการระบายน้ำประสานกับสำนักงานเขตตรวจสอบจุดเสี่ยงน้ำท่วมและจุดเฝ้าระวังน้ำท่วมในพื้นที่ 50 เขตเพิ่มเติมเพื่อให้มีข้อมูลที่เป็นปัจจุบันมากที่สุด อีกทั้งให้สำนักงานเขตและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจัดเจ้าหน้าที่คอยอำนวยความสะดวกและช่วยเหลือประชาชนในจุดที่เป็นจุดอ่อน

เช่นบริเวณแบริ่ง-ลาซาล จตุจักร ดินแดง และบางขุนเทียน ซึ่งช่วงที่ผ่านมามีฝนตกหนักเกิดน้ำท่วมขังส่งผลกระทบต่อประชาชนบริเวณนั้นค่อนข้างมาก จึงจำเป็นที่จะต้องมีการจัดเจ้าหน้าที่ประจำจุดเร่งระบายน้ำ อำนวยความสะดวกและช่วยเหลือประชาชนให้ได้รับผลกระทบน้อยที่สุด